ประวัติต้นพระศรีมหาโพธิ์
ณ พุทธคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
นำเสนอโดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕,น.ธ.เอก,ศษ.บ. วัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

              องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำลีลาพัฒน์หรือแม่น้ำฟัลดูร์ ในรัฐพิหารของอินเดีย ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา

 
ภาพต้นโพธิ์ต้นปัจจุบัน สถานที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ ด้านขวาเป็นเจดีย์พุทธคยา
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙

              พุทธคยา ถือเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยมีต้นพระศรีมหาโพธิ์รวมทั้งหมด ๔ ต้น และทั้ง ๔ ต้นนี้ได้เจริญเติบโตทดแทนกันมาเรื่อยๆ และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นับเป็นอนุสรณ์สถานที่มีคุณค่า ของชาวพุทธและมวลมนุษยชาติทั่วโลก


ภาพสถานที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ ด้านซ้ายเป็นเจดีย์พุทธคยา ด้านขวาเป็นต้นโพธิ์ต้นปัจจุบัน
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙

              ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่หนึ่ง เป็นต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ได้รับการถวายหญ้า ๘ กำ จากโสตถิยะพราหมณ์เพื่อปูเป็นที่ประทับเมื่อใกล้รุ่งของวันเพ็ญ เดือน ๖ จึงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว มีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มาก ซึ่งทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สนพระทัยในความสุขส่วนพระองค์เหมือนเช่นเคย เป็นเหตุให้เหล่านางสนม ต่างพากันโกรธแค้นต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระมเหสีองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้สั่งสาวใช้ให้นำยาพิษ และน้ำร้อนไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตายในที่สุด การตายของต้นพระศรีมหาโพธิ์ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเสียพระทัยมาก ทรงรับสั่งให้ใช้น้ำนมโค ๑๐๐ หม้อ ไปรดที่บริเวณรากของต้นโพธิ์ และทรงนอนคว่ำหน้าลง กับพื้นเหมือนการกราบไหว้ของพระทิเบต พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า ถ้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่แตกหน่อ จะไม่ลุกขึ้น แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็แตกหน่อขึ้นมาใหม่ พระองค์จึงสั่งให้ก่อกำแพงล้อมรอบ เพื่อป้องกัน อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับต้นโพธิ์อีก



             
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สอง ถือเป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นแรก และการที่พระเจ้าอโศกได้เผยแผ่ พระพุทธศาสนา จึงมีการนำต้นโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ เช่น พระโสณะเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมา ยังดินแดนสุวรรณภูมิ และพระมหินทเถระเดินทางไปยังศรีลังกา โดยพระภิกษุเหล่านี้ได้นำต้นโพธิ์ไปด้วย

             
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองถูกตัดอีกครั้ง ในสมัยพระเจ้าสาสังการ ซึ่งครองเมืองเบงกอล พระเจ้า สาสังการเกิดแข็งข้อต่อพระเจ้าปรณวรมา จึงรับสั่งให้ตัดต้นและขุดรากต้นโพธิ์ใช้ฟางอ้อยสุม ใช้น้ำมันราด และเผาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีอายุราว ๘๗๑-๘๙๑ ปี เจ็ดวันหลังจากนั้น พระเจ้าสาสังการทรงอาเจียนเป็น พระโลหิต และสิ้นชีพตักษัยที่พุทธคยา ซึ่งพระเจ้าปรณวรมาเสด็จมาพอดี จึงตีทัพของเบงกอลแตกพ่ายไป และทรงให้ชาวบ้านรีดนมโค ๑,๐๐๐ ตัว เอาน้ำนมที่ได้เทราดบริเวณต้นโพธิ์ที่ถูกเผา พระเจ้าปรณวรมา ทรงนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็แตกหน่อขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง


พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
ถ่ายที่ใกล้เจดีย์พุทธคยา เจดีย์พุทธคยา ซึ่งสูงตระหง่าน ใกล้กับต้นโพธิ์ต้นปัจจุบัน
ที่ ต.พุทธคยา อ.คยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙

ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙

              ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สาม ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ท่านเซอร์คันนิ่งแฮมได้เดินทางไปที่พุทธคยาเป็น ครั้งที่สอง พบว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรุดโทรมมาก ประชาชนชาวฮินดูในบริเวณนั้นได้ตัดกิ่งก้านไปทำเชื้อเพลิง และในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ล้มลงไปทางทิศตะวันตก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามมีอายุครบ ประมาณ ๑๒๕๘-๑๒๗๘ ปี


สภาพแม่น้ำเนรัญชราในฤดูแล้ง ที่มองเห็นระยะไกล นั่นคือเจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ถ่ายเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙

              ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ เป็นต้นที่ยังคงอยู่ที่พุทธคยาในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสองหน่อที่แตก ขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามที่ล้ม โดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮมได้ขุดหน่อที่สมบูรณ์ขึ้นมาปลูก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ปลูกไว้ห่างจากพื้นที่เดิมที่เป็นชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชราไปประมาณ ๑๐๐ เมตร


พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
สภาพแม่น้ำเนรัญชราในฤดูแล้ง ด้านหลังเป็นฝั่งที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ถ่ายเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙
เมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙



ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ข้อมูลระดับ ประถมศึกษา
กลุ่มสาระ ศาสนา ศิลธรรม จริยธรรม