"ประเพณีห่อข้าวต้มลูกโยน(แทงต้ม)วัดท่าไทร กว่า 32 ปีแห่งการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพุทธ ภูมิปัญญาไทย"
เรียบเรียงและนำเสนอโดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, ศษ.บ.,MPA (นิด้า) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558


 

          วัดท่าไทร ร่วมกับเทศบาลตำบลท่าทองใหม่ อบต.ท่าทองใหม่ และชาวบ้านตำบลท่าทองใหม่ และประชาชาวจังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง ได้จัดให้มีการห่อข้าวต้มลูกโยน (ภาษาถิ่นเรียก แทงต้ม) เพื่อแจกจ่ายกันนำไปรับประทาน เนื่องในเทศกาล "งานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าแข่งเรือยาวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี" เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของไทย เพื่อสืบสานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเพื่อสืบสานประเพณีห่อข้าวต้มลูกโยนของชาวพุทธให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๗ เป็นต้นมา อบจ.สุราษฎร์ธานี ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้อีกด้วย (เขียนโครงการเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนประเพณี จาก อบจ.สุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลท่าทองใหม่ และ อบต.ท่าทองใหม่ โดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร)

Image         
 ทุกปีจะมีชาวบ้านมากมายจากหลายอำเภอทั้งใกล้และไกล ทั้งในจังหวัด สุราษฎร์ธานีและต่างจังหวัด ได้ร่วมกันทำขนมต้ม ในวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ในเทศกาลวันออกพรรษา) ของทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ตั้งแต่เช้ามืด จนกระทั่งดึก ชาวบ้านจะพร้อมใจกันเดินทางมายังวัดท่าไทร เพื่อร่วมกันห่อข้าวต้มลูกโยนที่วัดท่าไทร ด้วยความสมัครสมานสามัคคีกัน เพื่อจะได้ใช้ทำบุญตักบาตร และแจกจ่ายประชาชนที่มาร่วมงานบุญชักพระ-ทอดผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ซึ่งจะมีขึ้นในเช้าตรู่ของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) โดยคณะพุทธบริษัทจะนำขนมต้มไปไว้ในรถพนมพระ และแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาทำบุญและร่วมงานประเพณีชักพระของสุราษฎร์ธานี

         
 จิตใจที่เป็นบุญ กระตุ้นย้ำเตือนจิตใจตัวเองให้ทุกคนไปร่วมกิจกรรมด้วยศรัทธา "ทำบุญให้เป็นสุข สนุกขณะทำบุญ" บางท่านก็บริจาคสิ่งของ กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา และกำลังปากประกาศเชิญชวน บางท่านก็บริจาคมะพร้าว ข้าวเหนียว น้ำตาล ถั่ว ใบกระพ้อ แก๊สหุงต้ม ไม้ฟืน ฯลฯ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวต้มลูกโยน และให้งานประเพณีขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะงานของวัดวาศาสนาทุกคนล้วนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อเป็นการย้ำเตือนและสั่งสอนลูกหลานด้วยการกระทำ.. "ตัวอย่างที่ดีนั้น มีค่ามากกว่าคำสอน" และท่านที่เคยไปร่วมงานบุญแล้ว ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เมื่อถึงเทศกาลดังกล่าวแล้ว พวกเรามีสัญญาใจที่จะมาร่วมงานบุญ และจะได้มาร่วมงานเสมอ" จึงขอเชิญไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและสืบสานงานบุญประเพณีด้วยกันได้เลย แล้วจะได้สัมผัสบรรยากาศของงานบุญประเพณีด้วยตัวเราเอง


         
 สำหรับการทำขนมต้มของวัดท่าไทร ได้ริเริ่มจัดให้มีมาตั้งแต่สมัยอดีตเจ้าอาวาส คาดว่าน่าจะจัดให้มีขึ้นในปีเดียวกันกับที่จัดให้มีงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา แต่ไม่ปรากฏว่าเป็น พ.ศ.อะไร แต่ได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง และที่สำคัญ พระเทพพิพัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดท่าไทรรูปปัจจุบัน ได้นำพุทธบริษัทจัดทำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละปีจะใช้ข้าวสาร(ข้าวเหนียว) จำนวนประมาณ ๖๔-๙๙ ถัง ตามโอกาสที่เห็นสมควร ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจของพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธามาร่วมงาน เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย โดยเจริญรอยตามแบบอย่างชาวพุทธครั้งในอดีต

         
  ตามพุทธประวัติที่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาจนครบไตรมาสแล้ว เมื่อถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประตูเมืองสังกัสสะ ประชาชนพากันไปต้อนรับพระพุทธองค์และทำบุญตักบาตรอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีชาวพุทธส่วนหนึ่งได้คิดค้นการห่อข้าวต้มลูกโยน เพื่อให้สามารถใส่บาตรในระยะไกลได้อย่างแม่นยำ แล้วได้นำข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญใส่บาตรในวันเทโวโรหณะ ฉลองการเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้าด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน

หมายเหตุ-
         
  เมืองสังกัสสะ เรียกตามสำเนียงสันสกฤตว่า สังกัศยะ ปัจจุบันเรียกว่า สังกิสสะ อยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ ๙๐ ไมล์ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองลักเนาว์กับเมืองอัคระ และห่างจากเมืองกานปูร์ ประมาณ ๘๗ ไมล์ เป็นหมู่บ้านสังกิสสะ ใกล้แม่น้ำกาลี ในเขตของอำเภอฟาร์รุกฮะบาด รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย


ข้าวสารเหนียวที่ใช้เป็นวัตถุดิบทำข้าวต้มลูกโยนในแต่ละปี

          การใช้ข้าวสารเหนียวเขี้ยวงู เป็นวัตถุดิบหลัก ๆ ของการทำข้าวต้มลูกโยนที่วัดท่าไทร โดยนับจาก พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา สถิติการใช้ข้าวสารเหนียว ดังต่อไปนี้
         
 พ.ศ.๒๕๕๒ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๒ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ
         
 พ.ศ.๒๕๕๓ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๓ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ
         
 พ.ศ.๒๕๕๔ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๔ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ
         
 พ.ศ.๒๕๕๕ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๕ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ
         
 พ.ศ.๒๕๕๖ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๖ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ
         
 พ.ศ.๒๕๕๗ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๗ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ
         
 พ.ศ.๒๕๕๘ ใช้ข้าวสารเหนียว ๘๘ ถัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ

ขั้นตอนการทำ
         
 ๑.เริ่มต้นด้วยการเตรียมใบกะพ้อ มาเตรียมล่วงหน้าไว้ก่อนประมาณ ๒-๓ วัน แล้วเอาคลี่ออก รีดให้พอเรียบ ตัดแต่งให้เสมอกัน แล้วม้วนไว้หรือห่อขึ้นรูปสามเหลี่ยมไว้
         
 ๒.แช่ข้าวสารเหนียวเขี้ยวงูไว้ประมาณ ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ข้าวเหนียวดำ อาจจะต้องใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง
         
 ๓.คั้นกะทิ จากมะพร้าวที่ขูดใหม่ ๆ แล้วคั้นให้ได้น้ำกะทิสด สะอาด
         
 ๔.ผัดข้าวเหนียวกับน้ำกะทิสด เติมเกลือลงไปพอประมาณ ผัดจนน้ำงวด เติมน้ำตาล ให้ออกรสหวาน มัน เค็ม เติมถั่วดำหรือถั่วขาวที่ต้มสุก ผัดให้แห้งพอหยิบข้าวเหนียวได้ ยกลงพักไว้ให้เย็น
         
 ๕.ห่อด้วยใบกะพ้อที่เตรียมไว้เป็นรูปกรวยสามเหลี่ยมยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว
         
 ๖.นำไปนึ่งให้สุก โดยใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที แล้วนำมารับประทาน และแจกจ่ายได้


***************************

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์วัดท่าไทร และที่
http://www.facebook.com/watthasai

ภาพส่วนหนึ่งของผู้มาร่วมกิจกรรม เมื่อหลายปีที่แล้ว
ถ่ายโดย "พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล" เว็บมาสเตอร์

 
ป้ายเชิญชวน ซึ่งออกแบบโดย "พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล" แล้วเผยแพร่ แต่ละปีไม่ซ้ำแบบ
ฝ่ายขูดมะพร้าว
สทท.11 สุราษฎร์ฯ กำลังสัมภาษณ์ขั้นตอนการปอก ขูด และคั้นกระทิ
สทท.11 สุราษฎร์ฯ สัญจรมาถ่ายทอดสดที่วัดท่าไทร ในวันเตรียมงาน
ฝ่ายปลอก และปรับแต่ง ก่อนผ่า และส่งต่อไปยังฝ่ายขูด .. คั้นกะทิ ต่อไป
กำลังสัมภาษณ์ขั้นตอน และวิธีการทำ ถ่ายทอดสดออก ช่อง สทท.11 สุราษฎร์ฯ
ทุกคนตั้งใจ "ห่อ"
ดีเจและทีมงาน สวท.สุราษฎร์ฯ ขอเรียนรู้และลอง "ห่อบ้าง"
นักเรียน นักศึกษามาเรียนรู้นอกห้องเรียน
ระบบเสียงที่มีอยู่ไม่พอ "เพิ่มได้ทันที" ระบบเสียงโดย พระมหาบุญโฮม ฟรีทุกงานวัด
ผู้สนใจต้องการฝึกห่อ ก็ตั้งใจเรียนรู้และทำตามผู้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ฝ่ายขูดมะพร้าว นำโดย นายก อบต. และคณะ พร้อมประชาชน
ชั่ง ดวง และควบคุมให้ได้มาตรฐาน "อร่อย มีคุณค่า ถูกหลักอนามัย"
ทีมขูดมะพร้าว .. ใครสะดวก ก็เข้าแทนที่ผู้ที่เหนื่อย แต่ไม่ท้อ
ห่อไปด้วย คุย ถามสารทุกข์สุขดิบ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ถ้อยที ถ้อยอาศัย ด้วยศรัทธา และน้ำใจ
"ทีมทำครัวมืออาชีพจากร้านดัง" กำลังเตรีมอหารเพื่อเลี้ยงดูประชาชนที่มาร่วมงาน
ชั่ง ดวง และควบคุมให้ได้มาตรฐาน "อร่อย มีคุณค่า ถูกหลักอนามัย"
พระเดชพระคุณ "พระเทพพิพัฒนาภรณ์ " กำลังทักทายปฏิสัมพันธ์กับประชาชน
ประชาชนมาจากหลายอำเภอ หลายจังหวัดมาร่วมกันด้วยศรัทธา
ผัดเสร็จ นำมาผึ่งให้เย็น ก่อนส่งต่อให้ฝ่ายห่อ
ฝ่ายห่อก็ห่อไป ทำความรู้จักกัน คุยกันไป สนุกสนาน
ดวงให้ได้มาตรฐาน เตรียมพร้อมส่งต่อไปให้ฝ่ายผัดข้าวเหนียว
นายกอบต. พร้อมทีมงาน และประชาชนกำลังเตรียมมะพร้าวให้ฝ่ายขูด
กำลังรวบรวมจากที่ห่อเสร็จ ปรับแต่งให้เรียบร้อย ก่อนส่งไปไปยังฝ่ายนึ่ง
ที่ห่อเสร็จ ปรับแต่งให้เรียบร้อย พร้อมนำเข้าสู่กระบวนการ "นึ่ง" ต่อไป
ร่วมด้วยช่วยกัน ตั้งแต่เช้า จนกระทั่งค่ำ สุดแต่จะสะดวกและมีเวลา
นายอำเภอ เป็นตัวแทนวัดกำลังมอบ "อนุโมทนาบัตร" แก่ผู้นำสิ่งของมาร่วมบริจาคสนับสนุน
นายอำเภอ เป็นตัวแทนมอบ "ประวัติประเพณีห่อข้าวต้มลูกโยน เขียนโดย พระมหาบุญโฮม" แก่ผู้สนใจ
ผัดข้าวสารเหนียวกับกระทิ และเครือ่งปรุง ให้เขากันและสุก
นักศึกษาแผนกโภชนาการ อาชีวศึกษาสุราษฎร์ฯ ก็มาศึกษาร่วมอนุรักษ์ประเพณี
ห่อข้าวต้มอีกวิธีหนึ่ง
"โชว์ห่อไม่ยากอย่างที่คิด" (ด้านหลังพระมหาบุญโฮม ประชาสัมพันธ์ ทุกงานเช่นเคย)
ทีมงานสมาคมป้องกันภัย ร่วมสนับสนุนกำลังช่วยแบก หาม ฯลฯ
กระบวนการนึ่งด้วยวิธีแบบดั้งเดิม
กระบวนการนึ่งด้วยวิธีแบบใหม่ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาต่อไป
ผึ่งให้เย็น ก่อนบรรจุถุง เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนที่มาร่วมงานประเพณีชักพระเหมือนทุกปี
บรรจุถุง เก็บความอร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย เพือ่ให้ถึงมือผู้รับประทาน

ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติ่ม.-
          
"ขนมต้ม"ขนมแห่งศรัทธาและเอื้ออารี


**************************

วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๙๔๒๙๐
http://www.watthasai.com
http://www.facebook.com/watthasai
E-mail : watthasai@gmail.com

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร