พระพุทธรูปประจำเดือนเกิด
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี

           โดยแท้ที่จริงแล้ว คนเราจะเกิดในวัน เดือน และปีใดก็สามารถที่จะทำการสักการะบูชาพระพุทธรูปทุกปาง ทุกขนาด แล้วเกิดสิริมงคล เป็นบุญกุศล และมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ที่นำมาเสนอในที่นี้ เพื่อเป็นข้อมูล เชิงเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับทราบว่า นอกจากจะมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดแล้ว ยังพระพุทธรูปประจำเดือน และประจำปีเกิดด้วย ดังนั้น จึงขอนำเรื่องนี้มาเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ท่านที่สนใจ


Imageพระประจำเดือนอ้าย
ปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล


           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงธารมะกร (ไม้เท้า) ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปข้างหน้า ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เป็นกิริยาชักผ้าบังสุกุล บางแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงทาบที่พระเพลา (ตัก)

           ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะนำผ้าขาวที่ห่อศพมาซักย้อมเป็นผ้าสังฆาฏิ จึงเสด็จไปพิจารณาปฏิกูลสัญญา แล้วทรงชักผ้าบังสุกุลและนำมาซักตากให้หมดกลิ่นซากศพ แล้วเย็บเป็นจีวร

           ในพุทธประวัติเล่าว่าท้าวสักกเทวราชเสด็จลงมาช่วยทำจีวร ตักแต่ซัก ตาก และเย็บเสร็จภายในคืนเดียว ผ้าจีวรผืนนี้พระพุทธองค์ทรงนำมาทำผ้าสังฆาฏิ ภายหลังได้ประทานผ้าผืนนี้แก่พระมหากัสสปะ ผู้เป็นเอตทัคคะด้านถือธุดงค์

 

 

Imageพระประจำเดือนยี่
ปางชี้มาร


           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพักตร์ ชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้า

           พระโคถิกเถระ ปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหันต์ผล เป็นพระอรหันต์ มารคิดว่าวิญญาณของท่านเพิ่งออกจากร่าง จึงแฝงกายเข้าไปในก้อนเมฆ เที่ยวตามหาวิญญาณของท่าน แต่ไม่พบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ชี้มารให้ภิกษุทั้งหลายดูและตรัสบอกภิกษุว่า "มารผู้มีใจบาปกำลังแสวงหาวิญญาณพระโคธิกะอยู่ แต่ไม่มีวิญญาณของพระเถระในที่นั้น ด้วยเธอได้นิพพานไปแล้ว" เมื่อมารค้นหาวิญญาณของพระโคธิกเถระไม่พบ จึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ มารทูลถามว่า พระโคธิกะอยู่ที่ใด เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระโคธิกะนิพพานแล้ว มารตกตะลึงด้วยคาดไม่ถึง อันตรธานหายวับไปทันที พระพุทธองค์ตรัสว่า "ผู้มีศีลบริสุทธิ์ อยู่ด้วยความไม่ประมาทย่อมถึงวิมุตติ เพราะฌานหยั่งรู้ชอบแล้ว มารจะไม่ประสบพบทางชองท่านได้เลย"

 

 

Imageพระประจำเดือน 3
ปางประทานโอวาท หรือ ปางแสดงโอวาทปาติโมกข์

           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทพระทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ (อก)
           ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประมาณ ๙ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ครบองค์ ๔ ได้แก่
           ( ๑ ) วันนั้นเป็นวันดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ( วันเพ็ญเดือน ๓ )
           ( ๒ ) พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
           ( ๓ ) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
           ( ๔ ) พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง
          ในวันนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ใจความสำคัญแห่งพระโอวาทนั้น ได้แก่ ละเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส วันเพ็ญเดือน ๓ ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า "วันมาฆบูชา"

 

Imageพระประจำเดือน 4
ปางนาคาวโลกน์

           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ขวาห้อยเยื้องมาข้างหน้า พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงตามปกติ บางแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมาข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลง เอี้ยวพระวรกายผินพระพักตร์ เหลียวไปข้างหลัง บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ

           วันหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาแล้ว ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากรุงเวสาลี พร้อมรับสั่งว่า การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา คือ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การตรัสเช่นนี้ ถือเป็นมรณญาณ เป็นการบอกให้ทราบว่าพระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพานแล้ว และทรงทราบด้วยพระญาณว่า จะไม่ทรงเห็นเมืองเวสาลีอีก เพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจะเข้ายึดเมืองเวสาลี เพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ตั้งมั่นในอาปริหานิยธรรมที่พระพุทธองค์ประ ทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกัน ซึ่งเคยต้านทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง การทอดพระเนตรครั้งนี้ เรียกว่า "นาคาวโลกน์" คือการเหลียวมองอย่างพญาช้าง สถานที่นี้มีผู้สร้างเจดีย์เอาไว้เรียกว่า "นาคาวโลกน์เจดีย์"

 

Imageพระประจำเดือน 5
ปางคันธารราฏ หรือ ปางขอฝน (นั่ง)


           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทพระทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยาขอฝน พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) บางแบบหงายพระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระชานุ (เข่า)

           หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ประมาณ ๕๐๐ ปี กษัตริย์เมืองคันธาระ พระนามว่า พระเจ้ามิลินท์ ได้โต้ตอบปัญหาธรรมะกับพระนาคเสนพุทธสาวกผู้เป็นพระอรหันต์

 

           ทรงเลื่อมใสที่พระนาคเสนตอบข้อสงสัยในพระพุทธศาสนาของพระองค์ได้ทุกแง่ทุกมุม พระเจ้ามิลินท์จึงทรงได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่นับถือสูงสุดในชีวิต และรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชาในเมืองคันธาระ

 

 

Imageพระประจำเดือน 6
ปางมารวิชัย


           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี พระปางนี้นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

           ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารวสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมฃล์สูง ๑๕๐ โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่ มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อม นำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามัวดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้น กลับกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ จึงทรงกล่าวว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน" แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ กรวดอุทิศผลบุญ จากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น

 

 

Imageพระประจำเดือน 7
ปางเรือนแก้ว


           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทพระทับ (นั่ง) ขัดสมาธิในเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงานบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) บางแบบพระหัตถ์วางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) บางแบบอยู่ในอิริยาบถขัดสมาธิเพชรในเรือนแก้ว

           ในสัปดาห์ที่ ๔ จากวันตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "รัตนฆรเจดีย์" ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่าในสัปดาห์ที่ ๑ - ๓ พระฉัพพรรณรังสี ( รัศมี ๖ ประการ ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ ๔ เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงมีโอภาสออกมาจากพระวรกาย

 

 

Imageพระประจำเดือน 8
ปางปฐมเทศนา หรือ ปางแสดงธรรมจักร

           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ บางแบบประทับ (นั่ง) ห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงกลม พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ซ้ายประคองพระหัตถ์ขวา หรือพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นถือชายจีวร

           พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ คือ โกณทัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ) เมื่อพาราณสี เป็นเหตุให้โกณฑัญญะได้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก ผู้เป็นสักขีพยานการตรัสรู้ ของพระพุทธองค์ ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นวันที่พระสังฆรัตนะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก วันนี้จึงถือว่า เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้น ในโลกอย่างสมบูรณ์

 

Imageพระประจำเดือน 9
ปางภัตกิจ / ทำภัตกิจ (เสวยพระกระยาหาร)

           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตร เป็นกิริยาเสวย

           ยสกุลบุตรผู้หนีความวุ่นวายในเรือน ออกมา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน ต่อมาพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรได้แสดงตนเป็นอุบาสกขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคนแรกในพระพุทธศาสนา การเทศนาครั้งที่ ๒ นี้ ยังผลให้ยสกุลบุตร ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยบรรลุอรหัตผล

           พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ยสกุลบุตร วันต่อมาทรงรับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดาพระยสะ นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จไปเสวยภัตตาหารตามบ้านและได้ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ จนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา

 

 

Imageพระประจำเดือน 10
ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยายืน พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบประสานพระหัตถ์ด้วย พระบาทซ้ายทรงเหยียบหลังพระบาทขวา เป็นกิริยากดพระบาท
           ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้น เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ ๓ เหตุการณ์ ดังนี้ คือ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเขาสัจพันธ์ ทรงหยุดบุษบกอยู่บนอากาศ เพื่อทรมานสัจพันธ์ฤาษีให้ละมิจฉาทิฐิ จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วขึ้นบุษบกตามเสด็จไปยังสถานที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จ พญานาคราชทูลขอให้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ริมฝั่งนัมทามหานที ครั้งที่ ๒ เมื่อเสด็จกลับถึงเขาสัจพันธ์ ได้ตรัสสั่งพระสัจพันธ์ให้พักอยู่ที่เขาแห่งนี้ เพื่อปลดเปลื้องผู้ที่พระสัจพันธ์เคยสอนลัทธิผิด ๆ ไว้ ให้พ้นจากมิจฉาทิฐิ
           พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หลังหิน ตามที่พระสัจพันธ์ทูลขอไว้ และครั้งที่ ๓ ในพระนครโกสัมพี มีพราหมณ์ชื่อว่า มาคันทิยะ มีธิดาสาวสวยชื่อ มาคันทิยา มาคันทิยะได้เห็นพระพุทธองค์ซึ่งงามพร้อมด้วยมหาบุรุษลักษณะทุกประการ จึงนำลูกสาวมาถวาย พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาให้ปรากฏยังพื้นดิน แล้วเสด็จจากไปประทับอยู่ในบริเวณนั้น พราหมณีภรรยามาคันทิยพราหมณ์เห็นรอยพระพุทธบาทแล้วทราบทันทีว่า รอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนสละกามได้แล้ว ต่อมาทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ทั้งสองจนได้เป็นพระอนาคามี

 

Imageพระประจำเดือน 11
ปางลีลา

           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืนยกส้นพระบาทขวา พระหัตถ์ขวาห้อยในท่าไกว พระหัตถ์ซ้าย (บางตำนานว่าพระหัตถ์ขวา) ยกเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้า บางแบบจีบนิ้วพระหัตถ์ บางตำราใช้ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์เป็นพระประจำเดือนนี้

           เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยเหล่าเทวดาและพรหมที่ตามมาส่งเสด็จนั้น ขบวนตามเสด็จมาหยุด ณ ประตูสังกัสสนคร เมืองที่พระสารีบุตรจำพรรษาอยู่ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธลีลาและพระสิริงดงามยิ่ง ครอบงำรัศมีของเหล่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย เป็นภาพที่งดงามเหนือคำบรรยาย เป็นที่ชื่นชมโสมนัสแก่พุทธบริษัทที่เฝ้ารับเสด็จ


 

 

Imageพระประจำเดือน 12
ปางประทานอภัย (นั่ง)


           พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองเบน ไปข้างหน้าเล็กน้อย บางแบบเป็นพระอิริยาบถยืน

           พระเจ้าอชาตศรัตรู พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ถูกพระเทวทัตยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชแทน พระเจ้าอชาตศัตรูยังทรงช่วยสนับสนุนพระเทวทัตส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังสำนึกตัว จึงเสด็จมาสารภาพความผิดของตนและขอพระราชทานอภัยโทษกับพระพุทธองค์ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด หันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๑