พระพุทธรูปประจำปีเกิด
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี

           โดยแท้ที่จริงแล้ว คนเราจะเกิดในวัน เดือน และปีใดก็สามารถที่จะทำการสักการะบูชาพระพุทธรูปทุกปาง ทุกขนาด แล้วเกิดสิริมงคล เป็นบุญกุศล และมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ที่นำมาเสนอในที่นี้ เพื่อเป็นข้อมูล เชิงเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับทราบว่า นอกจากจะมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดแล้ว ยังพระพุทธรูปประจำเดือน และประจำปีเกิดด้วย ดังนั้น จึงขอนำเรื่องนี้มาเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ท่านที่สนใจ


Imageพระประจำปีชวด
ปางโปรดอาฬวกยักษ์

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาทรงแสดงธรรม เป็นลักษณะเดียวกับปางปฐมเทศนา บางแบบพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ (เข่า)

         ครั้งหนึ่งเจ้าผู้ครองนครอาฬวี ชอบล่าสัตว์เป็นกิจวัตร วันหนึ่งพลัดหลงเข้าไปพักใต้ต้นไทรซึ่งเป็นเขตหวงห้ามของอาฬวกยักษ์ ถูกยักษ์จับไว้เพื่อกินเป็นอาหาร จึงขอให้ปล่อยตัวกลับและสัญญาจะส่งคนมาให้กินวันละหนึ่งคน เมื่อนักโทษหมดก็ส่งเด็กให้วันละคน ต่อมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงได้เสด็จไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ แล้วแสดงธรรมโปรดจนอาฬวกยักษ์ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน


 

 

Imageพระประจำปีฉลู
างโปรดพุทธมารดา


         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) บางแบบวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์

         หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรม โปรดพุทธมารดา ซึ่งไปบังเกิดเป็นเทพบุตร ณ สวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อตอบแทนพระคุณ ท้าวสักกเทวราช ทรงมีความปิติยินดี รีบป่าวประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้มาฟังพระธรรมเทศนา ในที่สุดพุทธมารดาได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน

         หลังจากออพรรษา พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากสวรรค์ โดยเสด็จลงที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะ ประชาชนที่เฝ้ารออยู่ได้พบเห็น ต่างก็มีความปลื้มปิติ จึงจัดอาหารใส่บาตรทั้งของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่มารอรับเสด็จอยู่ จึงเกิดมีประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะกันจนกระทั่งทุกวันนี้

 

Imageพระประจำปีขาล
ปางโปรดพกาพรหม

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน บนเศียรพกาพรหมซึ่งประทับหลังโคอุสุภราช พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ประสานกันอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำอยู่ในอาการสังวร

         ท้าวพกาพรหมมีความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน ซึ่งขัดต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธองค์โปรดให้ท้าวพกาพรหมแสดงฤทธิ์โดยให้ไปซ่อนตัว แต่ไปซ่อนที่ใด พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ ต่อมาพระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์อันตรธารหายไป และทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ได้ยินแต่พระสุรเสียง และทรงตรัสว่ากำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรของท้าพกาพรหม ท้าวพกาพรหมหมดทิฐิมานะ จึงตั้งใจฟังธรรมเทศนาจนได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน


 

Imageพระประจำปีเถาะ
ปางอธิษฐานเพศพรรชิต

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางบนพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย (บางตำราใช้ปางปัจจเวกขณะเป็นพระประจำปีเถาะ)

         เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์จนมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา จึงเสด็จลงจากหลังม้า ประทับเหนือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งแก่นายฉันนะว่า พระองคักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้ ให้นำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งพระทัยว่า เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติ

 

Imageพระประจำปีมะโรง
ปางโปรดองคุลิมาลโจร

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย

          อหิงสกกุมารบุตรพราหมณ์ปุโรหิตแห่งสาวัตถี ได้ศึกษาสรรพวิชาอยู่ ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ผู้เป็นอาจารย์ถูกยุยงว่า อหิงสกะหมายล้มล้างตน จึงหาทางกำจัดโดยยืมมือผู้อื่นฆ่า และบอกว่าจะสอน "วิษณุมนต์" ให้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้วจากหนึ่งพันคนมาบูชาครู

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณว่า อหิงสกะ หรือ องคุลีมาลโจรหรือจอมโจรผู้มีนิ้วมือเป็นมาลัย กำลังจะทำกรรมหนัก เพราะกำลังจะฆ่ามารดา จึงเสด็จไปขวางทาง องคุลีมาลโจรตะโกนว่า "หยุดก่อนสมณะ" พระพุทธองค์ทรงรับสั่งว่า "เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละยังไม่หยุด"

          พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนองคุลีมาลทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์จึงทรงประทานการบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระองคุลีมาล เมื่อบวชแล้วท่านได้ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหัต์ในกาลต่อมา


 

 

Imageพระประจำปีมะเส็ง
ปางทรงรับอุทกัง (น้ำดื่ม)

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ (เข่า) เป็นกิริยายื่นบาตรออกรับอุทกัง คือ รับน้ำ

         เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ นายจุนทะได้จัดภัตราหารอันประณีตไว้ถวายพร้อมสุกรมัททวะ หลังจากที่เสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว พระพุทธองค์ ก็ทรงพระประชวรโรคโลหิตปักขัณทิกาพาธ แต่ก็เสด็จไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทาง ทรงกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำน้ำมาถวาย พระอานนท์กราบทูลว่า มีเกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่มข้ามแม่น้ำไป ทำให้น้ำขุ่นไม่ควรเสวย และเชิญเสด็จไปยังแม่น้ำอีกสายที่อยู่ใกล้ๆ แต่ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปนน้ำมา พระอานนท์ทูลทัดทานถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ จึงทำตามพระบัญชา เมื่อพระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำมาถวาย น้ำกลับใสสะอาดไม่ขุ่นมัวเป็นอัศจรรย์ พระพุทธองค์จึงเสวยน้ำนั้น


 

 

Imageพระประจำปีมะเมีย
ปางสนเข็ม

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้ายเป็นกิริยาสนเข็ม

         ครั้งหนึ่งพระจีวรของพระอนุรุทธเถระเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุลเพื่อมาทำจีวร พระเถระพบผ้า ๓ ผืนที่กองหยากเยื่อจึงเก็บมา ในสมัยโบราณการทำจีวรต้องตัดเย็บและย้อมเอง พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง แบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยร้อยด้ายเข้าในบ่วงเข็ม ( สนเข็ม ) เมื่อพระรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน จนการเย็บจีวรสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี

 

 

Imageพระประจำปีมะแม
ปางประทานพร (ยืน)

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ (อก) แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลง แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลง

         มหาอุบาสิกาวิสาขา บุตรีของธนัญชัยเศรษฐี เป็นหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเบญจกัลยาณี ได้แก่ มีผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม นางมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และเป็นพระโสดาบันบุคคลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ในช่วงฤดูฝนในพรรษาหนึ่ง นางวิสาขาไให้นางทาสีของนางมานิมนต์พระภิกษุ พอดีฝนตก พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร นางทาสีเข้าใจว่าเป็นนักบวชลัทธิชีเปลือย จึงกลับไปบอกนางวิสาขา

         หลังจากถวายภัตตาหารและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว นางวิสาขาจึงกราบทูลขอประทานพรจากพระพุทธองค์เพื่อถวายสิ่งของต่าง ๆ แก่ภิกษุ ภิกษุณี ได้แก่ ( ๑ ) ผ้าอาบน้ำฝน ( ๒ ) อาหารสำหรับภิกษุอาคันตุกะ ( ๓ ) อาหารสำหรับภิกษุผู้เตรียมจะไป ( ๔ ) อาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้ ( ๕ ) อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุ ( ๖ ) ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้ ( ๗ ) ขอให้ได้ถวายข้าวยาคู ( ๘ ) ผ้าอาบน้ำสำหรับภิกษุณี พระพุทธองค์ทรงประทานพรทั้ง ๘ ข้อแก่นางวิสาขา

 

 

Imageพระประจำปีวอก
ปางปฐมบัญญัติ

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง ตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า

         ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นครเวสาลี สุทินกลันทบุตร ได้ฟังพระธรรมเทศนา บังเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่บิดามารดาอยากให้สึกมาดูแลสมบัติของตระกูล พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์ บิดาจึงขอทายาทเพราะหากไม่มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินจะถูกยึดตามธรรมเนียม พระสุทินจึงได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าตามคำขอร้องและได้บุตรชายคนหนึ่ง ต่อมาท่านรู้สึกไม่สบายใจจึงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ความทราบถึงพระพุทธองค์ ทรงติเตียนพระสุทิน ที่ทำกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งแก่สมณะ จึงบัญญัติสิกขาบทว่า "ภิกษุเสพเมถุนต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที" นับเป็นปฐมบัญญัติ คือ ข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ การประพฤติของพระสุทินสมัยนั้น ถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาผิด เพราะยังมิได้มีสิกขาบทห้ามไว้ แต่ถ้าภิกษุใดทำเช่นนี้อีก ถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

 

 

Imageพระประจำปีระกา
ปางรับมธุปายาส

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ห้อยพระบาท

         เช้าวันเพ็ญวิสาขะ หรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ( ปีระกา ) อันเป็นวันครบรอบพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ของพระบรมโพธิสัตว์ นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาส มาแก้บนต่อรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ ครั้นแลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร ทรงรัศมีออกจากพระวรกายแผ่ซ่านไปทั่วปริมณฑล นางสุชาดาเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมกับถาดทองคำ พระองค์ทรงแบพระหัตถ์ทั้งสองออกรับถาดข้าวมธุปายาส

 

Imageพระประจำปีจอ
ปางชี้อัครสาวก

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาชี้นิ้วออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงประกาศอัครสาวก ให้ปรากฏในที่ประชุมสงฆ์

         พระอัครสาวก หมายถึง พระสาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม จำนวน ๒ รูป ได้แก่.-
         ๑.พระสารีบุตร ชื่อเดิมของท่านได้แก่ อุปติสสะ เมื่อบวชแล้วได้ 15 วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก (ชื่อปริพาชกพวกหนึ่ง ตระกูลอัคคีเสสนะ) ที่ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางมีปัญญามาก และเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ของพระพุทธเจ้า ท่านพระสารีบุตร นิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน (อรรถกถาว่าท่านนิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๖ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน) พระพุทธองค์โปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
         ๒.พระมหาโมคคัลลานะ ชื่อเดิมของท่านได้แก่ โกลิตะ ท่านได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า โดยท่านได้รับยกย่องเป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์มาก ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า พระโมคคัลลาน์ ในตอนปลายพุทธกาล พระมหาโมคคัลลานะ ท่านนิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน พระพุทธเจ้า จึงโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์

 

Imageพระประจำปีกุน
ปางโปรดพญาชมพูบดี หรือ ปางทรงเครื่อง

         พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์

         พญาชมพูบดีผู้มีฤทธิ์เดชมาก มีความริษยาพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงมีปราสาทงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงมารุกรานข่มเหง จนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นพระเจ้าราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมา พญาชมพูบดีตกตะลึงในความงดงามและความยิ่งใหญ่แห่งพระนครของพระราชาธิราช

         พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ก็พ่ายต่อพระพุทธองค์ จึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรด จนพญาชมพูบดีเบื่อหน่ายในราชสมบัติอันไม่ยั่งยืน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี