ผ้าป่า ครั้งพุทธกาลเรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร
คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ตามป่าช้าบ้าง
ตามถนนหนทางและห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้างที่สุดจนกระทั่งที่เขาอุทิศวางไว้แทบเท้า
รวมเรียกว่า ผ้าป่า
ประเพณีการทอดผ้าป่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ๆ ยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวร
คือ จีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ ทรงอนุญาตแต่เพียงให้ภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล
คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของ เขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาห่อซากศพทิ้งไว้ตามป่าช้า
และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง นำมาซักฟอกตัดเย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องการ
แล้วใช้นุ่งห่ม ชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากในสมัยนั้นเห็นความลำบากของภิกษุในเรื่องนี้
มีความประสงฆ์จะบำเพ็ญกุศลไม่ให้ขัดต่อพระพุทธบัญญัติ ในขณะนั้น จึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่สมณบริโภคไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง
ๆ โดยมากเป็นในป่าช้าที่รู้ว่าภิกษุผู้แสวงหาเดินไป เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกว่า
ผ้าป่า ในภาษาไทยเรา
แต่ครั้งนั้นการทอดผ้าป่าไม่ได้นิยมกาล
แล้วแต่ใครมีศรัทธาจะทำเมื่อไรก็ทอดมันเมื่อนั้น เมื่อทรงบัญญัติจีวรกาล
คือ การแสวงหาและทำจีวรขึ้นจำกัด ๑ เดือน นับแต่ออกพรรษาแล้ว และถ้าได้กรานกฐินด้วยขยายออกไปอีก
๔ เดือน จนถึง วันเพ็ญเดือน ๔ การทอดผ้าป่าจึงนิยมทำกันในระยะนี้ ส่วนมากในฤดูออกพรรษา
ใหม่ ๆ แม้ทางราชการในประเทศไทยก็เคยปรากฏว่า มีทำในระหว่างเดือน ๑๒
พร้อมกับพระราชพิธีลอยพระประทีป
การทอดผ้าป่าที่ทำกันในประเทศไทย มีทำกันหลายอย่าง อย่างที่เรียกว่า
ผ้าป่าแถมกฐิน คือ ทอดกฐินแล้วเลยทอดผ้าป่าด้วยก็มี ทำกันอย่างสัณฐานประมาณ
คือ เอาเครื่องไทยธรรมบรรจุกระถาง กระบุง กระจาด หรือถังสังกะสี แล้วเอากิ่งไม้ปักเอาผ้าห้อย
อุทิศตั้งไว้ตามทางที่พระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมา หรือนำไปตั้งไว้ตาม พระอารามแล้วให้พระรู้ว่ามีผ้าป่ามาถึงที่ก็มี
เครื่องผ้าป่านี้อย่างน้อยมีแต่ผ้าผืนหนึ่งห้อยกิ่งไม้ ไปปักตามที่ดังกล่าวแล้วก็มีที่ทำกันอย่างขนาดใหญ่ถึงป่าวร้องหรือ
แจกฎีกาให้ทายกรับไปคนละองค์สององค์จนครบจำนวนภิกษุสามเณรทั้งวัด แล้วนำมาทอดพร้อมกันตามกำหนด
ทำกันครึกครื้นถึงแห่แหนสนุกสนานประกวดประชันกันพอถึงวัดแล้วก็ประชุมถวายอุทิศต่อหน้าพระสงฆ์เช่นนี้ก็มี
บางแห่งในชนบท ผู้มีจิตศรัทธาได้จัดทำขึ้น โดยนำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางน้ำ
เรียกกันว่า ผ้าป่าโยง ผ่านไปถึงวัดไหน ก็ทอดวัดนั้นเรื่อยไปดังนี้ก็มี
พิธีทอดผ้าป่านี้จะแบบไหก็ตามข้อสำคญมีอยู่ว่าให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง
ๆ อย่าถวายแก่ใครโดยเฉพาะ ถ้าทอดลับหลังพระสงฆ์ผู้รับเพียงแต่ตั้งใจขณะทอดว่าขออุทิศผ้าและเครื่องบริวารเหล่านี้แก่ภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้า
เท่านี้ก็ได้ชื่อว่าทอดและถวายผ้าป่าแล้ว
แต่ถ้าเป็นการทอดหมู่ต่อหน้าสงฆ์ผู้รับ หัวหน้าทายกพึงนำว่าคำอุทิศถวายเป็นคำ
ๆ ทั้งคำบาลี และคำแปล
สำหรับภิกษุผู้ชักผ้าป่า ไม่ว่าผ้าป่าแบบไหน พึงยืนสงบตรงหน้าผ้าเอื้อมมือขวาจับผ้า
ให้จับหงายมือ อย่าจับคว่ำมือ แล้วกล่าววาจาหรือบริกรรมในใจว่า "อิมํ
ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ" ผ้าบังสุกุลผืนนี้ เป็นผืนที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนย่อมถึงแก่ข้าพเจ้า
ดังนี้ (บางอาจารย์เติมคำชักผ้าป่าเข้าในระหว่าง อสฺสามิกํ... มยฺหํ
เป็นคำว่า "อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ โหติ อชฺช มยฺหํ ปาปุณาติ"
ก็มี) กล่าววาจาหรือทำบริกรรมในใจจบแล้วชักผ้านั้นมา เป็นอันเสร็จพิธีแต่ถ้าเป็นผ้าป่าถวายหมู่เมื่อชักแล้ว
พึงอนุโมทนาด้วยบท วิเสสอนุโมทนา ในทานนี้นิยมใช้ บท สพฺพพุทธานุภาเวน...
หากเป็นผ้าป่าเฉพาะรูป อนุโมทนาด้วยสามัญอนุโมทนาเท่านั้นก็ได้ ถ้าพระสงฆ์อนุโมทนา
ทายกพึงกรวดน้ำขณะพระว่า ยถา... แล้วประณมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี.
การทอดผ้าป่านี้ ในทางพระพุทธศาสนานับเป็นการกุศลอันสำคัญ
เพราะพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายต้องใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยประการหนึ่ง
พึงเห็นว่าเมื่อพระอุปัชฌาย์ให้อุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว ก็บอกอนุศาสน์
คือ คำสอนเบื้องต้น ในบัดนั้น ในอนุศาสน์นั้น มีการสอนให้ใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเป็นนิตย์อยู่ด้วย
แต่ก็ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าเป็นอติเรกลาภอย่างอื่นได้เหมือนกัน ผู้ทอดผ้าบังสุกุลจีวร
(ผ้าป่า) นั้น ก็ได้ชื่อว่าช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ได้รักษาประเพณีข้อนี้ให้มั่นคงอยู่ได้
การทอดผ้าป่านั้น เคยมีมาแต่ครั้งพุทธกาล ที่เป็นครั้งสำคัญที่สุดก็คือ
เมื่อครั้งนางบุณณทาสี ธิดาของเศรษฐีตระกูลหนึ่งถึงแก่มรณะ เจ้าภาพก็เอาผ้าเนื้อดี
ทอดเป็นผ้ามหาบังสุกุลนี้ ได้บังเกิดมหาอัศจรรย์ มีแผ่นดินไหวถึงเจ็ดครั้ง
มหาชนต่างก็นมการทอดผ้าป่าแต่นั้นเป็นลำดับมา แต่ก็ไม่ได้จำกัดเวลาว่า
จะทอดกันเวลาไหน เมื่อใครจะมีศรัทธา และพร้อมเมื่อไรก็สามารถทอดถวายแด่พระสงฆ์ได้ทันที
ส่วนการทอดผ้าป่าแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดต่าง
ๆ ในวันออกพรรษาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
นิยมจัดผ้าอันเป็นบังสุกุลจีวร พร้อมด้วยเครื่องบริวารต่าง ๆ ที่จะขาดเสียมิได้ก็คือผ้าหนึ่งผืนเพื่อให้พระสงฆ์พิจารณา
และปิ่นโต ๑ เถา พร้อมภัตตาหาร เพื่อถวายให้พระที่มาพิจารณาผ้าป่าได้ฉัน
โดยเหตุนี้จึงเรียกพุ่มผ้าป่าในวันนี้ว่า "ผ้าป่าข้าวสุก"
ส่วนสิ่งของนอกจากที่กล่าวมานั้นก็มีการจัดถวายพระสงฆ์ตามกำลังศรัทธา
โดยนิยมจัดพุ่มผ้าป่าไว้บริเวณหน้าบ้าน มีเลขหมายประจำพุ่มไว้ บางบ้านก็จัดทำพุ่มผ้าป่าอย่างงดงามและมีการประกวดกัน
มีกรรมการซึ่งทางเทศบาลได้จัดตั้งขึ้นพิจารณาให้ได้รับรางวัล เป็นเกียรติ
เป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศล ผู้จัดการคือเทศบาลและอำเภอร่วมกัน ได้นำสลากนั้น
ๆ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงแล้วแต่ท่านจะจับสลากได้แล้ว
ก็นิมนต์ไปชักผ้าป่าตามสถานที่นั้น ๆ ในเวลาเช้าตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น. เป็นต้นไป
อันนับว่าเป็นกุศลสังฆทานในพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง
ภาพถ่าย นางพยอม สารสิน
ผู้ริเริ่มงานประเพณีทอดผ้าป่าออกพรรษาของ
วัดท่าไทร และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งเป็นมรดกไทย
มรดกโลก
ประเพณีการทอดผ้าป่าในเทศกาลวันออกพรรษา
ซึ่งตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามที่ได้กระทำกันอยู่
ณ บัดนี้ ได้มี นางพยอม นามสกุลเดิมคือ เริ่มก่อสกุล (ธิดาของนายเอม
นางขำ เริ่มก่อสกุล) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตลาดท่าทองใหม่ ตำบลท่าองใหม่
อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีประเพณีทอดผ้าป่าออกพรรษาขึ้น
ณ วัดท่าไทร ตำบลท่าองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุกวันแรม
๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังออกพรรษา ๑ วัน) ขณะเดียวกันได้จัดให้มีการชักพระ
(ชักลากพระ) โดยใช้เรือทางน้ำ เรือทางบก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาให้เกิดสิริมงคลในโอกาสออกพรรษา
เทียบเคียงการจัดฉลองวันเทโวโรหณะในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
และมีการละเล่นกีฬาทั้งทางบกและทางน้ำอย่างสนุกสนาน ซึ่งประเพณีดังกล่าวยังคงได้รับการอนุรักษ์ให้มีอยู่จวบจนกระทั่งปัจจุบัน
ต่อมานางพยอม เริ่มก่อสกุล ต่อมาภายหลัง
สมรสกับ นายฉาย สารสิน จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น สารสิน ตามสามี ได้ย้ายไปอยู่
กับสามี ที่ตรอกไม้ไผ่งาช้าง ข้างวัดกลาง ในตลอดบ้านดอน และได้ได้จัดให้มีประเพณีดังกล่าวขึ้นอีกที่บ้านดอน
(อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) โดยเริ่มแรกได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากวัดท่าไทรเป็นหลักในการไปพิจารณาผ้าบังสุกุล
ซึ่งภายหลังเจ้าอาวาสวัดท่าไทรในขณะนั้น ก็ได้แนะนำให้นิมต์พระภิกษุซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านดอนซึ่งใกล้บ้านไปพิจารณาชักผ้าบังสุกุล
(ผ้าป่า)ด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งได้กระทำกันสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ครั้นกาลล่วงมาถึง หลวงพ่อชม คุณาราโม (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น
พระครูดิตถารามคณาศัย) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้พิจารณาเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกแก่พระภิกษุสามเณรในการที่จะไปพิจารณาผ้าบังสุกุล
(ชักผ้าป่า) ซึ่งนางพยอมได้นิมนต์เอาไว้ เพราะจัดในวันเดียวกันกับประชาชนพุทธบริษัทบ้านท่าทองใหม่
จึงได้เลื่อนการจัดประเพณีดังกล่าวของวัดท่าไทรจากวันแรม ๑ ค่ำ ไปเป็น
แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากที่นางพยอมจัดทำและทอดผ้าป่าที่ตลอดล่าง
บ้านดอนเป็นเวลา ๗ วัน)
และต่อมา
พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๒ พ.ย. ๒๕๒๒) พระครูดิตถารามคณาศัย ได้มรณภาพลง
พ.ศ. ๒๕๒๒ พระมหาสนอง วิโรจโน ป.ธ. ๙ ได้รับหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
และได้สืบสานประเพณีดังกล่าวไว้เช่นเดิม
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๓ พระมหาชูชาติ กนฺตวณฺโณ (พระราชทินนามปัจจุบันคือ
พระเทพพิพัฒนาภรณ์) ได้เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้เกิดกายสามัคคีจึงได้ริเริ่มให้จัดตั้งพุ่มผ้าป่าในบริเวณวัดท่าไทรแทนการตั้งพุ่มที่บ้านของชาวบ้านเหมือนครั้งในอดีต
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน (นิยมตั้งพุ่มที่หน้าบ้านเฉพาะพุ่มพิเศษและพุ่มประกวดบางพุ่มเท่านั้น)
ปัจจุบันประเพณีชักพระ
- ทอดผ้าป่าวัดท่าไทร ยังคงปฏิบัติสืบทอดอย่างต่อเนื่อง แต่มีการปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมบ้าง
โดยการจัดกิจกรรมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ เรือพระน้ำของวัดท่าไทรจะมาเคลื่อนจากอำเภอเมือง
ฯ มายังท่าน้ำวัดท่าไทร ส่วนรถพนมพระบกของวัดท่าไทรและต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอกาญจนกดิษฐ์และใกล้เคียง
จะจอดรวมกันบริเวณลานวัดท่าไทร และมีการจัดเตรียมพุ่มผ้าป่าบริเวณวัดท่าไทร
คืนวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดท่าไทรจัดให้มีพิธีสมโภชพุ่มผ้าป่าขึ้นและมีมหรสพให้ประชาชนได้ชมเพื่อความสนุกสนาน
ตอนเช้าวันแรม
๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. ภายในวัดท่าไทรจะมีพิธีทอดผ้าป่าและถวายผ้าป่าแด่พระสงฆ์
สามเณรตามหมายเลขที่จับฉลากได้ แต่เดิมหลังจากทอดผ้าป่า เสร็จแล้วจะร่วมกันชักลากรถพนมพระเข้าไปในตลาดท่าทองใหม่
เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญ หลังจากลากเรือพระกลับมาถึงวัดท่าไทร
ประชาชนจะจัดให้มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านขึ้นในบริเวณวัดท่าไทร แต่ปัจจุบันเนื่องจากเรือพระแต่ละลำมีขนาดใหญ่และมีความสูงมากขึ้น
การลากพระเข้าสู่ตลาดท่าทองใหม่เป็นการไม่สะดวก เนื่องจากถนนแคบ ติดสายไฟฟ้าที่ข้ามถนน
จึงงดการชักรถพนมพระเข้าตลาดท่าทองใหม่ คงไว้เพียงจอดรถพนมพระในบริเวณวัดให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ
ตอนค่ำของวันแรม
๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. จะมีการนิมนต์พระสงฆทั้งจากวัดท่าไทรและวัดใกล้เคียง
มาเจริญพระพุทธมนต์สมโภชรถพนมพระและเรือพนมพระ เพื่อให้เกิดสิริมงคล
เสร็จแล้วมีมหรสพให้ชมฟรี และในวันต่อมา ภาคกลางวันจะมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านภายในบริเวณท่าไทร
ภาคกลางคืนจะมีมหรสพให้ชมฟรี โดยมีประชาชนทั้งชาวตำบลท่าทองใหม่ และใกล้เคียงทั้งในอำเภอกาญจนดิษฐ์
และอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าร่วมกิจกรรมสืบสานประเพณีกันอย่างต่อเนื่องมิเสื่อมคลายจนกระทั่งทุกวันนี้
************************************
ประวัติของ
นางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
ผู้ริเริ่มงานประเพณีทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร
และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งเป็นมรดกไทย มรดกโลก
***********
นางพยอม
สารสิน เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดี ปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นธิดาของ นยเอม นางขำ
เริ่มก่อสกุล (ชาวบ้านท่าทองใหม่) ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์
จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๔ คน ได้แก่..
๑.คุณยายเล็ก
๒.คุณยายเฟือง
๓.คุณยายกลับ
๔.นางพยอม สารสิน
มีบุตรกับนายทองหวาน (สามีคนก่อน) จำนวน ๖ คนทราบชื่อเพียง ๓ คนเท่านั้น
ได้แก่
๑.นางหอม (ถึงแก่กรรมแล้ว) ไม่มีบุตรธิดา
๒.นายยุคล (ถึงแก่กรรมแล้วและไม่ปรากชื่อสามี)
มีบุตร ๒ คน (ไม่ปรากฏชื่อและถึงแก่กรรมแล้ว)
๓.นางหนูชื่น (ถึงแก่กรรมแล้ว
และไม่ปรากชื่อสามี) มีบุตร ธิดา รวม ๗ คน ได้แก่
(๑) นางลัดดาวัลย์ วัชรนพวิภา
(นามสกุลหลังสมรส) มีบุตร ธิดารวม ๔ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
(๒) นางผ่องศรี ติณจินดา (นามสกุลหลังสมรส)
มีบุตร ธิดารวม ๕ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
(๓) นางราตรี (ไมทราบนามสกุล
และไม่ปรากฏชื่อสามี) มีบุตรธิดารวม ๓ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
(๔)นายกวี แซ่กวาง
(๕) นายปิยะธัช ธัชประดิษฐ์ (ไม่ปรากฏชื่อภรรยา)
มีบุตรธิดารวม ๔ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
(๖) นางสาวทิพวรรณ วัชรนพวิภา
(๗) นางสาวพรทิพย์ แซ่กวาง
ในปี ๒๔๖๗ นางพยอม ได้ริเริ่มได้ริเริ่มประเพณีการทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร
คราวแรกกระทำนั้น โดยการแนะนำของพระธรรมวิโรจน์เถระ ซึ่งท่านได้แนะนำวิธีทำและพรรณนาอานิสงส์ให้ฟัง
นางพยอม จึงชักชวนคนที่รู้จัก คุ้นเคยกันและมีจิตศรัทธาทั้งหลายตั้งพุ่มผ้าป่าที่หน้าบ้านของตน
ทำต่อมาจนกระทั่งมีคนศรัทธา เห็นดีเห็นงามและร่วมตั้งพุ่มผ้าป่ากันมากขึ้น
นางพยอม เริ่มก่อสกุล ต่อมาภายหลัง
สมรสกับ นายฉาย สารสิน จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น สารสิน ตามสามี ได้ย้ายไปอยู่
กับสามี ที่ตรอกไม้ไผ่งาช้าง ข้างวัดกลาง ในตลอดบ้านดอน มีบุตรด้วยกัน
๒ คน แต่ไม่ปรากฏชื่อ และได้จัดให้มีประเพณีดังกล่าวขึ้นอีกที่บ้านดอน
(อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) โดยเริ่มแรกได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากวัดท่าไทรเป็นหลักในการไปพิจารณาผ้าบังสุกุล
ซึ่งภายหลังเจ้าอาวาสวัดท่าไทรในขณะนั้น ก็ได้แนะนำให้นิมต์พระภิกษุซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านดอนซึ่งใกล้บ้านไปพิจารณาชักผ้าบังสุกุล
(ผ้าป่า)ด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งได้กระทำกันสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ส่วนการที่ให้มีการประกวดพุ่มผ้าป่า
ครั้งแรกนางพยอมเป้นผู้คิดทำ เพื่อเป็นการชักจูงให้ผู้ทำพุ่มผ้าป่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น
โดยนางพยอมได้ไปขอของรางวัลจากมิตรสหายและห้างร้านต่าง ๆ เพื่อเป้นรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดพุ่มผ้าป่า
และได้ขอร้องผู้รู้คติการทอดผ้าป่ามาเป็นกรรมการ โดยออกตรวจพุ่มผ้าป่าต่าง
ๆ ตอนใกล้รุ่งสว่างตามหน้าบ้านของผู้ทำพุ่มผ้าป่า แล้วจดชื่อ นามสกุลของผู้ตกแต่งที่เห็นว่าเป็นคตินั้นมาพิจารณาร่วมกัน
แล้วจึงให้รางวัลในภายหลัง
ต่อมาภายหลัง นางพยอม สารสิน
ได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ พักอยู่กับสามีที่บ้านนายพจน์ สารสิน และได้นำหลานชื่อ
ลัดดาวัลย์ และ ผ่องศรี ไปอยู่ด้วยเพื่อส่งให้เรียนหนังสือ ทำให้ไม่สามารถจัดงานประเพณีทอดผ้าป่าได้เพราะอยู่ไกลและชราภาพ
จึงมอบให้หลานชายชื่อ นายเอื้อน เริ่มก่อสกุล (ปัจจุบันถึงแก่กรรม)
ให้ช่วยดูแล และต่อมาทางเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีจึงได้รับเป็นดำเนินการแทน
ซึ่งเป็นเทศกาลของเทศบาลเสียเอง พร้อมทั้งได้รับเอางานแห่พระทางน้ำมาเป็นงานเทศกาลท้องถิ่นร่วมกับการทอดผ้าป่าด้วย
งานจึงตกทอดและปรากฏเป็น "ประเพณีชักพระ
ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว" และจัดเป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปัจจุบีนนี้
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒นางพยอม สารสิน ได้ย้ายกลับมาอาศัยอยู่ที่จ.สุราษฎร์ธานีอีกครั้งหนึ่ง
โดยพักอยู่กับลูกชื่อ นางหอม ที่บ้านท่าทองใหม่ ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์
และบางครั้งก็พักอยู่ที่บ้านดอน อ.เมืองสุรษษฎร์ธานี ก็จะพักอยู่กับหลานชื่อลัดดาวัลย์
วัชรนพวิภา และผ่องศรี ติณจินดา (ปัจจุบันทั้ง ๒ คนนี้ ยังมีชีวิตอยู่)
นางพยอม สารสิน ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคชรา
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ตรงกับวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก
คำนวณอายุได้ ๙๑ ปี และได้ทำพิธีฌาปนกิจศพที่เมรุวัดธรรมบูชา ตำบลตลาด
อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ตรงกับวันพุธ
แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก
|
|
|
รูปในหนังสือแจกงานศพของ
นางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
|
|
ภาพหีบศพของ
นางพยอม
สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
|
|
|
|
ญาติ
พี่น้อง และประชาชนที่มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
|
|
อีกมุมหนึ่งของญาติ
พี่น้อง และประชาชนที่มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
|
|
|
|
ภาพญาติ
พี่น้อง ที่มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
|
|
ครอบครัวคุณลัดดาวัลย์
วัชรนพวิภา
|
|
|
|
ส่วนหนึ่งของ
หลาน เหลน ของนางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
|
|
ส่วนหนึ่งของ
ลูก หลาน เหลน ของนางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
|
|
|
วันที่
๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
คณะครอบครัว
หลาน เหลน โหลน ของคุณยายพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล) ได้พร้อมใจกันจัดทำพุ่มผ้าป่าถวายแก่คณะสงฆ์วัดท่าไทร
เพื่อสืบสานประเพณีทอดผ้าป่าของวัดท่าไทรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เป็นเป็นมรดกทางอารยธรรมของคุณยายพยอม
สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
โดยมี พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
เป็นผู้ให้คำแนะนำและประสานงาน
|
|
|
|
ครอบครัว
หลาน เหลน โหลน คุณยายพยอม, ได้จัดพิมพ์หนังสือ
คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี
วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี
ของ พระมหาบุญโฮม
ปริปุณณสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
(พิมพ์ครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๘)
จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม
เพื่อสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ของวัดท่าไทร
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.
|
ครอบครัว
หลาน เหลน โหลน คุณยายพยอม ได้จัดพิมพ์หนังสือ
กำเนิดประเพณีการทอดผ้าป่าของวัดท่าไทรและของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม
เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานประเพณีชักพระทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.
(แจกที่วัดท่าไทร
๗๐๐ เล่ม มอบแก่ห้องสมุดและผู้สนใจ ๓๐๐ เล่ม)
|
|
เอกสารอ้างอิง.-
กรมการศาสนา, นางวันดี จันทร์ประดิษฐ์,
นายสุวรรณ กลิ่นพงศ์, พิธีกรรมและประเพณี,กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย
จำกัด,๒๕๕๒
กรมศิลปากร
กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์(๒๕๓๗), ประเพณีชักพระ, กรมศิลปากร
กรุงเทพฯ,๒๕๓๗
ครอบครัว
หลาน เหลน โหลน คุณยายพยอม,กำเนิดประเพณีการทอดผ้าป่าของวัดท่าไทร
และของจังหวัดสุราษฎร์ธานี,
ไม่ปรากฏชื่อโรงพิมพ,์ ซึ่งพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานประเพณีชักพระทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.
จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี,
สูจิบัตรงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว ประจำปี ๒๕๔๖
จังหวัดสุราษฎร์ธานี, โรงพิมพ์สุวรรณอักษร, สุราษฎร์ธานี ๒๕๔๖
จันทร์ เขมจารี, พระมหา. ประวัติผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี,
(ฉบับพิมพ์แจกในพิธีฌาปนกิจศพ นางพยอม สารสิน), โรงพิมพ์พิมอำไพ, ถนชนเกษม
สุราษฎร์ธานี, ๒๕๑๑
นายพร้อม ถาวรสุข, สุนทรพจน์ในงานแห่พระประจำปีของจังหวัดสุราษฎร์ธานี,
๘ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานแห่พระประจำปี ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. ๒๔๙๓, โรงพิมพ์รัตนมีศรี, บ้านดอน สุราษฎร์ธานี, ๒๔๙๓
บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา, คู่มืออุบาสกอุบาสิกาวัดท่าไทร,
สุราษฎร์ธานี, ๒๕๔๐
บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี
วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี(พิมพ์ครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๘), โรงพิมพ์รัตนศิลป์การพิมพ์,
กรุงเทพฯ, ๒๕๕๘ (จัดพิมพ์ถวายโดย คณะลูก
หลาน เหลน โหลน ญาติมิตร ของนางพยอม
สารสิน(เริ่มก่อสกุล)
บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท
วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี(พิมพ์ครั้งที่ ๘/๒๕๕๘), สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร,
สุราษฎรธ์านี, ๒๕๕๘
บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,ประวัติพระครูดิตถารามคณาศัย(พลวงพ่อชม
คุณาราโม) วัดท่าไทร, สุราษฎร์ธานี, ๒๕๔๓
บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,ประวัติประเพณีทอดผ้าป่าวัดท่าไทร,
นสพ.กระแสข่าวทักษิณ ปีที่ ๑ ฉบับประจำเดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๗ หน้า ๑๒
คอลัมน์ศาสนา
ประเพณีไทย ฉบับพระมหาราชครู,กรุงเทพฯ,
โรงพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘
รัตน์ ยืนนาน, งานวิจัยเรื่องประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี,
วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี,๒๕๒๖
สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์,ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้,
กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.๒๕๔๘
สากล สุขสวัสกดิ์,ปริญญานิพนธ์
เรื่องศึกษาประเพณีลากพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,๒๕๓๗
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี.ชักพระ-ทอดผ้าป่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี,
โครงการมหัศจรรย์วัฒนธรรมศรีวิชัย ศิลป์ไทย ศิลป์ถิ่น ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี
๒๕๕๗ จังหวัดสุราษฎร์ธานี,๒๕๕๗
---------------------------
หมายเหตุ.-ปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด
วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๙
|