พระพุทธศาสนากับการพัฒนาชุมชน
โดย...


Image              สังคมไทยปัจจุบันมีปัญหามากมาย หาความสงบมิได้ ทั้งที่เป็นแดนแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่แท้จริงแล้วจะพบว่า มูลเหตุของปัญหามีจุดกำเนิดมาจากความเสื่อมทางจิตใจของคนในสังคม เป็นเพราะการขาดคุณธรรมประจำใจ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุด คือการทำให้คนในสังคม มีศีลธรรมประจำใจ การปลูกฝังศีลธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจได้ดังนั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยอยู่หลายประการข้อสำคัญที่สุดก็คือ “การมีแบบอย่างที่ดีของสังคม”การมีแบบอย่างที่ดีของสังคม หมายถึง คุณความดีที่คนไทยทุกคนสมควรนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ทั้งหมด มีอยู่แล้วใน “หลักพุทธธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา” (ธีรยุทธ พึ่งเทียร. 2541: 46)

              พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต) (2543) ได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนา เป็นหลักนำทางในการพัฒนา ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันนี้ ได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า การที่จะพัฒนาประเทศให้สำเร็จผลดีบรรลุจุดหมายที่ต้องการได้อย่างแท้จริงนั้น จะพัฒนาเพียงด้านวัตถุอย่างเดียวเท่านั้นไม่เพียงพอประสบการณ์ในการพัฒนา ตลอดเวลายาวนานที่ผ่านมา ได้สอนให้เป็นตระหนักว่า การมุ่งพัฒนาวัตถุภายนอกอย่างเดียวนั้น แม้จะระดมทุนลงไปอย่างมากมาย ก็ไม่ทำให้สังคมบรรลุความมั่งคั่งรุ่งเรืองและสันติสุขที่แท้จริงได้ ตามวัตถุประสงค์ กลับสร้างปัญหาอย่างมากมาย เช่น

              1. ปัญหาความยากจน ปรากฏว่ามีคนยากจนแร้นแค้นแผ่ขยายทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท การกระจายรายได้ของประชากรไม่ดำเนินไปด้วยดีฐานะทางเศรษฐกิจของคนกลับห่างไกลกันมากขึ้น

              2. ปัญหาด้านสุขภาพ ประชากรขาดแคลนแม้กระทั่งสาธารณสุขขั้นมูลฐาน เกิดโรคระบาดที่ร้ายแรง นอกจากสุขภาพทางกายไม่ดีแล้ว สุขภาพทางจิตก็เสื่อมโทรมลง ชีวิตคนในถิ่นที่เรียกว่าเจริญมีลักษณะสับสนวุ่นวาย คนมีทุกข์ใจมากขึ้น เป็นโรคจิตโรคประสาทมากขึ้น

              3. ปัญหาด้านการศึกษา ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาก็ยังอยู่ในภาวะสัมฤทธิ์ผลได้ยาก เกิดความล้มเหลวในการจัดการศึกษา ก่อให้เกิดปัญหามากมายในสังคม เช่น ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความไม่ซื่อตรง เป็นต้น

              4. ปัญหาทางการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยก้าวหน้าไปได้ไม่มากกว่าถอยหลัง

              5. ปัญหาด้านจริยธรรมคุณธรรม ผู้คนไม่มีระเบียบวินัย เข่น ระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนน อุบัติเหตุมีสถิติสูงอย่างน่ากลัวยิ่ง เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จนทำให้คนส่วนมากเกิดความหวาดกลัว อาชญากรรมยังแพร่หลาย คดีปล้น ฆ่า ข่มขืน ที่ร้ายแรงปรากฏขึ้นบ่อย เป็นต้น

              6. ปัญหาด้านวัฒนธรรม มีความเสื่อมโทรมทางด้านวัฒนธรรม มีค่านิยมที่ไม่พึงปรารถนาและไม่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น ค่านิยมบริโภคและความนิยมฟุ้งเฟ้อแผ่กระจายทั่วไป

              7. ปัญหาทางเพศและอบายมุข มีปัญหาทางเพศเพิ่มสูง มีอัตราคนถูกข่มขืนสูง อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น อบายมุขระบาดทั่วไป ทั้งในกรุงและชนบทประชากรฝากความหวังไว้กับการพนันในรูปแบบต่างๆและหมกมุ่นจนยากที่จะแก้ไขเยาวชนมากมายทำลายอนาคตของตนเองและก่อปัญหาแก่สังคมโดยเป็นผลสืบเนื่องจากการติดยาเสพติด

              8. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทวีสูงขึ้น ป่าไม้ถูกทำลายไปมาก ต้นน้ำลำธารร่อยหรอลง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แผ่นดินแห้งแล้ง ทำให้ทำการเกษตรยากลำบากมากขึ้น ส่งผลต่อความยากกจนแร้นแค้นยิ่งขึ้นไปอีก ประสบปัญหาทางการตลาด มีการเอารัดเอาเปรียบกันมาก เกิดมลภาวะทั้งในดิน ในน้ำ และท้องฟ้า คุกคามต่อชีวิตแบะสุขภาพของประชากรทั่วทุกคน
บทเรียนจาการพัฒนาสอนให้รู้ว่า การพัฒนาจะต้องดำเนินไปอย่างรอบด้านและอย่างทั่วถึง ไม่ใช่มุ่งพัฒนาแต่เพียงด้านวัตถุอย่างเดียว

              โดยเฉพาะตัวคนซึ่งเป็นผู้ร่วมในกระบวนการพัฒนาและได้รับผลจากการพัฒนาโดยตรง จะต้องได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี และในการพัฒนาคนนั้นส่วนสำคัญที่สุดก็คือ จิตใจ ดังนั้นในยุคปัจจุบัน งานพัฒนาจึงหันมาให้ความสนใจแก่การพัฒนาจิตใจมากขึ้น การพัฒนาจิตใจนั้น รวมถึงการพัฒนา คุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนสุขภาพจิตโดยทั่วไป การพัฒนาจิตใจ ตลอดจนการพัฒนาคนนั้นเป็นหน้าที่หลักของพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติมาโดยตลอด

              โดยเฉพาะในอดีตและแม้ปัจจุบัน ในชนบทหลายแห่งพระสงฆ์ได้เป็นผู้นำในการพัฒนา และวัดได้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพราะพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ และปัญญาของชุมชน และวัดก็เป็นศูนย์กลางของชุมชน เริ่มแต่บทบาทสำคัญที่สุด คือ เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน โดยมีพระสงฆ์เป็นครู-อาจารย์ ศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ พัฒนาขึ้นในวัด หรืออกไปจากวัด เมื่อไปอยู่ในชุมชนก็ใช้ความรู้วิชาการอื่น ๆ ที่ไดศึกษาจากวัดนั้น เป็นเครื่องนำครอบครัวและชุมชน ในการดำเนินขีวิตและประกอบอาชีพการงานให้เจริญก้าวหน้าและอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุขควรแก่ความประพฤติปฏิบัติ

              ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกแพร่หลายเข้ามา และระบบการต่างๆ แบบตะวันตกได้รับการยอมรับ และแนวทางการพัฒนาก็เปลี่ยนแปลงไป วัดก็เหินห่างออกไปจากกระบวนการพัฒนาตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อการพัฒนามุ่งเน้นด้านวัตถุ บทบาทของวัด พระสงฆ์และพระพุทธศาสนาก็ยิ่งลางเลือนลง เหลือแต่บทบาทในด้านการเอื้อต่องานพัฒนา เช่น อำนวยสถานที่และอุปกรณ์ของวัด การให้กำลังใจและคำกล่าวสอนสนับสนุนในคราวชุมนุมอย่างมีพิธีกรรม เป็นต้น

Image               ครั้นมาถึงปัจจุบัน เมื่อแนวโน้มของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอีก โดยหันมาเน้นการพัฒนาจิตใจและการพัฒนาด้านคนมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่วัดและพระสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาทั้งหมด จะได้รื้อฟื้นบทบาทในการพัฒนาและบทบาทของผู้นำในการพัฒนาขึ้นใหม่ โดยปรับตัวปรับวิธีการและปรับบทบาทนั้นให้เข้ากับสภาพปัจจุบันการที่จะนำทางพัฒนาและรับบทบาทต่างๆ ในการพัฒนาให้ได้ผลดี จะต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทที่เหมาะสม และขอบเขตของการดำเนินบทบาทของวัดและพระสงฆ์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องมีหลักธรรมนำทาง สำหรับชี้แนวทางของการพัฒนาอย่างชัดเจน หลักธรรมในการพัฒนาได้แก่ ภาวนา 4 คือ

              1. กายภาวนา แปลว่า พัฒนากาย ได้แก่ การพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ไร้โรค มีสุขภาพดี และที่สำคัญก็คือ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เริ่มแต่ปัจจัย 4 เป็นต้นไป อย่างถูกต้องดีงาม ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ เช่น สัมพันธ์กับอาหาร โดยการกินเพื่อช่วยให้ร่างกายมีกำลัง มีสุขภาพดี ไม่ใช่เพื่อมุ่งความอร่อย อวดโก้ แสดงฐานะ สัมพันธ์กับโทรทัศน์ โดยดูเพื่อติดตามข่าวสาร แสวงหาความรู้ ส่งเสริมปัญญา มิใช่เพื่อหมกมุ่นในความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอาเป็นเครื่องมือเล่นการพนัน เป็นต้น

              2. ศีลภาวนา แปลว่า พัฒนาศีล หมายถึง การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมให้เป็นไปด้วยดี เริ่มแต่ไม่ก่อการเบียดเบียน ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและสังคม ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่นต่อสังคม มีระเบียบวินัย ประกอบสัมมาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ฝึกฝนอบรมกายวาจาของตนให้ประณีต ปราศจากโทษ ก่อคุณประโยชน์และเป็นเครื่องสนับสนุนการฝึกอบรมจิตใจยิ่งขึ้นไป

              3. จิตภาวนา แปลว่า พัฒนาจิต คือ พัฒนาจิตใจให้มีคุณสมบัติงามพรั่งพร้อม ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้ คือ
                  3.1 คุณภาพจิต คือให้มีคุณธรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม เป็นผู้มีจิตใจสูง ละเอียดอ่อน เช่น มีเมตตา มีความรัก ความเป็นมิตร มีกรุณา อยากช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่น มีจาคะ คือมีน้ำใจสูง ละเอียดอ่อน เช่น มีเมตตา มีความรัก ความเป็นมิตร มีกรุณา อยากช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่น มีจาคะ คือมีน้ำใจเผื่อแผ่ มีคารวะ มีความกตัญญู เป็นต้น
                  3.2 สมรรถภาพจิต คือ ให้เป็นจิตที่มีความสามารถ เช่น มีสติ มีวิริยะ คือ ความเพียร มีขันติ คือความอดทน มีสมาธิ คือจิตตั้งมั่นแน่วแน่ มีสัจจะ คือ ความจริงจัง มีอธิฐาน คือ ความเด็ดเดี่ยวแน่นอนต่อจุดมุ่งหมาย เป็นจิตใจที่พร้อมและเหมาะที่จะใช้งานโดยเฉพาะงานทางปัญญา คือ การคิดพิจารณาให้เห็นความจริงแจ่มแจ้งชัดเจน

              4. ปัญญาภาวนา แปลว่า พัฒนาปัญญา คือ พัฒนาความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง และใช้ความรู้แก้ปัญหา ทำให้เกิดสุขได้ เริ่มแต่รู้ เข้าใจศิลปวิทยา เรียนรู้ถูกต้องตามเป็นจริง ไม่บิดเบือนหรือเอนเอียงด้วยอคติ (ความลำเอียง) คิดวินิจฉัยใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ รู้เข้าใจโลกและชีวิตามเป็นจริง รู้จักแก้ไขปัญหาและทำการให้สำเร็จตามแนวทางของเหตุปัจจัย ตลอดจนรู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร ถึงขั้นที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้นเชิง

              นอกจากกระบวนการพัฒนาจิตใจหรือพัฒนาคนดังที่กล่าวมาแล้ว ประเวศ วะสี(2540:71-82) ได้กล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์และวัด โดยสังเขป คือ
              1. สงฆ์ต้องเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้เพื่อให้พระสงฆ์อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน มีการพบปะกันเป็นประจำ ไม่ปลีกตัวอยู่ผู้เดียว มีความเอื้ออาทรต่อกันมีวิธีพูดจาปฏิบัติต่อกันที่ยังความเป็นปึกแผ่นของหมู่คณะ วัตถุประสงค์ของการบวช คือ เพื่อการเรียนรู้ ฉะนั้นสงฆ์คือชุมชนแห่งการเรียนรู้
การเรียนรู้หรือการศึกษา (สิกขา) นั้นก็ทรงวางไว้เป็นหลักแล้วว่า ประกอบด้วย ศีลลิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา ซึ่งสงฆ์ควรปฏิบัติให้ครบถ้วนในสิกขาทั้ง 3

              นอกจากนั้น ในสังคมปัจจุบัน การเรียนรู้ของสงฆ์ควรจะเรียนรู้ใน 3 เรื่องใหญ่ คือ
                  1.1 เรียนรู้พุทธธรรม ให้ลึกซึ้งที่สุดทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ
                  1.2 เรียนรู้สังคมปัจจุบันให้รู้เท่าทันสังคมปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการสอน
                  1.3 เรียนรู้การติดต่อสื่อสาร ให้เป็นที่สนใจของผู้คน ให้จับใจผู้คน ให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือที่เรียกว่ามีอนุสานีปาฏิหาริย์นั่นเอง ในข้อนี้รวมทั้งการใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ด้วย
              2. การศึกษาของพระสงฆ์ การศึกษาของพระสงฆ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งควรที่จะเป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาล ในแผนการศึกษาแห่งชาติ มีการคิดหลักสูตรสำหรับการศึกษาของคณะสงฆ์

              3. การทำวัดให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ความสำคัญสูงสุดของวัดคือ การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพราะถ้าเป็นดังนี้ ก็เท่ากับวัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งความสำคัญทีสุดต่อการบังเกิดขึ้นของศีลธรรมในสังคมดังกล่าวแล้ว พระสงฆ์จะต้องเป็นผู้นำชุมชนด้วยการปรึกษาหารือ การสั่งสอนและที่สำคัญก็คือสั่งสอนให้ประชาชนเรียนรู้จากการวิเคราะห์ปัญหา วินิจฉัยปัญหา วิเคราะห์ทางเลือกและตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง ซึ่งการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งนั้นจะต้องอาศัยสมาชิกในชุมชน เช่น พระ ครู ผู้นำชาวบ้าน หมออนามัย เกษตรตำบล พัฒนาการตำบล เป็นต้น ร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งเมื่อชุมชนเข้มแข็งก็ย่อมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมืองพร้อมกันไป

              4. วัดกับการจัดการศึกษา การศึกษาโดยทั่วไปของไทยยังไม่เป็นการศึกษาที่ผลิตคนที่มีความเข้มแข็งทางปัญญาและทางศีลธรรม โดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสุขกับผู้เรียน การศึกษากำลังรอการปฏิรูปให้เกิดการะบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาคนให้เต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ วัดบางวัดที่มีความพร้อมโดยมีพระสงฆ์ที่สนใจและมีความสามารถควรจะจัดให้มีโรงเรียน โดยพยายามคิดหลักสูตรที่ดีที่สุดควรเป็นอย่างไร แสวงหาคำตอบต่อคำถามนี้ ปรับปรุงให้ดีขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง วัดก็สามารถทำประโยชน์ที่สำคัญต่อสังคมอย่างยิ่ง

              5. พระสงฆ์กับการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ขณะนี้ความรุนแรงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก พระสงฆ์ควรศึกษาให้เข้าใจถึงความหมายของความรุนแรง ขอบเขต ประเภท สาเหตุ วิธีการป้องกันและแก้ไข จะแก้ไขด้วยวิธีใดที่ได้ผลและจะพัฒนาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น ดังนั้นพระสงฆ์จะต้อง “การจัดการการแก้ความขัดแย้ง” ที่จะเป็นผู้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยเข้าใจสถานการณ์ตามที่เป็นจริง เข้าไปอยู่ในใจและเข้าใจความรู้สึกและความคิดของแต่ละฝ่าย สามารถชักจูงให้มีการเจรจากันได้ เหล่านี้ต้องการความรู้และต้องการการฝึกอบรมให้มีความชำนาญ จึงจะสามารถแก้ความขัดแย้งด้วนสันติวิธีได้

              6. วัดกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดต่ดความอยู่รอดของมนุษยชาติ กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นกระแสใหญ่ของโลกและจะใหญ่มากขึ้น จะใหญ่จนดึงปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเชื่อมโยง จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ศาสนาจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ที่ดีที่สุดคือพระสงฆ์พยายามศึกษาให้เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิธีแก้ไข และในด้านปฏิบัติที่ใกล้ตัวที่สุดคือภายในบริเวณวัดต้องมีสิ่งแวดล้อมที่สงบ สะอาด ร่มเย็น เป็นต้น นอกจากนี้พระสงฆ์และวัดยังอาจหนุนช่วยขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่กำลังมีกิจกรรมต่างๆ ในทางที่เหมาะสมแก่สมณสารูป

              7. การบริหารจัดการวัด พระสงฆ์จะต้องบริหารจัดการวัด โดยให้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมตามอุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนาโดยความร่วมมือกันระหว่างพระสงฆ์กับชุมชน เป็นต้น

 

ที่มา.- http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m2/Unit7/unit7-1.php


**************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร