เมื่อกล่าวถึงบทบาท(Role)ของพระสงฆ์ในสังคมไทยเราด้วยแล้วเราจะเห็นได้ชัดเจนมาก
เพราะสังคมไทย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงตายจะมีความเกี่ยวข้องกับบทบาทของพระสงฆ์ตลอด
อย่างงานแต่งงานก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาในงานแต่งด้วย พอเกิดก็ต้องนิมนต์พระมาในงานวันเกิด
หรือใส่บาตรทำบุญวันเกิด เจ็บป่วยก็ไปหาพระทำบุญ และบางแห่งพระอาจเป็นหมอกลางบ้าน
เป็นเจ้าของตำราหมอยาพื้นบ้าน ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน บทบาทก็มีความชัดเจนมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงข้อเสนอ (Suggestion)
ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป แต่เป็นเพียงแนวคิดของบุคคลหนึ่ง ที่มีความสนใจในงานของพระสงฆ์
ในบทบาทของพระสงฆ์ และพยายามที่จะผลักดันบทบาทของพระสงฆ์ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
และให้สังคมมองเห็นประโยชน์นั้นเด่นชัดมากขึ้น
ประเด็นที่ควรพิจารณา เพื่อกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการทำงานพัฒนา
๑. พระสงฆ์
คือใคร..?
คือผู้ซึ่งสละแล้วซึ่งสภาวะความเป็นปัจเจกภาวะ แต่มีชีวิตเพื่อสังฆภาวะ
เพื่อชุมชน มีจิตวิญญาณเพื่อชุมชน ต้องมีความรู้สึกที่เป็นชุมชน (Community)
เพราะชีวิตต้องมีความเกี่ยวข้อง มีการติดต่อสื่อสาร(Communication)
กันตลอดเวลา ยิ่งในสมัยโบราณด้วยแล้ว วัดหรือพระสงฆ์กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนไปในคัว
วัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ของชุมชน มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็มาประชุมกันที่วัด
มาร่วมกิจกรรมทางศาสนา เช่นมาทำบุญใส่บาตรที่วัด ในวันสำคัญทางศาสนา
คือวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันสำคัญอื่นๆ
และวันที่มีการประชุมเรื่องราวที่ทางราชการให้ผู้นำหมู่บ้านอย่างกำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้รับเรื่องราวข่าวสารจากทางราชการมาก็มาประชุมกันที่วัด
บทบาทเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่หรือไม่ ภาวะผู้นำชุมชนของพระสงฆ์สูญหายไปไหน
? ประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่น่าศึกษาสืบค้นทั้งสิ้น
๒. พระสงฆ์มาจากไหน..?
มาจากลูกชาวบ้าน ในประเด็นนี้ที่มาของพระสงฆ์จะมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก
เพราะสมัยก่อนผู้ที่ได้โอกาสที่จะบวชเป็นพระเป็นเณรนั้น ต้องเป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมมาก่อน
อย่างสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ เป็นต้นมา บุคคลผู้มาบวชนั้นต้องเป็นผู้มีสถานภาพที่สูงของสังคมและเมื่อลาสึกขาออกไป
ต้องไปเป็นนักปกครอง นักบริหารบ้านเมือง แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและด้อยโอกาสทางการศึกษา
๓. ดำรงความเป็นอยู่ได้อย่างไร
..?
เรามีชีวิตความเป็นอยู่เพราะอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ ในประเด็นนี้ต้องสำนึกตระหนัก
เตือนตัวเราอยู่เสมอว่าเราจะช่วยชาวบ้านเขาอย่างไร ให้ตระหนักไว้เพื่อเป็นฐานในการคิด
สภาวะชุมชนไทยในปัจจุบัน
หลังจากเมืองไทยเราได้นำแนวคิดพัฒนามาจากคำว่า (Development) ซึ่งเป็นตะวันตกมาใช้เป็นฐานในการพัฒนา
มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน (Complexity) ในด้านของเงื่อนไข เหตุปัจจัย
หากไม่มีการศึกษาเรียนรู้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเหตุปัจจัย ในเงื่อนไขให้รู้เท่าทันแล้ว
คงยากที่แก้ปัญหาของสังคมของชุมชน อย่างที่เคยนำไปบรรยายในหลายๆ ที่ว่าในสังคมเรามีปัญหา
โดยได้กล่าวให้มีคำพูดที่สัมผัส เพื่อให้จำง่าย แต่ไม่ได้หมายถึงเรียงความสำคัญก่อนหลัง
เช่น
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
- ปัญหาเศรษฐกิจระบม
- ปัญหาสังคมล่มสลาย
- ปัญหาการศึกษาสับสนวุ่นวาย
- ปัญหาการพัฒนาที่เลื่อนลอย
- ปัญหาค่านิยมแบบรอคอยบริโภค
ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาหลักของสังคมไทยเรา ที่รอคอยการแก้ไขอย่างถูกต้องและจริงจัง
แม้จะแก้ไขถูกต้อง แต่ถ้าขาดความจริงจังก็แก้ไขไม่ได้ และต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบจึงจะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
เพราะความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการรับเอากระแสโลกาภิวัตน์ที่ขาดภูมิคุ้มกัน
สิ่งที่พัดพาไหลบ่ามา คือ ข่าวสารข้อมูล (Information) เมื่อประชาชนของเราที่บริโภคข่าวสารข้อมูลที่ขาดภูมิคุ้มกันที่ดี
คือขาดความรู้เท่าทันกับข่าวสารข้อมูล เมื่อขาดความรู้เท่าทัน ก็กลายเป็นการหลงข่าวสารข้อมูล
ไม่ได้เสพข่าวสารข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ แต่เสพเพื่อเพิ่มความหลงความมัวเมา
บทบาทหลักของพระสงฆ์
หากจะมองจากบทบาทหลักของพระสงฆ์ โดยที่เริ่มจากบทบาทภายในของคณะสงฆ์เอง
แล้วส่งผลต่อสังคม ต่อชุมชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น อันได้แก่
- ด้านการปกครอง
- ด้านการศาสนศึกษา
- ด้านการเผยแผ่
- ด้านการศึกษาสงเคราะห์
- ด้านสาธารณูปการและ
- ด้านสาธารณะสงเคราะห์
มองจากบทบาทด้านการปกครอง
ในส่วนของบทบาทด้านนี้โดยมองจากการปกครองภายในของพระสงฆ์เอง เป็นการปกครองในเชิงของธรรมาภิบาล
คือ
ดูแลกันโดยธรรม ปกครองกันแบบพ่อปกครองลูก อาจารย์ปกครองศิษย์ ดังปรากฏตัวอย่างที่เป็นต้นแบบให้เห็นชัดเจน
คือ หน้าที่ของสัทธิวิหาริกที่จะพึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์ และหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์จะพึงปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก
ตรัสสั่งให้พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก ตั้งจิตสนิทสนมในกันและกัน
ให้พระอุปัชฌาย์สำคัญสัทธิวิหาริกฉันบุตร ให้สัทธิวิหาริกนับถือพระอุปัชฌาย์ฉันบิดา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างจะมีความเคารพเชื่อฟังกันและกัน ย่อมถึงซึ่งความเจริญงอกงามในธรรม
ตรัสสั่งให้พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกให้เอื้อเฟื้อประพฤติชอบต่อกัน
หน้าที่ของสัทธิวิหาริกจะพึงกระทำต่อพระอุปัชฌาย์เรียกว่า อุปัชฌายวัตร
และหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์จะพึงปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก เรียกว่าสัทธิวิหาริกวัตรและ
อาจาริยวัตร หน้าที่ของศิษย์ที่จะพึงปฏิบัติต่ออาจารย์ อันเตวาสิกวัตรหน้าที่ของอาจารย์จะพึงปฏิบัติต่อศิษย์
ทั้งสองฝ่ายต่างก็เอื้ออาทรต่อกัน มีไมตรีจิตต่อกัน (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. ๒๕๓๕, หน้า ๔๓)
ประเด็นที่สำคัญของการปกครองของพระสงฆ์นั้น จะต้องปกครองเพื่อให้เกิดการศึกษาได้สะดวก
ที่เรียกว่า สัปปายะ การปกครองที่ดีที่เป็นไปตามพระธรรมวินัยต้องให้เกิด
ธรรมสัปปายะ คือ ให้สะดวกแก่การศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม คือการปกครองต้องให้เอื้อต่อการศึกษา
ปกครองเพื่อให้เกิดการศึกษา เมื่อการศึกษาดี การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นได้แล้วก็จะทำให้การปกครองง่ายขึ้น
สะดวกขึ้น บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการปกครองนี้ นอกจากจะมีความสงบสุข
มีความสันติสุขในหมู่ของพระสงฆ์เองแล้ว ยังสามารถเป็นต้นแบบของการปกครองได้เป็นอย่างดีด้วย
บทบาทด้านการศึกษาและการศึกษาสงเคราะห์
ในบทบาทด้านการศึกษานี้ หากจะมองบทบาทของพระสงฆ์ โดยมองจากพื้นฐานอันเป็นแก่นแท้ของคำสอนแล้ว
ผู้เข้าสู่มรรคาแห่งสมณเพศ นั่นคือเข้าสู่สังคมสงฆ์ หมายถึงเข้าสู่วิถีแห่งการศึกษาและแท้จริงแล้ววิถีชีวิตของชาวพุทธ
ก็คือวิถีชีวิตของผู้ต้องศึกษาทั้งสิ้น เพราะตราบใดที่ยังไม่บรรลุมรรคผลสำเสร็จเป็นพระอรหันต์
นั่นหมายถึงยังต้องเป็นผู้ที่ต้องศึกษา ที่เรียกว่ายังเป็นพระเสขะบุคคล
คือยังต้องศึกษาอยู่และสิ่งที่พระสงฆ์ ซึ่งรวมไปถึงชาวพุทธทั้งหมดด้วย
ที่จะต้องศึกษา คือยึดเป็นหลักสูตรที่ต้องศึกษาก็เรียกว่าไตรสิกขา
อันได้แก่
๑. ศีลสิกขา
ในด้านของศีลสิกขาคือต้องศึกษาในเรื่องศีล อันได้แก่เจตนาที่จะงดเว้นไม่ละเมิดข้อห้ามด้านกาย
ด้านวาจา ให้รักษาความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์ผู้ซึ่งมีใจสูง หรือ
อาจกล่าวได้ว่าในด้านนี้เป็นการพัฒนาในเรื่องของพฤติกรรม โดยมีส่วนสำคัญที่ควรเน้น
คือ
๑. พฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือโลกแห่งวัตถุ
หรืออาจกล่าวว่าเป็นการรู้จักใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ในการรับรู้โดยไม่เกิดผลเสียหรือเกิดโทษ แต่ให้เกิดผลดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิต
และการฝึกอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน ให้ตาดูเป็น ให้หูฟังเป็น
ฯ อยู่ในหลักของอินทรีย์สังวร นั่นเอง
การเสพ การบริโภคปัจจัย ๔ การใช้ประโยชน์จากวัตถุ จากอุปกรณ์ต่างๆ
รวมทั้งเทคโนโลยีด้วย ปัญญาที่รู้เข้าใจมุ่งคุณค่าที่แท้จริง ให้ได้คุณภาพชีวิต
ไม่หลงไปกับคุณค่าเทียมตามค่านิยมที่ผิด ๆ อันเป็นค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อโก้เก๋
ที่ทำให้บริโภคมาก แต่เสียคุณภาพชีวิต เรียกง่ายๆ ว่า กินเป็น บริโภคเป็น
ใช้เป็น เริ่มด้วยการกินพอดี อันเป็นการปฏิบัติตามหลักของ โภชเนมัตตัญญุตา
๒. พฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมและโลกแห่งชีวิต เช่น
การอยู่ร่วมกันในทางสังคม โดยไม่เบียดเบียน ก่อความทุกข์ความเดือดร้อน
หรือก่อเวรภัย แต่รู้จักมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์อย่างช่วยเหลือเกื้อกูล
ดำรงตนอยู่ในกรอบของศีล ตำเนินชีวิตตามหลักของศีล
ให้ความร่วมมือกับการรักษากติกาของสังคม กฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ระเบียบ
แบบแผน หรือวินัยแม่บทของชุมชนหรือสังคมของตน และวัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่าจรรยาบรรณต่างๆ
และรู้จักแบ่งปัน การเผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือ ตามหลักของการให้ทาน
เพื่อช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ให้ความสุข และส่งเสริมการสร้างสรรค์
สิ่งที่ดีงาม ตลอดจนการประพฤติเกื้อกูลแก่ชีวิตอื่นๆ ทั้งสัตว์มนุษย์และพืชพันธุ์
เช่น การร่วมสร้างเขตอภัยทาน นิวาปสถาน การปลูกสวนป่า สร้างแหล่งต้นน้ำ
๓. พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การเลี้ยงชีพอย่างมีศิลปวิทยาในวิชาชีพที่ฝึกไว้อย่างดี
มีความชำนาญที่จะปฏิบัติให้ได้ผลดีและเป็นสัมมาอาชีพ ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญ
คือ ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือก่อผลเสียหายแก่สังคม
หากแต่เป็นเครื่องแก้ปัญหาของชีวิตและแก้ปัญหาของสังคม มีชีวิตที่เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์
ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของตน ไม่ทำให้ชีวิตตกต่ำ
หรือทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือเสื่อมจากคุณความดีในภาวะแห่งตน
๒. จิตสิกขา
ในด้านของจิตสิกขาคือศึกษาในเรื่องจิต เรียนรู้เรื่องจิต ให้เข้าใจธรรมชาติของจิต
การทำงานของจิต รู้วิธีการพัฒนาจิต เพื่อให้สงบตั้งมั่น เป็นสมาธิพร้อมที่จะทำกิจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านการพัฒนาจิต หรือที่เรียกว่าสมาธิ แยกได้ดังนี้
๑. ด้านคุณภาพจิต ได้แก่คุณธรรมความดีงามต่างๆ เช่น เมตตา กรุณา กตัญญูกตเวที
คารวะ หิริโอตตัปปะ ฯ ซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจให้เจริญงอกงาม และเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่ดีงาม
๒. ด้านสมรรถภาพจิต ได้แก่ความสามารถของจิต ที่เข้มแข็ง มั่นคงหรือความมีประสิทธิภาพของจิต
เช่น มีฉันทะ ความใฝ่รู้ใฝ่ดีงาม ใฝ่กระทำ จิตมีความเพียร ความขยัน
ความอดทน มีความระลึกได้ รู้ตัวทั่วพร้อมเท่าทัน ตื่นตัวอยู่เสมอ สามารถควบคุมตัวเองได้
มีความตั้งมั่นแน่วแน่ ใส สงบ เป็นสมาธิ รวมไปถึงความไม่ประมาท ที่จะทำให้ก้าวหน้ามั่นคงในพฤติกรรมที่ดีงาม
หรือตั้งมั่นในความดีงามและพร้อมที่จะใช้ปัญญาในการใช้ชีวิตและประกอบกิจหน้าที่
๓. ด้านสุขภาพจิต ได้แก่สภาพจิตที่ปราศจากความขุ่นมัวเศร้าหมอง เร่าร้อน
หากแต่มีความสดชื่น เอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย ผ่องใส เป็นสุข
ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย และทำให้พฤติกรรมที่ดีงามมีความมั่นคง สอดคล้องกลมกลืน
หรืออยู่ในภาวะที่สมดุล
๓. ปัญญาสิกขา
ในด้านปัญญาสิกขาคือศึกษาในเรื่องปัญญา พัฒนาด้านปัญญา ในการพัฒนาด้านปัญญานี้จะมีการพัฒนาอยู่หลายระดับ
เช่น
๑. ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา หรือที่เล่าเรียนมาและรับการถ่ายทอดศิลปวิทยาการ
ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
๒. การรับรู้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามเป็นจริง
ไม่บิดเบือน หรืออคติด้วยความรัก ความชัง และเพราะความกลัว
๓. การคิดพินิจพิจารณาวินิจฉัยอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยการใช้ปัญญาที่บริสุทธิ์อิสระไม่ถูกกิเลส
เช่น ความอยากได้ผลประโยชน์ และความเกลียดชังเข้าครอบงำ
๔. การรู้จักมอง รู้จักคิด มีหลักการคิด มีวิธีคิดที่จะเข้าถึงความจริง
และได้คุณประโยชน์ มีโยนิโสมนสิการ อย่างที่เรียกว่ามองเป็น คิดเป็น
เช่น รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ สืบสาวหาเหตุปัจจัยของสิ่งเกิดขึ้น ดำรงตั้งอยู่และแปรเปลี่ยนสภาวะไป
๕. การรู้จักจัดการ ดำเนินการ ทำกิจให้สำเร็จ ฉลาดในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย
๖. มีความสามารถในการแสวงหา เลือกคัดจัดสรรประมวลความรู้ คิดได้ชัดเจน
และสามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยมสร้างเป็นเครือข่ายความรู้และสร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์
๗. มีความรู้แจ้งเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต รู้เท่าทันกับธรรมดา
หรือกับธรรมชาติทั้งหลาย ที่ทำให้วางใจถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแก้ปัญหาชีวิต
ขจัดความทุกข์ในจิตใจของตนเองได้ หลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งทั้งหลาย
จิตไม่ถูกบีบคั้นครอบงำกระทบกระทั่งด้วยความผันผวนปรวนแปรของสิ่งต่างๆ
หลุดพ้นเป็นอิสระ อยู่เหนือกระแสโลก
หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญญา ๒ ด้านที่สำคัญ คือปัญญาเข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาต
ิและปัญญาที่สามารถใช้ความรู้นั้น จัดตั้งวางระบบแบบแผนของการดำเนินชีวิตได้
และสังคมของมนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุดจากความจริงนั้น (พระธรรมปิฎก,
ป.อ. ปยุตฺโต. ๒๕๓๙, หน้า ๑๒๑)
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วเราจะเห็นได้ว่า หน้าที่โดยตรงของการศึกษานั้นเป็นตัวแก้ปัญหา
ถ้าการศึกษาผิดพลาด กลายเป็นตัวก่อปัญหา เราก็ต้องมาแก้ไขปัญหาที่ตัวการศึกษา
เพื่อให้ได้การศึกษาที่ถูกต้อง ให้เป็นการศึกษาที่แท้จริงที่จะเป็นตัวแก้ปัญหา
(พระธรรมปิฎก, ป.อ. ปยุตฺโต. ๒๕๔๒, หน้า ๔) ยิ่งตอนนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
เป็นผู้จัดทำหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อใช้สอนวิชาพระพุทธศาสนา
ในหลักสูตรการศึกษาของชาติ และจัดเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนาเข้าสอนบูรณาการใน
๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ (๘ กลุ่มวิชา) ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คือจาก ประถมศึกษาปี่ที่ ๑ ถึง มัธยมศึกษาปีที่ ๖ เราเคยท้วงติงเขาพอเอาเข้าจริงๆ
เรามีความสามารถทำได้หรือไม่ งานนี้กำลังท้าทายมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
อยู่ในขณะนี้
บทบาทของพระสงฆ์ด้านการศึกษาสงเคราะห์
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ให้ความอนุเคราะห์ในด้านการศึกษา
ทั้งส่วนที่จัดการศึกษาเองโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ทางรัฐบาลไม่สามารถจัดการศึกษาบริการได้ทั่วถึง
อันได้แก่ กลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสทางสังคม ด้อยโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ
เป็นเหตุให้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ก็ได้อาศัยพระสงฆ์ให้การศึกษา ในขณะที่ศึกษาก็ไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล
แต่ใช้ทุนจากประชาชนโดยตรง ทั้งที่อยู่อาศัย อาหารและในการใช้จ่าย
แม้จะมีส่วนหนึ่งที่เรียนจบแล้ว ที่ทางฝ่ายคณะสงฆ์ยังไม่ได้ใช้งาน
แล้วท่านเหล่านั้นลาสมณเพศออกไปก็ไปทำงานให้ทางรัฐบาล โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุน
หากมองอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ได้ช่วยเหลือสงเคราะห์รัฐบาลด้วย
ไม่เพียงแต่ได้ช่วยอนุเคราะห์กับประชาชนกลุ่มที่ด้อยโอกาสเพียงฝ่ายเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของพระสงฆ์ในการศึกษาสงเคราะห์นี้ อาจมองได้ทั้งที่เป็นระบบ
คือจัดตั้งโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอน
มีหลักสูตรที่แน่นอน และอีกที่จัดอย่างไม่เป็นระบบ อาจเป็นลักษณะการให้ทุนสนับสนุนการศึกษา
การให้ทุนในสร้างอาคารเรียน ให้ทุนซื้อสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ทางการศึกษา
ให้ทุนการศึกษากับครูเพื่อพัฒนาครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์
ฯลฯ
บทบาทด้านการเผยแผ่
บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการเผยแผ่ แท้จริงแล้วบทบาทด้านนี้ พระสงฆ์ทุกรูปได้รับมอบหมายจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง
เพราะหน้าที่ของพุทธสาวก คือมีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้คำสอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
แล้วปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้นแล้วต้องสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามด้วย
นี่จึงได้ชื่อว่าพระสงฆ์สาวก
การให้การอบรม การสอน การเผยแผ่เป็นหน้าที่หลักของพระสงฆ์ที่สำคัญ
ที่พระสงฆ์ปฏิบัติมาเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งที่เรียกว่าการเทศน์ แสดงธรรม
หรือการปาฐกถาก็ตาม ซึ่งประชาชนทั่วไปให้ความเคารพและสนใจที่จะฟังสาระที่พระสงฆ์เป็นผู้ให้อยู่แล้ว
และนับเป็นการศึกษาที่เข้าถึงประชาชนชาวบ้านได้อย่างกว้างขวาง ส่วนในเนื้อหาสาระที่พระสงฆ์ให้แก่ประชาชนจะแตกต่างกันตามโอกาสและวาระต่างๆ
แต่สิ่งที่เป็นธรรมะหรือคำสอนที่เป็นพระพุทธศาสนาที่นับได้ว่าเป็นสาระในพระพุทธศาสนานั้น
เป็นเนื้อหาที่เป็นความจริงที่มีอยู่ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะแท้ที่จริงแล้ว
คำว่า "ธรรม"นั้นก็คือ "ธรรมชาติ" นั่นเอง (รศ.ดร.วินัย
วีระวัฒนานนท์. ๒๕๓๘, หน้า ๑๖๘)
บทบาทด้านการเผยแผ่ที่เป็นปกติจนประชาชนมองเป็นวิถีชีวิตหรือเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์
ก็คือการแสดงธรรมในวันพระ ในเทศกาลวันสำคัญ พระสงฆ์ได้โอกาสในการแสดงธรรมการเผยแผ่ธรรมอยู่เป็นปกติ
และในรูปแบบที่ไม่เป็นรูปแบบ กล่าวคืออาจจะใช้วิธีการพูดคุยสนทนาในโอกาสพบปะ
จะเป็นการเผยแผ่โดยไม่เป็นกิจลักษณะ แต่ก็แฝงด้วยให้ข้อคิดทางธรรม
หรือในโอกาสที่ประชาชนมาทำบุญวันเกิดแล้วขอพรจากพระสงฆ์ มาถวายสังฆทานแล้วพระสงฆ์ก็ให้พร
ในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นการสอนโดยที่ผู้รับไม่รู้ว่าถูกสอน แต่ได้ซึมซับเอาคำสอน
เอาคติธรรม ได้เกิดการเรียนรู้พระธรรมคำสอน หากพระสงฆ์สำนึกตระหนักในบทบาทเหล่านี้อย่างจริงจัง
พระสงฆ์จะมีโอกาสในการเผยแผ่ธรรมและได้เข้าถึงประชาชนโดยไม่ยากเลย
และไม่ต้องรอเทศกาลสำคัญใดๆ ทั้งสิ้น ในความเห็นส่วนตัวแล้วรูปแบบโอกาสใดไม่สำคัญ
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ผู้ฟังเกิดการเรียนรู้ (Learning) จุดที่ต้องการคือให้ผู้ฟังได้เกิดการเรียนรู้จะให้ใครเป็นศูนย์กลางก็แล้วแต่อยากจะกล่าวด้วยว่าขอให้การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง
(Learning Center) อันเป็นจุดที่ต้องการให้เกิดกับผู้ฟัง ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแห่งพฤติกรรมของคน
ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ให้เขาเรียนรู้ในด้านใด
บทบาทด้านสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์
บทบาทด้านนี้ของพระสงฆ์หากพูดไปแล้วนับว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะต้องคำนึงถึงความเป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย
ความเป็นพระพุทธศาสนาอยู่ในทีด้วย เพราะสร้างวัด สร้างศาสนวัตถุต้องให้เป็นเอกลักษณ์ที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นพุทธ
คำว่าความเป็นพุทธกับความเป็นไทยนั้นหมายถึงสิ่งเดียวกันเพราะความเป็นไทยมาจากรากฐานของความเป็นพุทธ
มาจากรากฐานแห่งความคิดอันเป็นพุทธ พระสงฆ์ต้องเป็นแบบอย่างในเชิงของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไว้
เพราะวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตของปวงชนชาวไทย
พระครูสุนทรธรรมโสภณ หัวหน้าฝ่ายจัดการศึกษา เคยพูดไว้ในวงวิชาการหลายที่ว่า
"ผู้ที่ยังอนุรักษ์ความเป็นไทยยังนิยมความเป็นศิลปะไทยอยู่มีเพียงพระภูมิเท่านั้น"
เพราะพระภูมิยังอยู่ศาลทรงไทย ยังอยู่บ้านทรงไทย เราจะเห็นได้ว่าใครแต่งชุดไทย
หรือถ้าเราเห็นคนแต่งชุดไทยกลายเป็นเรื่องแปลกไปแล้ว เรามักถามต่อไปว่าเอ๊ะเขามีงานอะไรหรือจึงแต่งชุดไทย
ด้านสาธารณสงเคราะห์
บทบาทของพระสงฆ์ในด้านสาธารณสงเคราะห์ เรายังเห็นได้ชัดเจนว่า พระสงฆ์ที่มีบารมี
มีเอกลาภมากๆ ท่านไม่ได้เก็บไว้เพียงตัวท่านเอง หากแต่ได้ช่วยสร้างโรงพยาบาล
ที่ว่าการอำเภอ อนามัยตำบล ศาลาที่ประชุม ศาลาพักริมทาง ทำบ่อน้ำ ทำสะพาน
ฯลฯ
หากมองลึกลงไปถึงการพัฒนาในด้านจิตใจ พระสงฆ์ได้พัฒนาจิตใจของคนในชุมชน
จากคนที่ติดยาเสพติดให้เลิก จากที่เคยติดเหล้าให้เลิกเหล้า จากที่เคยติดการพนันให้เลิกจากการพนัน
จากที่เคยลุ่มหลงในไสยศาสตร์ ที่เคยงมงายให้รู้ใช้สติปัญญา จากความเห็นผิด(มิจฉาทิฐิ)ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง
(สัมมาทิฐิ) พระสงฆ์พัฒนาจิตใจของคนในชุมชนให้ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหาเลี้ยงชีพ
คือหาและสอนให้ขยันเก็บออม ประหยัดใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ไม่ฟุ่มเฟือย
หรูหรา หลงตามค่านิยมที่ผิดๆ (ค่านิยมที่ไม่น่านิยม) สอนให้คนที่อยู่สังคม
แต่สอนให้รู้จัดเลือกคบคน โดยให้เลือกคบกับบัณฑิต ให้หลีกเว้นจากคนพาล
และสอนให้วางตนให้เหมาะสมกับภาวะแห่งตน รู้จักฐานะของตน
บทสรุป
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นหลักการในบทบาทของพระสงฆ์ และเป็นบทบาทจริงในทางปฏิบัติ
ที่พระสงฆ์ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยพึงปฏิบัติกัน โดยเฉพาะในด้านหลัก
๔ ด้านอันได้แก่ ด้านการปกครอง ต้องปกครองโดยธรรม เป็นธรรมาภิบาล ปกครองเพื่อเกื้อหนุนให้เกิดการศึกษา
ด้านการศึกษาและการศึกษาสงเคราะห์ ทั้งที่พระสงฆ์เองสอนพระเณรด้วยกันเอง
และสงเคราะห์กุลบุตร กุลธิดา เพื่อให้ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง พร้อมทั้งวิชาความรู้
จรณะ ความประพฤติ การศึกษาที่สร้างวิธีคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิ การเรียนรู้คู่ความสุข
(Learning And Happiness) บทบาทด้านการเผยแผ่ งานเผยแผ่เป็นงานที่นำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกเผยแผ่สู่ประชาชน
เป็นภารกิจที่มีความสำคัญ ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ ใช้คำว่าไปประกาศพรหมจรรย์
ประกาศวิถีชีวิตอย่างพรหม อันเป็นชีวิตที่ประเสริฐ นั่นหมายถึง พระสงฆ์ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินชีวิต
สังคมสงฆ์ต้องเป็นสังคมลำลอง สังคมแบบอย่างหรือสังคมต้นแบบของสังคมชาวบ้านที่ดีให้ได้
สังคมสงฆ์ต้องเป็นระเบียบ ต้องมีการจัดระเบียบสังคมสงฆ์ให้ดี ไม่ใช่ให้รัฐมนตรีมาจัดระเบียบวัด
ให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดระเบียบให้กับพระสงฆ์ เหตุเพราะพระสงฆ์เราได้เสียสถานะของความเป็นผู้นำไปแล้วโดยสิ้นเชิง
เพราะวัดเต็มไปด้วยการพนัน หวยเถื่อน ยาบ้า วัดกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม
ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ เมื่อสังคมสงฆ์ยังช่วยตัวเองไม่ได้แล้วจะไปช่วยพัฒนาชาวบ้านได้อย่างไร
เพราะแทนที่จะใช้วัดให้เป็นสถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติด แต่วัดบางแห่ง
กลายมาเป็นสถานที่รวบรวมของผู้ติดยาและขายเสียเอง จึงเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง
พวกเราต้องมาช่วยกู้สถานภาพในประเด็นนี้ให้ได้ในยุคของพวกเรา
บทบาทด้านสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ อันเป็นบทบาทหลักอีกด้านหนึ่ง
ที่หมายถึงด้านการก่อสร้าง การพัฒนาศาสนวัตถุ โดยเริ่มจากการสร้างศาสนวัตถุภายในวัดของพระสงฆ์
สร้างเพื่อให้เป็นที่สะดวกแก่การศึกษาธรรมปฏิบัติธรรม มิใช่เป็นการสร้างเพื่ออวดอ้างบารมี
แข่งขันความฟุ่มเฟือยหรูหรา เอาบทบาททั้งหมดมาทุ่มเทกับบทบาทด้านการก่อสร้าง
บางวัดสร้างโบสถ์มาจนเจ้าอาวาสตายไป ๔-๕ องค์โบสถ์ยังเสร็จ ประการต่อมาศิลปะที่สร้างควรมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
ความเป็นพุทธให้ปรากฏเหลืออยู่คู่กับสังคมไทยเรา คือพอมองเห็นศาสนวัตถุแล้ว
ให้เป็นสิ่งแทนของความเป็นพระพุทธศาสนาไว้ แต่เท่าที่เห็น ศาสนวัตถุกลายเป็นสิ่งแทนสังคมบริโภคนิยม
(Consumer Society) ไม่เหลือความเป็นสังคมพุทธให้เห็นแม้แต่นิด จึงขอฝากทัศนะไว้ด้วยความห่วงใย
บรรณานุกรม.-
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, (๒๕๓๕).วินัยมุข เล่ม ๒
(หลักสูตรนักธรรมชั้นโท) กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๓๙). การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน.
กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๒). การศึกษาทางเลือก : สู่วิวัฒน์หรือวิบัติในยุคโลกไร้พรมแดน.
กรุงเทพฯ : คุรุสภา ลาดพร้าว.
พระวิเชียร สีหาบุตร. (๒๕๓๗). บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสังคม :ศึกษากรณี
พระธรรมมหาวีรานุวัตร วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วินัย วีระวัฒนานนท์, รศ.ดร. (๒๕๓๘). สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา. กรุงเทพฯ
: เรือนแก้วการพิมพ์.
หมายเหตุ.- ได้พิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์
จึงได้คัดนำมาเสนอ จึงขอขอบพระคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้
**************************
กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร |