ุด้านดีของ Hi5 พระสงฆ์ ช่องทางใหม่สอนใจโจ๋
บทความจาก : ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ : 6 มีนาคม 2551



             เทรนด์บนโลกไซเบอร์ตอนนี้ที่กำลังมาแรงคงหนีไม่พ้น "การเล่น Hi5" ไม่ว่าสาขาวิชาชีพไหนต่างก็ใช้การสื่อสารทางนี้แทบทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้าที่ใช้ช่องทางนี้เช่นกัน แต่ที่พบเห็นแพร่หลายตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นในเชิงลบเสียมากกว่า ทว่ายังมีช่องทางที่ให้แสงสว่างอีกทางหนึ่งที่ไม่อาจคาดถึงได้ นั่นคือการสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาผ่านช่องทางการสื่อสารนี้

             ผู้จัดการไซเบอร์ ขอเสนอ“ข่าวไฮไฟล์(Hi5)พระสงฆ์" ข่าวฝึกปฏิบัติฝีมือนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งได้ลงตีพิมพ์เป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หอข่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2550

************************************
ธรรมะยุคใหม่
พระใช้ไฮไฟว์
สอนใจวัยโจ๋

************************************

             ตะลึง! พบพระสงฆ์เล่นไฮไฟว์ หลวงพี่วัดญาณฯ อ้างเจตนาดี ต้องการใช้เป็นสื่อกลางสอนธรรมะ "อ.เสฐียรพงษ์" ยันไม่เหมาะสมแม้ไม่กระทบศาสนา นักวิชาการชี้ใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ศาสนาได้แต่ไม่ควรโชว์รูปพระ กรมศาสนาฯ เผยไม่ผิดวินัยสงฆ์ ลูกศิษย์หนุนหลวงพี่สอนธรรมผ่านเว็บต่อไป

             ไฮไฟว์ (hi5) เว็บออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้เล่นอินเทอร์เน็ตของไทยในเวลานี้โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา เป็นเว็บที่ผู้เล่นสามารถส่งข้อความสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกด้วยกัน โดยมีภาพเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของ และในขณะนี้ไม่เพียงกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่เล่นไฮไฟว์ ยังมี ดารานักร้อง นักการเมือง อาทิเช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้สื่อข่าวยังพบว่ามีพระสงฆ์ที่ใช้ไฮไฟว์ โดยได้มีการถกเถียงว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นได้อ้างว่าใช้ไฮไฟว์เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสนา

             ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” พบพระสงฆ์เล่นไฮไฟว์ หลังจากที่ได้รับแจ้งจากกลุ่มเพื่อนที่เล่นไฮไฟว์ ในส่วนเว็บของพระสงฆ์นี้ท่านได้เชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาสนใจธรรม ะและใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ศาสนา โดยนำภาพพิธีกรรมที่จัดขึ้นภายในวัดญาณสังวราราม ภาพบรรยากาศการเข้าค่ายปฏิบัติธรรม และใช้บทสวดมนต์เป็นเพลงประกอบ ซึ่งการที่พระสงฆ์เล่นไฮไฟว์นั้น ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันจากหลายฝ่ายในเรื่องของความเหมาะสม

             เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ 2551 พระอาจารย์สหพร พระวิทยากร วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงกรณีที่ตนได้ลงทะเบียนเข้าใช้เว็บไซต์ไฮไฟว์ (www.hi5.com) ว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้าใช้เว็บไซต์แห่งนี้ตั้งแต่แรก เพราะปกติตนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) จนกระทั่งได้พบข้อความไฮไฟว์ที่ให้สมัครสมาชิก จึงได้ทำการใส่ข้อมูล ซึ่งไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลงทะเบียนเข้าใช้เว็บไฮไฟว์ หลังจากนั้นปรากฏว่า พบรูปของตนอยู่ในเว็บไฮไฟว์ และมีรูปของเด็ก ๆ อยู่ประมาณ 70 คน หลังจากเห็นชื่อและสถานศึกษาจึงทราบว่าเด็กกลุ่มนี้ คือลูกศิษย์ที่เคยมาเข้าค่ายที่วัดญาณสังวราราม ซึ่งตนได้เป็นพระวิทยากรอบรมเด็กเหล่านั้น และเข้าใจว่าที่ลูกศิษย์เข้ามาพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ไว้นั้นเป็นเพราะตนได้ให้อีเมล์กับคณะนักเรียนนักศึกษาทุกสถาบันที่มาเข้าค่ายในวัดญาณสังวราราม

             พระอาจารย์สหพร กล่าวเสริมว่า ตนได้พูดคุยกับลูกศิษย์ที่ทำการสนทนาผ่านเว็บไฮไฟว์ ทราบว่า เว็บไซต์แห่งนี้เป็นเหมือนบล็อก (blog) ส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนที่สมัครเข้ามา และมีการเชื่อมต่อกันแบบลูกโซ่โดยที่สมาชิกสามารถที่จะเลือกทำความรู้จักกับสมาชิกคนอื่น ๆ ที่มีเว็บไฮไฟว์ และการสนทนาระหว่างสมาชิกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายตอบรับคำขอเป็นเพื่อน ถึงจะสามารถพิมพ์ข้อความสนทนากันได้ ซึ่งตนไม่ได้เข้าไปทำความรู้จักกับสมาชิกก่อน แต่สมาชิกทำการติดต่อขอเป็นเพื่อนกับตน ที่ผ่านมาไม่ได้อยากที่จะสนทนาหรือพูดคุยกับลูกศิษย์เท่าไรนัก แต่ที่ต้องสนทนา เพราะลูกศิษย์หลายคนเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิต ไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้ไฮไฟว์เพื่อสนทนากับลูกศิษย์แต่อย่างใด

             ส่วนภาษาที่ใช้สนทนานั้น พระอาจารย์สหพร กล่าวว่า ตนเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เพราะหากใช้ภาษาที่ไม่สำรวม เกรงจะทำให้ผู้ที่พบเห็นอ่านแล้วรู้สึกไม่ดี อาจคิดไปในแง่มุมอื่นที่ไม่เข้าใจถึงเจตนาที่แท้จริงของตน ซึ่งเจตนาของตนเพียงต้องการที่จะตอบคำถาม และให้คำปรึกษากับลูกศิษย์ผ่านเว็บไซต์เท่านั้น ส่วนการวางรูปภาพลงในไฮไฟว์ ตนมีเจตนาที่จะให้ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมดูแล้วสบายใจไม่อยากให้คิดไปในทางลบ


             “รูปภาพที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของไฮไฟว์ของลูกศิษย์แต่ละคน อาตมาจะต้องพิจารณาก่อนที่จะตอบรับเป็นลูกศิษย์ เพราะที่ผ่านมาลูกศิษย์บางคนใช้รูปภาพที่ไม่เหมาะสม บางคนนุ่งน้อยห่มน้อย หรือบางคนใช้รูปที่ส่อไปในลักษณะยั่วยุที่ทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ และทุกครั้งที่พบข้อความหรือภาพที่ไม่เหมาะสมในไฮไฟว์ ก็จะตักเตือนอยู่เสมอ” พระอาจาย์สหพรกล่าว

             พระอาจารย์สหพรได้แสดงความคิดเห็นเรื่องความเหมาะสมในกรณีพระเล่นไฮไฟว์ว่า ภายหลังที่ตนได้ใช้ไฮไฟว์เพื่อเป็นการสนทนา มีลูกศิษย์และบุคคลภายนอกได้ถามว่า การที่พระเล่นไฮไฟว์ มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ตนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่อยากให้ดูถึงเจตนาที่แท้จริงก่อนว่า ไฮไฟว์ เป็นการสนทนาแบบเปิดเผย และทุกคนที่เข้ามาสามารถมีส่วนรู้เห็นถึงข้อความที่สนทนา ซึ่งตนคิดว่าการสนทนาแบบเปิดเผยดีกว่าการใช้โทรศัพท์ ซึ่งเป็นการผิดวินัยของสงฆ์ และนอกจากนี้ลูกศิษย์ที่ต้องการติดต่อหรือสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ไฮไฟว์เป็นอีกช่องทางที่ทุกคนสามารถติดต่อได้ ซึ่งทางวัดยังมีการเปิดเว็บบอร์ดให้ทุกคนที่ต้องการสอบถามข้อมูลของทางวัด ได้มีโอกาสพูดคุยและเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านเว็บบอร์ด โดยมีการตอบคำถามจากพระภิกษุที่เข้ามาตอบ

             พระอาจารย์สหพร กล่าวถึงการใช้อินเทอร์เน็ตของพระภิกษุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปความสะดวกสบายมีให้เลือกเยอะ พระภิกษุเองก็อาจจะต้องมีการศึกษาในเรื่องของสิ่งเหล่านี้บ้าง เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิธีการใช้ อยู่ที่ว่าจะใช้ในด้านใดเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้ให้คุณอย่างเดียว แต่ยังให้โทษด้วยหากใช้ไปในทางที่ผิด พระภิกษุเองบางครั้งจำเป็นจะต้องพึ่งพาสื่อเหล่านี้ เพื่อค้นหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิดนั้นก็ขึ้นอยู่กับพระภิกษุด้วยว่า จะมีเจตนาใดในการใช้ เพราะคนเรามีความคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือลบ ก็จะส่งผลกระทบต่อศาสนาด้วยเช่นกัน

             “เรื่องทางศาสนา เราควรช่วยให้คนมีใจเป็นกลาง ๆ คนที่ได้รับข้อมูลจะได้ไม่มี อคติ ต่อนักบวชในศาสนาพุทธ เรื่องการเล่นไฮไฟว์ อาจจะผิด หรือ ดูไม่งามก็ตาม เราก็ต้องชี้ให้เห็นว่า เป็นแค่เรื่องของนักบวชบางส่วน ในศาสนาเราเท่านั้น เกรงว่าจะเหมารวมถึงนักบวชที่ดี ๆ ในพระพุทธศาสนา แล้วไปตำหนิเข้า จะเป็นบาปกรรมต่อตัวเขาเอง หรือหากทราบเหตุผลที่ดี ก็อยากให้สื่อช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจถูกต้อง จะได้ไม่เสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว จะได้เลื่อมใสยิ่งขึ้น” พระอาจารย์ สหพร จิรสกฺโก กล่าว

             ด้านนายเสฐียรพงษ์ วรรณปก อาจารย์นักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ กล่าวถึงกรณีการที่พระภิกษุสงฆ์มีเว็บไฮไฟว์ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อศาสนาแต่อย่างใดซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่การกระทำเช่นนี้พระสงฆ์ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ถึงแม้จะไม่มีความผิดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่สามัญสำนึกของแต่ละคน ที่จะคิดดีทำดี หรือคิดชั่วทำชั่ว เรื่องความเหมาะสมจะดูที่เนื้อหาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูที่สาระ ว่าผู้ใช้มีเจตนาใช้เพื่ออะไร พระภิกษุจะต้องมีการจำกัดเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตว่าใช้ประโยชน์ในเรื่องใด เช่น ใช้เป็นสื่อในการสอนธรรมะหรือเพื่อค้นหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ

             นายเสฐียรพงษ์ กล่าวต่อว่า เป็นการยากที่จะควบคุมดูแลผู้ที่เข้าไปใช้ให้อยู่ในขอบเขต และในกรณีที่พระภิกษุใช้ไฮไฟว์ ไม่ควรนำภาพของตนไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นเห็น เนื่องจากนักบวชต้องมีความสำรวมในเรื่องของ กริยา วาจา และบางเว็บไซต์มีการแสดงภาพที่เป็นการยั่วยุหรือแสดงออกไปในเชิงอนาจาร ซึ่งไม่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ แต่ถ้าเป็นอีเมล์ส่วนตัวสำหรับรับส่งข้อมูลหรือใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดูแล้วจะเหมาะสมกว่า การใช้เว็บในการสนทนาเพื่อตอบคำถามเช่นนี้ บางครั้งอาจมีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมของตัวพระภิกษุในการสนทนา ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่พระภิกษุได้ ควรมีการตรวจสอบการใช้ภาษาให้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเว็บสนทนาที่มีข้อมูลเปิดเผย ควรใช้ภาษาให้อยู่ในสถานภาพที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าไฮไฟว์ไม่ควรมีหรือไม่ควรใช้ แต่เมื่อใช้แล้วต้องรู้จักใช้ให้เป็นและใช้อย่างไรจึงจะไม่เกิดผลเสียตามมาในภายหลัง

             “วิวัฒนาการของเทคโนโลยีนั้น มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ ไม่เพียงแต่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้นที่จะต้องระมัดระวังในการใช้ แต่รวมถึงบุคคลทั่วไปด้วยเช่นกันที่จะต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะคุณและโทษของเทคโนโลยี สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน” นักวิชาการด้านพุทธศาสนา กล่าว

             ส่วน นางนันทิกร ไทยเจริญ นักวิชาการศึกษาฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวถึงกรณีที่มีพระภิกษุมีไฮไฟว์เป็นส่วนตัวว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับการที่พระภิกษุเล่นไฮไฟว์ เพราะเปรียบเสมือนเป็นช่องทางในการเผยแพร่ศาสนาอีกช่องทางหนึ่ง เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและมีความทันสมัย สามารถเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ดีกว่าสื่ออื่น ๆ เท่าที่ตนทราบส่วนใหญ่กลุ่มผู้เล่นไฮไฟว์ คือกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงานที่ไม่มีเวลาไปวัดหรือฟังพระธรรมเทศนา ก็สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงธรรมะ และยังเป็นการกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้สนใจในเรื่องของศาสนา หรือการใช้ไฮไฟว์เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางวัดจัดขึ้น ซึ่งจะทำให้ข่าวสารสามารถกระจายสู่บุคคลภายนอกได้อย่างรวดเร็ว

             นักวิชาการศึกษาฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวเสริมในเรื่องเจตนาการใช้ไฮไฟว์ของพระภิกษุสงฆ์อีกว่า หากใช้ ไฮไฟว์ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของวัด ไม่ส่งผลกระทบต่อศาสนาแต่อย่างใดและยังเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะในปัจจุบันพระอาจารย์บางท่านได้มีการออกจำหน่าย วีซีดี ดีวีดีธรรมะ ในส่วนของพระภิกษุที่เข้าใช้ไฮไฟว์ ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากมีเจตนาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

             ทางด้าน พ.ต.อ ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่าโดยกฏหมาย และ กฏของพระภิกษุสงฆ์ไม่มีบัญญัติหรือมีข้อห้ามพระภิกษุเข้าใช้ไฮไฟว์ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าเจตนาดีหรือเจตนาร้ายพระภิกษุก็ไม่สมควรเข้าใช้ไฮไฟว์ เนื่องจากบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนรู้เห็นว่าพระภิกษุมีเจตนาอย่างไร ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเสื่อมศรัทธาในตัวของพระภิกษุรูปนั้น โดยสิ่งเหล่านี้บุคคลทั่วไปไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าเนื้อหาในการสนทนาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ที่พระภิกษุว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการเข้าใจผิด และจะไม่ส่งผลกระทบต่อศาสนา

             ส่วนเรื่องรูปภาพของพระภิกษุที่มีการเผยแพร่ให้ผู้อื่นเห็น พ.ต.อ. ญาณพล แสดงความคิดเห็นว่า พระภิกษุควรมีความสำรวม โดยไม่นำรูปของพระสงฆ์มาเผยแพร่ในไฮไฟว์ เพื่อดึงดูดความสนใจต่อกลุ่มผู้เล่น ไฮไฟว์ แต่ในปัจจุบันการเคร่งครัดในเรื่องของวินัยสงฆ์มีน้อยลง แต่หากจะเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ไม่เป็นเรื่องเสียหายแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการตอบคำถามในไฮไฟว์ ตนถือเป็นเรื่องปกติ จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจตนาในการใช้ของพระสงฆ์

             พ.ต.อ. ญาณพล กล่าวเพิ่มเติมเรื่องภัยที่อาจเกิดขึ้นในไฮไฟว์ว่า บุคคลที่เข้ามาเล่นนั้นควรไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบ เพราะไฮไฟว์นั้น เมื่อใส่ข้อมูลส่วนตัวลงไป บุคคลที่ประสงค์ร้ายจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในทางที่ไม่ดี ซึ่งเจ้าของไฮไฟว์อาจได้รับความเสียหายตามมา

             “สำหรับการเผยแพร่ศาสนานั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ไฮไฟว์เพื่อเป็นสื่อกลาง เพราะทุกวันนี้สื่อต่าง ๆ ที่ใช้ในการเผยแพร่ศาสนานั้นมีมากมายและมีเจตนาที่ชัดเจนโปร่งใสกว่านี้” ผู้บัญชาการ ญาณพล กล่าว

             ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” ได้ขอเข้าสัมภาษณ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั่วไปสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ความคิดเห็นโดยขอปิดบังชื่อว่า ทางกรมศาสนาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลหรือออกกฎข้อห้ามในการใช้อินเทอร์เน็ตของพระภิกษุ ซึ่งอำนาจหน้าที่ขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสของวัดว่าเห็นสมควรให้มีกฎกับพระลูกวัดอย่างไร และการที่มีรูปภาพของพระภิกษุ คงไม่มีผลกระทบต่อศาสนาหากไม่ใช่รูปที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร ซึ่งพระอาจารย์ดัง ๆ บางท่านก็มีรูปอยู่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้สนใจเข้ามาพูดคุยเช่นกัน โดยความเหมาะสมของเนื้อหาต้องขึ้นอยู่กับเว็บไซต์ด้วย เช่น เว็บโฆษณาขายสินค้า หรือ เว็บที่มีการเผยแพร่ภาพอนาจารไม่ควรมีรูปของพระสงฆ์อยู่ในเว็บไซต์นั้น

             ในขณะที่นางสาววริษา เจริญศักดิ์ธนกุล ชั้นปีที่1 นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในผู้เล่นไฮไฟว์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเริ่มเล่นไฮไฟว์มานานพอสมควร พอทราบว่ามีพระสงฆ์เล่นไฮไฟว์ ตนรู้สึกแปลกใจมาก และเท่าที่ตนเข้าไปตรวจสอบดูในไฮไฟว์ของพระสงฆ์รูปนี้นั้น ไม่พบสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียศาสนา ในนั้นจะมีรูปพระสงฆ์ และบุคคลสำคัญของไทย รวมไปถึงรูปการเข้าค่ายธรรมะของเด็กนักเรียนจากหลาย ๆ โรงเรียนที่เดินทางไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมที่วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร จังหวัดชลบุรี ข้อความของท่านจะเป็นข้อความธรรมะและคติสอนใจ คนที่มาสนทนากับท่านส่วนมากจะเป็นเด็กนักเรียนที่เคยไปเข้าค่ายที่วัดของท่านและเด็ก ๆ ที่ท่านเคยไปสอนธรรมะที่โรงเรียน ข้อความที่เด็ก ๆ เข้ามาคอมเม้นท์ ก็เป็นการทักทายปรึกษาปัญหาต่าง ๆ และบางคนได้แง่คิดจากท่านแล้วก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนมากจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี

******


บทความจาก : ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ : 6 มีนาคม 2551
http://www.bcoms.net/article/detail.asp?id=579


กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี