กราบเรียนหลวงพ่อ
ท่านผู้เป็นประธานในการอภิปราย ขอคารวะพระเถรานุเถระ ตลอดจนขอเจริญพรญาติโยมทุกท่าน
การวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทยเราสามารถพูดได้
๒ อย่าง คือ ๑)วิจัยเพื่อให้รู้ว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
๒) วิจัยเพื่อศึกษาว่าอนาคตของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร พูดอีกอย่างคือวิจัยแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือวิจัยว่าเราอยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร
ประเด็นหลังนี้โยงไปถึงเรื่องวิสัยทัศน์ เวลานี้คนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้นำประเทศวาดหวังให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจเติบโต
๘% หรือ ๑๐% ขึ้นไปยิ่งดี หลายคนอยากให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก
อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าเป็นศูนย์กลางการบิน
ศูนย์กลางแฟชั่น ศูนย์กลางสารสนเทศ ศูนย์กลางการดูแลรักษาสุขภาพ
ฯลฯ แต่เราไม่ได้นึกถึงมิติอื่น ๆ เลยว่าประเทศของเราควรจะเป็นอย่างไร
เวลานี้สถานการณ์ของประเทศไทยในหลายด้านกำลังน่าเป็นห่วงมาก
ในขณะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ๖% - ๗% ในขณะที่เรามีตึกที่สูงใหญ่
มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่คนไทยกลับติดเหล้าเป็นอันดับ ๑ ในเอเชีย
มากกว่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเมืองหนาว เรากินเหล้าสูงเป็นอันดับ
๕ของโลก เรามีการฆ่ากันตายสูงกว่าอังกฤษถึง ๑๐ เท่า ทั้ง ๆ ที่เราอ้างว่าเราเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ
อังกฤษนั้นมีคนเข้าวัดน้อยลงเรื่อย ๆ แต่การฆ่ากันตายน้อยกว่าประเทศไทยมาก
แค่ ๑ ใน ๑๐ ของประเทศไทยเท่านั้น
ในแง่ปัญหาจิตใจ เราก็มีปัญหามากเช่นกัน
คนไทยเวลานี้เป็นโรคจิตกันประมาณ ๒ ล้านคน นี่เป็นตัวเลขเมื่อปี
๒๕๔๐ ตอนนี้อาจเพิ่มเป็น ๓ ล้านคนแล้วก็ได้ เรามีการฆ่าตัวตาย
๑๒ คนต่อแสน ไล่ ๆ กับอเมริกา แต่ต่ำกว่าญี่ปุ่นนิดหน่อย ที่น่าสนใจคือเมื่อปี
๒๕๓๖ คนไทยฆ่าตัวตาย ๓ คนต่อแสน แต่ว่าไม่ถึงสิบปี เราฆ่าตัวตาย
๑๒ คนต่อแสน สูงเป็น ๔ เท่าตัว
ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น ก็คือ
เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ มีตัวเลขระบุว่า ๑ ใน ๔ ของเยาวชนที่มีอายุระหว่าง
๑๕ ๒๔ ปี มีปัญหาสุขภาพจิต ๑ ใน ๔ พ่อแม่แยกทางกัน ๔ใน ๑๐ หรือ
๔๐% ติดอบายมุข ชอบเที่ยว สูบบุหรี่ การพนัน เรามีโสเภณีเด็ก หรือผู้ที่ขายบริการทางเพศ
ร้อยละ ๔๐ ของโสเภณีที่เป็นผู้ใหญ่
ในแง่คอรัปชั่นเราก็ติดอันดับโลก
เมื่อ ๒ ปีก่อนประเทศไทยมีความโปร่งใสน้อยที่สุด ติดอันดับที่
๓๓ ดีกว่ารัสเซีย เวเนซูเอล่า โคลัมเบีย ไนจีเรีย คาเมรูน เท่านั้น
แต่แย่กว่าฟิลิปปินส์ ไม่ต้องพูดถึงสิงค์โปร์ มาเลเซีย จีน เวียดนาม
นี่คือสภาพที่น่าเป็นห่วง
สติปัญญาของเด็กไทยก็กำลังตกต่ำลง
ได้มีการทำวิจัยระยาว มีการติดตามเด็กไทยมากว่า ๑๐ ปี แล้วพบว่าเด็กไทยเมื่อมีอายุมากขึ้น
ไอคิวเริ่มลดต่ำลง คือตอนอายุ ๑ ๕ ขวบ มีไอคิวเฉลี่ย ๙๐ แต่พออายุ
๖ ๑๐ ขวบ ปรากฏว่าไอคิวเหลือ ๘๐ กว่า ๆ คือต่ำกว่ามาตรฐาน ครั้นพอสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ก็ปรากฏว่านักเรียนมัธยมปลายมากกว่า ๙๐% สอบได้คะแนนไม่ถึง ๕๐
คะแนนของแทบทุกวิชา ไม่ว่าวิชาภาษาไทย วิชาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์
โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ๑ ๒ นักเรียน ๙๕ % สอบได้ไม่ถึง ๕๐ คะแนน
นี่คือสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เรามองเห็นอนาคตของประเทศไทยได้ไม่ยาก
ทุกวันนี้เราพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจตลอดเวลา
เราคุยอวดว่าเศรษฐกิจของเรากำลังเติบโตแซงหน้าประเทศต่าง ๆ รัฐบาลเองก็พูดแต่ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเรากำลังเจริญอย่างโน้นอย่างนี้
แต่ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
สวนทางกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ
เวลานี้เราพัฒนาแต่ในทางเศรษฐกิจ ส่วนมิติทางสังคม วัฒนธรรม คุณธรรม
สิ่งแวดล้อม เราถอยหลังไปยิ่งกว่าเดิม มันเป็นอนาคตที่ไม่สมประกอบ
เพราะว่าสุขภาวะที่ดีในทางพุทธศาสนา ต้องประกอบไปด้วย ๔ ส่วน ได้แก่
๑) สุขภาวะทางกาย หรือกายภาวนา คือมีปัจจัย ๔ ไม่อดอยากหิวโหย
มีสิ่งแวดล้อมที่อำนวยต่อชีวิตที่ดีงาม ๒) สุขภาวะทางสังคม หรือศีลภาวนา
คือการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เต็มไปด้วยการเบียดเบียนหรือก่อเวรต่อกัน
๓) สุขภาวะทางจิต หรือจิตภาวนา คือมีการมีจิตที่ผาสุก มีสมรรถภาพและคุณภาพที่ดี
รวมทั้งมีจริยธรรมด้วย ๔) สุขภาวะทางปัญญา หรือปัญญาภาวนา คือการมีปัญญาที่พัฒนา
คิดเป็นและคิดชอบ สามารถแก้ทุกข์ได้
ชีวิตและสังคมที่ดีงามต้องประกอบไปด้วยความเจริญทั้ง
๔ ส่วนนี้อย่างได้ดุลกัน แต่ว่าเมืองไทยตอนนี้กำลังพุ่งไปทางเศรษฐกิจอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่ว่ากลับถอยหลังมากขึ้นในแง่ของสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม
ในสภาพเช่นนี้ ถ้าจะคิดถึงการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย เราต้องคิดถึงการวิจัยเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างได้ดุลหรือพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม
ครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ศีล จิต และปัญญา การวิจัยที่มีคุณค่าจะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างครบทั้ง
๔ ส่วน ประเทศเรามีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน สามารถที่จะเป็นแรงบันดาลใจ
หรือขับเคลื่อนให้การพัฒนาเดินไปสู่แนวทางที่ว่าได้ หรือทำให้เกิดการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและคุณธรรม
เพื่อให้ถึงพร้อมด้วยความเจริญในทุกมิติ
ปัญหาก็คือการพัฒนาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและคุณธรรม
ทุกวันนี้เราเอาเงินหรือความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เรากำลังกระตุ้นให้เกิดโลภะ
อาศัยโลภะเป็นแรงดึง และอาศัยความทุกข์เป็นแรงผลัก เดี๋ยวนี้รัฐบาลบอกว่าคนไทยต้องเป็นหนี้ถึงจะรวย
ทำไมต้องเป็นหนี้ เพราะถ้าเป็นหนี้แล้วจะอยู่ไม่สุข นอนไม่หลับ
ต้องลุกขึ้นมาทำงานหาเงินไม่หยุดหย่อน ไม่งั้นบ้านจะหลุดจำนอง
รถจะถูกยึด นี่เรียกว่าถูกผลักด้วยความทุกข์ นั่นคืออุบายของทุนนิยม
เขาบอกว่าคุณต้องมีหนี้เยอะ ๆ คุณจะอยู่สบาย ๆ ไม่ได้ จะมานั่งเล่นนอนเล่น
หรือมาฟังอภิปรายแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ก่อให้เกิดรายได้งอกเงย คุณต้องไปทำมาหากินจะได้มีเงินมาจ่ายหนี้
แล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญ ส่วนที่ว่าเอาโลภะเป็นแรงดึง
ก็คือเอาวัตถุมากระตุ้นให้คนเกิดความอยาก เช่น อยากได้รถคันใหม่
ได้รองเท้าคู่ใหม่ หรืออยากได้ใบหน้าที่ขาวกว่าเดิม เส้นผมยาวสลวยกว่าคนอื่น
พออยากได้ก็เลยต้องตั้งหน้าตั้งตาหาเงินไปซื้อ คนทุกวันนี้ถูกทุนนิยมล่อหลอกทั้งดึงทั้งผลักให้กลายเป็นเครื่องจักรหาเงิน
นี่คือการพัฒนาที่สมควรเรียกว่ามิจฉาพัฒนา
ทุกวันนี้ลองสังเกตดูเรานิยมใช้วัตถุเป็นตัวล่อตลอดเวลา
เมื่อปีที่แล้วมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพแห่งหนึ่งมีปัญหาว่านักศึกษาหญิงชอบแต่งตัวโป๊
ไม่สุภาพ ผู้บริหารปรึกษากันว่าจะทำยังไงดี สุดท้ายก็มีข้อสรุปว่าจะให้รางวัลคือสร้อยเพชรแก่นักศึกษาหญิงที่แต่งตัวสุภาพ
นี่คือการเอาวัตถุเป็นตัวล่อ ที่จริงสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาควรเป็นสถาบันทางสติปัญญา
ควรพยายามกระตุ้นให้ผู้คนเกิดปัญญาเพื่อเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ไม่ใช่กระตุ้นให้คนเกิดความโลภ หรือเอาความโลภมาเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีแบบนี้ควรเป็นเรื่องของภาคธุรกิจมากกว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา
ทุกวันนี้ถ้าอยากจะให้ใครทำอะไร
มักนิยมใช้วิธีกระตุ้นให้เกิดความโลภ เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.
เคยคิดชักชวนประชาชนให้มาลงคะแนนเสียงกันเยอะ ๆ โดยจะให้รถเบนซ์เป็นรางวัล
เมื่อตอนที่เริ่มรณรงค์พับนกสันติภาพก็มีคนเสนอว่าให้มีการชิงโชคเพื่อจะได้กระตุ้นให้คนพับนกเยอะ
ๆ ถ้าจับสลากได้นกของใครได้ก็ให้รถยนต์หรือบ้านไปเลย อะไรทำนองนี้
ยังดีที่วิธีการเหล่านี้ถูกยกเลิกไปในที่สุด แต่อย่างน้อยมันก็บ่งชี้ทัศนคติของคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันว่า
จะทำอะไรก็คิดแต่การกระตุ้นหรือล่อด้วยวัตถุตลอดเวลา แทนที่จะเอาฉันทะหรือสติปัญญามาเป็นแรงผลักดันให้คนทำสิ่งที่ถูกต้อง
กระบวนการทางปัญญาในเมืองไทยในเวลานี้อ่อนมาก
และสิ่งนี้ปรากฏแม้กระทั่งในวงการสงฆ์ เมื่อกี้ท่านคณบดีได้พูดเรื่องการศึกษาในสถาบันสงฆ์ว่าพระเณรไม่มีแรงจูงใจ
ปัญหาในเมืองไทยมันมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าเหตุปัจจัยประการหนึ่งก็คือความอ่อนแอทางด้านกระบวนการการเรียนรู้
ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาที่สำคัญ นี่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของเมืองไทย
เพราะว่าเราไม่นิยมใช้กระบวนการทางปัญญาในการขับเคลื่อนสังคม หรือกระตุ้นให้คนทำอะไรด้วยเหตุผล
มิใช่ด้วยความโลภ
กระบวนการทางปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
พระพุทธ ศาสนาเน้นมากในเรื่องกระบวนการการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนานั้นเริ่มต้น
ตั้งแต่การได้ใกล้ชิดกับกัลยาณมิตรหรือสัตบุรุษ เมื่อใกล้ชิดก็ได้สดับฟังสิ่งที่ดีงาม
จนเกิดโยนิโสมนสิการตามมา และนำไปสู่ธรรมมานุปฏิบัติ หรือการปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม
ทั้งหมดมี ๔ ขั้นตอนใหญ่ ๆ
ประเด็นแรกเริ่มต้นด้วยได้ใกล้ชิดบุคคลที่ดีงาม
แล้วเกิดสุตะ คือการฟังรวมทั้งการอ่าน แล้วเกิดการคิดที่ถูกต้อง
จากนั้นจึงนำไปสู่การปฏิบัติ และเมื่อได้ปฏิบัติก็เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
เมืองไทยตอนนี้ไม่ใช่มีกระบวนการการเรียนรู้ แต่เราเรียนรู้ไปในทางที่ผิด
กระบวนการเรียนรู้ทุกอย่างกำลังมุ่งไปสู่การกระตุ้นกิเลสเพื่อให้มีการบริโภคมากขึ้น
เวลานี้เด็กไทยรู้หมดเลยโทรศัพท์มือถือมีกี่ยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อมีกี่รุ่น
ทำอะไรได้บ้าง รู้หมด นี่เป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่รับใช้ระบบบริโภคนิยม
มุ่งการเสพเสวยเพื่อสนองกิเลส แต่กระบวนการการเรียนรู้ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีแทบจะขาดหายไป
หรืออ่อนแรงลงมาก
ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือการศึกษาที่มีเป้าหมายดีงามมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการเรียนรู้เท่าไหร่
แต่ไปเน้นหนักเรื่องการสอน หัวใจของการศึกษานั้นไม่ได้อยู่ที่การสอน
แต่อยู่ที่การเรียนรู้ หลายคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครูสอน
ใครเคยติดตามรายการ แฟนพันธุ์แท้ บ้าง พวกที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ทีมลิเวอร์พูล
หรือแฟนพันธุ์แท้ทศกัณฑ์ หรือแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง คนเหล่านี้ไม่มีครู
แต่เรียนรู้ด้วยตนเอง เขาศึกษาเรื่องเหล่านี้จนชำนาญ แต่คนเหล่านี้เป็นส่วนน้อย
เวลานี้เราเน้นการสอนหรือการพูดมากกว่าการกระตุ้นการเรียนรู้ ขอให้สังเกตว่าพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงเทศนาอย่างเดียว
บ่อยครั้งพระองค์ใช้วิธีกระตุ้นให้คนคิดเองด้วยการตั้งคำถาม หรือย้อนถามกลับไป
บางทีก็ทรงชี้แนะให้เขาคิดจากประสบการณ์จริง ๆ อย่างกรณีพระรูปหนึ่งซึ่งหลงใหลนางสิริมา
ซึ่งตอนหลังตายแล้วถูกนำไปไว้ที่ป่าช้า เมื่อศพเริ่มจะเน่า พระองค์ได้พาพระรูปนั้นไปดูนางสิริมา
จากเดิมที่หลงใหลผู้หญิง พระรูปนั้นได้กลายมาเป็นโสดาบันโดยที่พระองค์ไม่ได้เทศนา
เพียงแต่ทรงชี้ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจากศพของนางสิริมา
ซึ่งเมื่อยังมีชีวิตอยู่มีคนต้องการอยากเข้าหา แต่พอกลายเป็นศพกลับไม่มีใครเอา
การเรียนรู้จากของจริงเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ใช้เพื่อนำไปสู่การบรรลุธรรม
ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างแบบนี้เยอะมาก แต่ว่าปัจจุบันเราเน้นการสอนเสียเยอะ
เน้นที่การสอนครูมากกว่าเน้นที่การเรียนรู้ของเด็ก พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธการสอน
เพียงแต่ต้องการบอกว่าการสอนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษา
ส่วนที่สำคัญที่สุดของการศึกษาคือการเรียนรู้ การสอนอาจไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ได้
หากสอนแบบยัดเยียดหรือไม่สร้างฉันทะให้แก่ผู้เรียน ขณะที่การเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีผู้สอน
ขอให้สังเกตดูว่าเด็ก ๆ เขาเรียนรู้อะไรต่ออะไรมากมายโดยไม่ต้องมีครูสอน
เขาเชี่ยวชาญเรื่องโทรศัพท์มือถือ หรือเกมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องมีใครสอนเลย
แต่เรียนรู้เองโดยอาจอาศัยข้อมูลที่ป้อนจากสื่อหรือโฆษณา ที่จริงสื่อในปัจจุบันมีบทบาทมากในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
แต่ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง คือเป็นการเรียนรู้ที่ตอบสนองกิเลสหรือบริโภคนิยม
คำถามก็คือ ทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีงาม
โดยมีปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน และนี่คือโจทย์สำคัญสำหรับผู้เกี่ยวของกับการศึกษา
เวลานี้เราไปเน้นเรื่องการศึกษาแบบในระบบมาก จนเข้าใจไปว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นไม่ได้หากอยู่นอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการ
คณะสงฆ์สมัยหนึ่งก็ไปเน้นตรงนี้มาก จนกระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ไม่เข้าใจพระอาจารย์มั่น
ว่าพระอาจารย์มั่นไม่ได้เรียนสูง ไม่ได้เรียนในระบบ ทำไมถึงมีความรู้ทางธรรมเยอะ
คงจำได้ว่าสมัยหนึ่งพระอาจารย์มั่นและลูกศิษย์ถูกกีดกันและรังเกียจจากผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์มาก
โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) ซึ่งสมัยหนึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน
ท่านมองว่าพระป่าสายพระอาจารย์มั่นเป็นพระจรจัดไม่อยู่เป็นหลักแหล่งตามระเบียบคณะสงฆ์
พระป่าเหล่านี้จะถูกท่านขับไล่ออกจากเขตการปกครองของท่านอยู่เป็นประจำ
แต่ตอนหลังสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เกิดเกิดศรัทธาในพระอาจารย์มั่น
ในการพบปะคราวหนึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ถามพระอาจารย์มั่นว่าทำไมพระอาจารย์มั่นจึงมีความรู้ทางธรรมเยอะทั้ง
ๆ ที่ไม่ได้จบเปรียญ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านจบประโยค ๙ ท่านเข้าใจว่าความรู้ทางธรรมต้องได้จากการเรียนนักธรรมบาลีเท่านั้น
ท่านไม่เข้าใจว่าพระอาจารย์มั่นรู้ธรรมได้อย่างไร พระอาจารย์มั่นตอบว่า
สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกย่อมหญ้า นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความรู้นั้นไม่ได้เกิดจากการสอนเสมอไป
แต่เกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ถ้าเรียนรู้เป็น ก็สามารถศึกษาได้จากทุกสิ่งรอบตัว
ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือป่าเขาอย่างที่พระอาจารย์มั่นเป็นแบบอย่าง
พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้มาก
คือเห็นว่าคนเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและสามารถเรียนรู้ได้จากทุกสิ่ง
สรรพสิ่งสามารถสอนเราเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ย้ำว่าเราควรรู้จักฟังเสียงต้นไม้พูด
ฟังก้อนหินสอนธรรมะ แม้กระทั่งความเจ็บไข้ก็สามารถทำให้เราเกิดปัญญา
ท่านอาจารย์พุทธทาสชอบพูดว่า ความเจ็บไข้มาเตือนให้เราฉลาดขึ้น
จะเห็นได้ว่าทุกอย่างรอบตัวเราและที่เกิดขึ้นกับเราสามารถสอนธรรมให้เราได้หมด
แม้กระทั่งความเจ็บไข้และความตาย ถ้าเราเข้าใจและมีวิธีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง
เช่น มีโยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด เราก็สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
แม้กระทั่งจากความทุกข์ ความล้มเหลว ทุกอย่างสามารถเป็นครูได้หมด
ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ หรือแมลงตัวเล็ก ๆ
ปัญหาก็คือตอนนี้กระบวนการเรียนรู้ของไทย
นอกจากจะอ่อนแล้ว ยังพาไปในทางที่ไม่ถูกต้อง คือกระตุ้นตัณหา ส่งเสริมบริโภคนิยม
แถมยังเก่งในทางสนองกิเลสอีกด้วย เดี๋ยวนี้เราเก่งมากในเรื่องทุจริต
ไม่ว่าในวงราชการ ธุรกิจ หรือในวงการศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนประถมไปจนถึงมหาวิทยาลัย
มีการโกงข้อสอบกันอย่างแพร่หลาย และกำลังแทรกซึมไปถึงวงการสงฆ์
คำว่า คอรัปชั่นยังเป็นคำที่ยังอ่อนและแคบ เพราะมีความหมายแค่ฉ้อราษฎร์บังหลวง
เป็นการทุจริตเฉพาะเรื่องเงินทองหรือทรัพย์สิน แต่ทุจริตเป็นคำที่กว้างกว่า
เพราะกินความไปถึงการโกงข้อสอบหรือการโกงในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน
ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าเราเก่งในเรื่องการเรียนรู้เพื่อสนองกิเลสด้วยวิธีที่เหนื่อยน้อยที่สุด
แต่ไม่ได้ใช้ฉันทะหรือปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการวิจัย
เราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้
เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่โลภะหรือตัณหา
เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งศึกษาจากความจริงโดยไม่จำกัดที่ตำรา เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์
ทั้งบวกและลบ ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
การวิจัยเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ว่ามานี้
ส่วนหนึ่งต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย เพราะฉะนั้นจึงควรมีการสำรวจพรมแดนแห่งความรู้
โดยศึกษาวิธีการการเรียนรู้ในชุมชนต่าง ๆ หลายชุมชนถึงแม้ชาวบ้านไม่มีความรู้สูงเมื่อวัดจากการศึกษาในระบบ
แต่เขามีกระบวนการการเรียนรู้ที่ดี อย่างกรณีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของท่านอาจารย์สุบิน
ปณีโต หรือเครือข่ายการเรียนรู้ของคุณประยงค์ รณรงค์ที่เพิ่งได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายหรือชุมชนแห่งการเรียนรู้อีกหลายแห่ง ที่น่าศึกษาหรือทำการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับชุมชนต่าง
ทั้งในเมืองและในชนบท ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา
ตามหลักพุทธศาสนากระบวนการเรียนรู้ต้องอาศัยปัจจัย
๒ อย่าง ปัจจัยภายในคือโยนิโสมนสิการ คือการคิดอย่างถูกต้อง หรือรู้จักคิด
ปัจจัยภายนอกคือปรโตโฆสะ ซึ่งก็หมายถึงครอบครัว ชุมชน กัลยาณมิตร
หรือสื่อมวลชน ทุกวันนี้สื่อมวลชนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลยิ่งกว่าครอบครัวหรือชุมชน
ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าวิจัยว่าทำอย่างไรสื่อถึงจะส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ดี
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ
การวิจัยว่าการสอนหรือการเทศนาในปัจจุบันมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดต่อการเรียนรู้ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย
ทุกวันนี้เรามักพูดกันว่าพระต้องเทศน์ให้มากขึ้นผู้คนถึงจะศีลธรรม
บางทีก็มีการเสนอแนะว่าควรนิมนต์พระไปเทศน์ให้รัฐมนตรีหรือส.ส.ฟัง
จะได้ไม่คอรัปชั่น เราชอบคิดว่าการเทศน์การสอนเท่านั้นถึงจะทำให้คนมีศีลธรรม
แต่เราไม่เคยศึกษาหรือวิจัยกันอย่างจริงจังเลยว่าการสอนหรือการเทศน์ในเวลานี้สามารถยกระดับศีลธรรมคนได้จริงหรือเปล่า
โดยเฉพาะในสภาพที่สื่อมวลชนและสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลในทางตรงข้าม
ถ้าศึกษากันจริง ๆ เราอาจพบว่าสื่อในกระแสหลักนั้นมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้หรือวิธีคิดของคนไทยมาก
ในขณะที่การสอนในโรงเรียนหรือการเทศน์ตามวัดกลับมีอิทธิพลน้อยมาก
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรม
ในพระสูตรที่ชื่อว่ากูฏทันตสูตรนั้นพราหมณ์ได้แนะพระราชาว่าถ้าจะแก้ปัญหาโจรผู้ร้าย
ต้องจัดหาทุนประกอบการให้แก่ผู้เป็นพ่อค้า จัดสรรเบี้ยหวัดและอาหารให้แก่ข้าราชการ
และจัดหาพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกรที่ขยันขันแข็ง เมื่อพระราชาปฏิบัติตาม
ไม่นานโจรผู้ร้ายก็หายไป ศีลธรรมกลับคืนมา ประชาชนอยู่อย่างสงบสุข
ไม่ต้องปิดกลอนประตู ขอให้สังเกตว่าไม่มีการพูดถึงการเทศนาสั่งสอนเลย
แต่เดี๋ยวนี้เวลามีปัญหาอะไรเราก็นึกแต่ว่าจะต้องเทศนาสั่งสอนให้มากขึ้น
ไม่เคยนึกเลยว่าจะมีวิธีอะไรอีกบ้างที่ช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเอง
โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวสนับสนุน เรื่องนี้น่าจะมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ใช้อยู่ได้ผลแค่ไหน
และทำอย่างไรถึงจะพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดทั้งฉันทะและปัญญา
ประเด็นที่ ๒ คือเรื่องการพัฒนาจิตสำนึก
การเรียนรู้ในพุทธศาสนานั้นแยกไม่ออกจากการพัฒนาจิตสำนึก จิตสำนึกที่พึงปรารถนานั้นบางคนเรียกว่า
จิตใหญ่ คำถามก็คือทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดจิตใหญ่ เช่น เกิดเมตตาและขันติ
คนไทยสมัยก่อนเขาไม่ได้ผ่านการศึกษาในระบบมากนัก ไม่มีการเรียนการสอนศีลธรรมอย่างเป็นแบบแผนเหมือนกับปัจจุบัน
แต่เขาก็มีเมตตาและขันติมาก
มีตัวอย่างในประวัติศาสตรั เป็นเหตุการณ์เล็ก
ๆ แต่น่าสนใจ ปีนี้ครบ ๒๐๐ ปีของหมอ
บรัดเลย์ หมอบรัดเลย์เป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน เข้ามาประเทศไทยในรัชกาลที่
๔ หมอ
บรัดเลย์เป็นคนที่เอาวิชาการแพทย์สมัยใหม่และการพิมพ์มาเผยแพร่ในเมืองไทย
ขณะเดียวกันก็ทำการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ด้วย วิธีหนึ่งที่หมอบรัดเลย์ทำคือการไปสอนศาสนาตามบ้านคน
มีอยู่คราวหนึ่งหมอบรัดเลย์ไปประกาศศาสนาหน้าร้านขายพระพุทธรูปในกรุงเทพ
ฯ ขณะเดียวกันก็โจมตีการนับถือพระพุทธรูปไปด้วย ระหว่างที่โจมตีนั้นเจ้าของร้านก็นั่งฟังอยู่เฉย
ๆ หมอบรัดเลย์พูดไปพูดไปก็เหนื่อยเพราะอากาศร้อนมาก เจ้าของร้านพอเห็นหมอบรัดเลย์เหนื่อยก็เชิญเข้ามาในร้านและหาน้ำให้กิน
เสร็จแล้วก็ถามหมอบรัดเลย์ว่า ทำไมจึงพูดอย่างนั้น
เราลองนึกภาพดูว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน
หมอบรัดเลย์คงจะโดนเจ้าของร้านไล่ตะเพิดเอา หรือไม่ก็โดนผู้คนกลุ้มรุมทำร้ายไปแล้ว
คงจะไม่มีใครนั่งฟังเฉย ๆ แถมชวนมานั่งพักเหนื่อยในร้าน แต่ว่าคนสมัยก่อนเขามีขันติธรรมมาก
มีคนมาจ้วงจาบพระพุทธรูปเขาก็ยังไม่โมโหโกรธา แถมยังมีน้ำใจ เชิญให้เข้ามากินน้ำ
แต่ไม่ใช่ว่าเขาวางเฉยหรือเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของหมอบรัดเลย์
เพราะหลังจากชวนมากินน้ำแล้วก็ซักถามอย่างสุภาพว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น
ผมคิดว่านี่คือจิตวิญญาณของชาวพุทธ คือมีเมตตาและขันติธรรม แม้จะไม่เห็นด้วยกับใครก็ไม่ใช่ไปโจมตี
ไปทำร้าย หรือไปทุบตีเขา คุณธรรมดังกล่าวคนไทยสมัยก่อนเรียนมาจากไหน
ทั้งๆ ที่ไม่มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทั้งๆที่ไม่ได้เรียนวิชาศีลธรรม
ไม่มีตำราสอนศีลธรรมให้อ่าน แต่เขาเรียนมาจากวิถีชีวิต สิ่งนี้ทำให้พุทธศาสนาของเมืองไทยเข้มแข็ง
หมอบรัดเลย์แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับพุทธศาสนาเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ชาวพุทธไทยไม่ต้องลุกขึ้นมาด่า ไม่ต้องโจมตี
หรือประท้วง แต่ตอบโต้ด้วยเมตตาและขันติธรรม นี่คือจิตที่ใหญ่
คำถามก็คือจิตใหญ่นี้สร้างขึ้นมาได้อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่น่าศึกษาวิจัยว่ามีกระบวนการอะไรบ้างที่จะสร้างเมตตาธรรมและขันติธรรมให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย
ประเด็นที่ ๓ เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาความขัดแย้งมาก
สังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในระหว่างบุคคล
ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน กรณีภาคใต้เป็นตัวอย่าง
แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ยังมีปัญหาระหว่างชาวเขากับชาวเมือง ปัญหาระหว่างชาวเขากับคนพื้นราบ
ปัญหาระหว่างคนในเมืองกับชนบท ปัญหาเรื่องการแก่งแย่งทรัพยากร
ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์จะมีมากขึ้น
ทำอย่างไรพุทธศาสนาจึงจะมีพลังหรือเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี
ที่จริงเรามีหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้เยอะ
น่าจะมีการทำวิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี
ไม่ใช่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยของฆราวาสและของสงฆ์เท่านั้น แต่ลงไปถึงระดับโรงเรียนด้วย
ในสหรัฐอเมริกามีโครงการแก้ไขความขัดแย้งตามโรงเรียนต่าง ๆ ถึง
๕,๐๐๐ กว่าโรงเรียน ไม่ใช่แค่สอนหรือเรียนเท่านั้น แต่ยังมีการฝึกนักเรียนมาเป็นอาสาสมัครเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในหมู่นักเรียนด้วยกัน
โดยไม่ต้องพึ่งครูหรือผู้ใหญ่
เรื่องนี้สำคัญอย่างไร สำคัญเพราะว่าจะช่วยลดความรุนแรงในสังคมได้มาก
เมืองไทยตอนนี้เราคิดแต่เรื่องการใช้ความรุนแรงตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนว่าเวรต้องระงับด้วยการไม่จองเวร
แต่ทุกวันนี้เราพูดว่าแรงมาต้องแรงไป บ้ามาต้องบ้าไป ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
แล้วประเทศของเราจะเป็นอย่างไรถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ต่อไปเราอาจจะเป็นอย่างศรีลังกาถ้าเรายังคิดแบบนี้
และพระเราหลายรูปก็ไปส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงเสียด้วย ทั้ง ๆ
ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ในพระไตรปิฎกหรือในชาดกมีสอนเรื่องนี้เยอะมาก
เช่น ชาดกเรื่องขันติวาทีดาบส ขันติวาทีเป็นดาบสที่พระราชาอิจฉา
จึงสั่งตัดมือตัดแขนตัดขา ขันติวาทีดาบสแทนที่จะโกรธ กลับถวายพระพรให้เจริญยิ่งยืนนาน
นี่ขันติธรรมและเมตตาธรรมตามหลักพุทธศาสนา แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยสอนเรื่องนี้กันแล้ว
มีหลักการทางพุทธศาสนามากมายที่สามารถนำมาใช้แก้ความขัดแย้งได้
จอห์น แมคคอนเป็นฝรั่งชาวอังกฤษ เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง
ซึ่งผมช่วยเป็นบรรณาธิการ คือศาสตร์และศิลป์แห่งการแก้ไขความขัดแย้ง
เขาเอาหลักปฏิจจสมุปบาทมาประยุกต์ให้เป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการแก้ไขความขัดแย้ง
เราน่าจะมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการว่าจะนำเอาหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในการเรียนหรือการส่งเสริมกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีได้อย่างไร
ไม่ว่าในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือในวัด ถ้าเราไม่ทำตรงนี้
สังคมไทยจะเคลื่อนไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์ที่ภาคใต้จะรุนแรงมากขึ้น
ในที่สุดเราก็อาจจะเป็นอย่างศรีลังกาที่สู้รบกันมา ๒๐ ปีแล้วก็ยังไม่เลิก
ประเด็นสุดท้าย คือการวิจัยเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา
เรื่องนี้จำเป็นมากเลย เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าการศึกษาของสงฆ์ก็ดี
การปกครองของสงฆ์ก็ดี มีปัญหามาก รวมทั้งความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ตกต่ำลงมาก
สถานการณ์ของพุทธศาสนาในเวลานี้ถ้าพูดอย่างสรุปก็คือ พุทธศาสนาไม่สามารถเป็นแรงบันดาลใจในทางปัญญาและศีลธรรมได้
เดี๋ยวนี้เวลาจะรณรงค์ให้คนไทยทำความดี จะต้องอ้างในหลวง คือบอกให้คนไทยทำความดีเพื่อในหลวง
ปลูกป่าก็เพื่อในหลวง ต่อต้านยาเสพติดก็เพื่อในหลวง แต่ว่าเคยมีไหมที่รณรงค์คนไทยให้ทำความดีเพื่อพระพุทธเจ้า
ถ้าทำความดีเพื่อในหลวง คนไทยทำ แต่ถ้าจะทำความดีเพื่อพุทธศาสนา
ไม่ค่อยมีใครอยากทำเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ไม่เห็นมีใครรณรงค์ให้คนไทยทำความดีเพื่อพุทธศาสนาหรือเพื่อพระพุทธเจ้า
เศรษฐกิจพอเพียงพระพุทธเจ้าตรัสมานานแล้ว พระสงฆ์ก็พูดมานานแต่สังคมไทยไม่มีการเขยื้อนขยับ
แต่พอในหลวงพูดเศรษฐกิจพอเพียง สังคมไทยขยับ เพราะในหลวงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในทางจริยธรรม
ปลูกป่าก็ต้องปลูกป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ มีไหมปลูกป่าเพื่อพุทธศาสนา
เมืองไทยนี้ถ้าไม่มีในหลวง ก็แทบจะไม่มีแรงอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่ความดีได้
ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าการทำดีเพื่อในหลวงเป็นเรื่องไม่ดี การทำความดีเพื่อในหลวงเป็นเรื่องดี
แต่ว่าสังคมไทยควรมีแรงบันดาลใจจากหลายแห่งที่จะกระตุ้นให้ผู้คนทำความดี
พุทธศาสนามีพลังที่จะแรงบันดาลใจให้คนทำความดีได้ แต่พลังดังกล่าวกำลังจะหมดไปจากสังคมไทย
เดี๋ยวนี้เวลาทำบุญเราไม่ได้ทำบุญเพื่อพุทธศาสนา แต่เราทำบุญเพื่อตัวเอง
เพื่อให้รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง ทีนี้จะทำอย่างไรพุทธศาสนาถึงจะกลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำความดี
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำความดีเพื่อในหลวง เมืองไทยโชคดีที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดี
แต่ว่าเราต้องมีมากกว่านั้น เราต้องมีแรงบันดาลใจจากหลาย ๆ แหล่ง
และแหล่งหนึ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่จะมีการวิจัยเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นพลังในทางปัญญาและคุณธรรมอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา.-http://www.visalo.org/article/budBudandVijai.htm
กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค
๑๖
ไป
Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป
Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี
|