เข้าวัดทำไม ?
โดย ชยสาโรภิกขุ

จาก ธรรมเกตเวย์

 

              บางคนที่มาวัด เข้ามากราบอาตมาในศาลา ชมว่า ที่นี่ร่มรื่นดีนะครับ น่าอยู่ เสร็จแล้วก็กราบลากลับบ้าน..เขาได้บุญไหม คงได้เหมือนกัน แต่เสียดายว่า ไม่ได้มากกว่านั้น

              ประโยชน์ประการแรกที่เกิดจากการเข้าวัดป่า คือการสัมผัสกับธรรมชาติ มองไปทางไหน ไม่มีป้ายโฆษณา ไม่มีสิ่งใดบาดตา หรือกระตุ้นกิเลส กายกับใจรู้สึกเย็นลงทันที แค่นี้ก็เป็นบุญอยู่แล้ว แต่ในระยะยาว คงจะมีผลต่อชีวิตน้อย ฉะนั้นถวายทานแล้ว หลวงพ่อประธานสงฆ์ว่า ให้ไปสนทนาธรรมกับท่านบ้างก็ดี สนทนาไม่เป็น ขอท่านเมตตาให้ธรรมะสักข้อหนึ่งก็ได้ ท่านไม่ว่าง หรือเราไม่กล้าจริง ๆ ก็ไปหาที่เงียบ แล้วนั่งสมาธิสักเล็กน้อยก่อนกลับ เข้าวัดอย่างนี้ ครูอาจารย์ท่านชื่นใจ

              เข้ามาในวัดคือเข้าในแดนอภัย เป็นที่ปลอดจากการเอารัดเอาเปรียบ เป็นที่ที่ไม่ต้องมีการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกัน อยู่วัดไม่ต้องแข่งขันกับใคร ไม่ต้องระแวงใคร ไม่ต้องยุ่ง สังคมไทยโชคดีที่มีที่ที่ประเสริฐอย่างนี้ เป็นที่ที่สนับสนุนส่วนที่ดีของมนุษย์ และเป็นที่ชุมนุมของคนดี และผู้ที่ต้องการเพิ่มความดีของตน

              ถึงจะมีเวลาจำกัด เข้าวัดแล้วไม่ต้องรีบ วันหนึ่งอย่ามีรายการแน่นเกินไป ยา๖โยมบางคณะ วันหนึ่งไปทำบุญถึงสิบวัดก็มี หัวหน้าทัวร์เดินเข้าศาลาหน้าเครียด ดูนาฬิกาตลอดเวลา เจ้าอาวาสองค์ไหนให้โอวาทนานไปหน่อย (เช่น อาตมาเป็นต้น) ก็ชักกระวนกระวาย ไปเยี่ยมวัดเอาพอดีกับเวลา พอดีกับกำลังไม่ดีกว่าหรือ

              บุญ คื ชื่อของความสุข และอย่างลืมว่า การเดินทางแสวงบุญไม่ใช่การไปหาสิ่งนอกตัวเรา ที่แท้เป็นการแสวงหาโอกาสบำรุงบุญซึ่งอยู่ในใจเราตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทาง

              วัดเป็นทีอยู่ของพระสงฆ์ เข้าวัดแล้วให้สังเกตความเรียบร้อย ความเรียบง่าย ความสะอาดสะอ้าน ดูความสำรวมของพระภิกษุสามเณร ระลึกว่ายังมีผู้มุ่งมั่นในชีวิตพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่นเหมือนสมัยก่อน ยังไม่เสื่อม น่าเลื่อมใส พิจารณาว่า ท่านกำลังสืบต่ออายุของบรมพุทธศาสนา แล้วเราทำบุญกับท่าน เราก็มีส่วนในการบำรุงพระศาสนาเหมือนกัน คิดถูกทางแล้วจะเกิดปีติ หลวงพ่อผู้เป็นประธานสงฆ์ให้ข้อคิดอะไรก็ตั้งใจฟัง และพยายามจำไว้ เพื่อเป็นของดีติดตัวกลับบ้าน

              ในพระพุทธศาสนา เราทุกคนต้องเป็นนักศึกษา การศึกษาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นก็คือ การตั้งใจศึกษาเรื่องของเราเอง เพราะธรรมะของพระองค์ทั้งหมดทั้งสิ้น มีความมุ่งมั่นอยู่แต่ในสองเรื่อง คือ

              หนึ่ง การเปิดเผยธรรมชาติของมนุษย์ และ

              สอง การชี้แนะแนวทางปฏิบัติต่อธรรมชาตินั้นให้ถูกต้องเพื่อการพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

              .....สองเรื่องเท่านั้น

              เราเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพุทธมามกะแล้ว เราค้นคว้าเรื่องความเป็นมนุษย์ของเราบ้างน่าจะดี เหตุผลก็คือ เราไม่อยากเป็นทุกข์ ก็ต้องฝึกการปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในด้วยปัญญา เพื่อไม่ให้เป็นทุกข์ เพราะชีวิตเราจะปลอดทุกข์เองโดยไม่ต้องปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องสนใจศึกษาธรรมะ

              ธรรมะไม่ได้เกิดอยู่ที่อื่นไกล หากเกิดที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเราแต่ละคน แต่เราจะน้อมธรรมะเข้ามาสู่ใจเพื่อประโยชน์สุขของเรา ครอบครัว และสังคมที่เราอยู่อาศัย ไม่ใช่ของง่ายเลย ต้องฝืนความเคยชินและนิสัยเก่าพอสมควร ในเบื้องต้นเรายังอ่อน ต้องการกำลังใจจากข้างนอกค่อนข้างมาก ท่านจึงให้เราคบผู้ที่ศึกษาดีแล้ว ปฏิบัติดีแล้วเพื่อได้วิธีที่ถูกและเพื่อได้ความมั่นใจว่า การปฏิบัติมีผลจริง ไม่เหลือวิสัย ส่วนมากผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มักเป็นนักบวช ท่านจึงให้เราเข้าวัด เข้าวัดต้องเข้าให้เป็น ถ้าหากเรามาคิดทำความเข้าใจกับธรรมชาติของตัวเอง ไม่สนใจชีวิตของเราว่า มันคืออะไรกันแน่ ไม่อยากพัฒนาตน การเข้าวัดก็จะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เหมือนคนกำลังไม่สบาย เข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อบริจาคทรัพย์บำรุงโรงพยาบาล โดยไม่คิดรักษาโรคของตัวเอง เพราะยังไม่เจ็บมากก็เลยเสียดายเวลา

              โรคของเรา คือ ความทุกข์ สาเหตุสำคัญคือการไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่รู้จักตัวเอง ก็ถูกหลอกง่าย พร้อมที่จะตกเป็นเหยื่อนของสิ่งมายาทั้งหลายอยู่เสมอ มัวแต่ดิ้นรนเพื่อจะได้สิ่งที่ชอบและเลี่ยงสิ่งที่ไม่ชอบอยู่เสมอ เชื่องมงายในร่างกายและจิตใจ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ก็ย่อมไม่เห็นความไม่เที่ยงและความไม่มีเจ้าของของชีวิต

              การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากกิเลสได้ การทำบุญอย่างเดียว ไม่ปฏิบัติ ถึงจะทำให้มีสิ่งยึดเหนี่ยวอยู่ในใจบ้าง แต่มันไม่มั่นคง ลึก ๆ แล้วเราจะยังอยู่ในสภาพเดิม คือเคว้งคว้างอยู่เหมือนเรือเล็ก ๆ กลางทะเลอันกว้างใหญ่ มีเข็มทิศก็ใช้ไม่ค่อยเป็น มีสมอก็ไม่รู้จักทอด เอาแต่ประดับประดาเรือก่อนอับปาง ชาวพุทธเราควรสนใจวิธีอุดรู วิธีวิดน้ำบ้าง จะได้เราตัวรอดได้ หากไม่สนใจศึกษาเรื่องตัวเอง เข้าวัดแล้วสักแต่ว่าไหว้พระพอเป็นพิธี ทำบุญบำรุงวัดตามประเพณี แล้วออกไปชมต้นไม้บ้างก่อนกลับ ไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีอยู่หรอก แต่ยังดีไม่พอ ศาสนา ธรรมะ เป็นสิ่งที่ต้องน้อมเข้ามาเป็นเครื่องชำระ

              วัดอยู่ได้เพราะน้ำใจของญาติโยม ลูกศิษย์หลวงพ่อชา รังเกียจการเรี่ยไรที่สุด จึงอยู่ได้ด้วยศรัทธาของญาติโยมโดยแท้ การช่วยทางปัจจัยสี่สำคัญเหมือนกัน แต่พระที่ดี ท่านไม่ยินดีในเรื่องนี้ สิ่งที่ท่านยินดีที่สุด ชอบที่สุด คือการเห็นผู้ครองเรือนตั้งใจปฏิบัติธรรม

              ไปวัด ไม่ว่าเพื่อทำบุญสุนทาน ไหว้พระ กราบนมัสการการครูบาอาจารย์ หรือไปจำศีลปฏิบัติธรรม พยายามระลึกอยู่เสมอว่า จุดประสงค์ของเรา ควรอยู่ที่ความดี ความสงบปละปัญญา ระวังอย่าวุ่นบุญก็แล้วกัน หรือร้ายกว่านั้น อย่านั่งในโรงครัว ทานอาหาร คุยเรื่องทางโลก วิจารณ์เรื่องการบ้านการเมือง พรรคไหนดี พรรคไหนเลว หรือนินทาลูกเขย ลูกสะใภ้ อย่าคุยในเรืองใดที่เพิ่มกิเลสในใจ ทั้งของผู้พูดและผู้ฟัง หรือพูดให้ชาววัดแตกแยกกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าเสียดายเวลาที่สละเข้าวัด เรียกว่าเข้าวัด แต่ไม่ถึงวัด

              ฉะนั้น มาถึงที่ร่มเย็น อย่าให้มันร้อน ต้องฝึกให้เย็นสิ ตัวเราจึงจะเหมาะกับสถานที่ ให้น้อมนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาสู่ใจเรา สำรวมกาย วาจา ใจ หาอุบายแก้ข้อบกพร่องที่อยู่ในใจ เสริมสร้างสิ่งที่ดีงาม อย่างนี้คือการเข้าวัดที่เข้าท่า ได้ทั้งวัตรปฏิบัติ ได้ทั้งเครื่องวัดตัวเอง

              ในพระพุทธศาสนา วัดเป็นสถานที่สำคัญ แต่ศาสนาที่แท้ไม่ติดอยู่ที่สถานที่ ศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก ไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่เรา อยู่ที่เราแต่ล่ะคน แผ่นดินไหว หรือผู้ก่อการร้ายบุกเข้ามาวางระเบิดหน้าพระประธาน วัดป่านานาชาติ จนวัดเหลือแต่หลุมลึก ผู้ที่ยังเหลืออยู่ต้องอดทน อย่าเพิ่งโกรธ ศาสนาก็ไม่ได้สูญหายไปกับวัตถุ

              ชาวพุทธเราควรสร้างวัดให้พอดีแก่กิจของสงฆ์ และช่วยท่านรักษาสิ่งที่สร้างแล้วอย่างดี แต่พึงอย่าลืมว่า วัดเป็นแค่ที่เอื้อต่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม การสร้างศาสนวัตถุก็ได้บุญอยู่หรอก ได้บุญเยอะ แต่ยังไม่ได้บุญชั้นเยี่ยม คือความสงบจากกิเลส ยังไม่ถึงสิ่งสูงสุดที่เราควรได้รับจากการเป็นชาวพุทธ วัตถุเป็นฐานของการเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนา

              หลักการประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านสรุปง่าย ๆ ว่า ต้องมุ่งไปที่การรู้ รู้อะไร รู้ว่า นี่คือทุกข์ นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือความดับทุกข์ นี่คือหนทางไปสู่ความดับทุกข์ หลักสูตรการศึกษาของเราอยู่ที่สิ่งเหล่านี้

              ข้อแรก คือศึกษาให้รู้ว่า นี่คือทุกข์ เราจะไปศึกษาที่ตรงไหน ถ้าไม่ศึกษาในตัวของเราเอง เรากำลังทุกข์ไหม ? เราเคยมีทุกข์ไหม ? ในการพิจารณาเรื่องนี้ ขอให้ทราบด้วยว่า คำว่าทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างสาหัสนะ ไม่ต้องอกหัก หรือกลัดกลุ้มถึงขั้นคิดอยากทำลายตัวเอง จึงจะเรียกว่าทุกข์ นั้นก็ทุกข์แน่นอน แต่ส่วนมากคนเรา นาน ๆ ครั้งถึงจะทุกข์อย่างนั้น หรือชาตินี้บางคนอาจจะไม่เคยเจอทุกข์ขนาดนั้นเลยก็ได้

              ความหมายของคำว่า ทุกข์ กว่างขวางกว่านั้น คือ สิ่งที่เราทุกคนต้องยอมับ ก็คือว่า ชีวิตเรายังไม่สมบูรณ์ เรามักมีความรู้สึกอันหนึ่งแฝงอยู่ในใจเสมอว่า “อย่างนี้ยังไม่ใช่” ความรู้สึกนี้มีผลต่อชีวิตเรามาก แต่น้อยคนอยากศึกษาตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เราเห็นว่าความรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่” เป็นอาการอย่างหนึ่งของทุกข์

              ฉะนั้นอย่างพึงเอาหัวมุดลงไปในทรายเหมือนนกกระจอกเทศ โดยหวังว่า เมื่อไม่เห็นทุกข์แล้ว มันจะหายไปเอง พระองค์พร่ำสอนให้เราหมั่นกำหนดรู้มัน ความทุกข์ของมนุษย์มีหลากหลาย ในโลกมี่สมมติกันว่าเจริญแล้ว ความลำบากเนื่องด้วยปัจจัยสี่ หรือความต้องการของร่างกายลดน้อยลงมากแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความทุกข์ของคนจะลดตามอัตราเลย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบใหม่

              ในโลกปัจจุบัน โรคทางจิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โรคซึมเศร้ากำลังระบาดทั่วโลกพร้อมกับความเจริญ แม้ในหมู่เด็กและวัยรุ่นก็มีมากขึ้นทุกปี มันน่าคิดนะว่า ทำไมในประเทศที่คนมีเงินมีทองพอที่จะสบายได้แล้ว มีความสะดวกทางวัตถุมากพอควรแล้ว ทำไมความซึมเศร้าจึงแพร่หลายเหลือเกิน เป็นไปได้ไหมว่า คนสมัยนี้ กำลังขาดความลาดที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือความฉลาดในการกำหนดและการปฏิบัติต่อธรรมชาติของจิต จึงสุขไม่ค่อยเป็น

              ส่วนมากคนที่อยู่ในสังคมประเภทนี้สังคมที่ปริญญาบัตรกลาดเกลื่อน แต่ปัญญาในการดับทุกข์สร้างสุขยังกระท่อนกระแท่น คนซึมเศร้ามักจะคิดมาก คิดไม่หยุด ฟุ้งซ่าน ตึงเครียด ขี้วิตก ขี้ระแวง ไม่ทานยานอนหลับก็หลับไม่ได้ อย่างนี้คือสัญญาณเตือนภัยว่า การพัฒนาสังคมกำลังล้มเหลว

              ความผิดปกติหลายอย่างกลายเป็นความปกติเสียแล้ว ผู้ไม่เข้าวัดหรือไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยเห็นปัญหา สมัยก่อนมนุษย์ส่วนมากอยู่ในชุมชนเล็ก คือหมู่บ้าน แต่สมัยนี้ คนบ้านนอกไปหางานในกรุง ก้มหน้าก้มตาทำงาน บางทีอยู่เป็นปีไม่รู้จักชื่อของคนที่เห็นอยู่ทุกวัน อยู่ในที่พลุกพล่านอาจเหงายิ่งกว่าอยุ่คนเดียว

              เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างหนึ่ง ชาวปารีสอยู่คนเดียวเกือบครึ่งหนึ่งของพลเมืองหกเจ็ดล้านคน อยุ่คนเดียวตั้งสามล้านคน ในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่ไม่มีมนุษย์อยู่เป็นเพือ่นเลย พวกนี้ชอบเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเป็นเพื่อน ไม่รู้จะคุยกับใครก็คุยกับหมา คุยกับแมว ดีเหมือนกันนะ ไม่ค่อยทะเลาะกัน แล้วอย่างน้อยเขาก็มั่นใจว่า สุนัขหรือแมวที่เขารัก มีเขาเป็นเจ้าของแต่เพียงคนเดียว แต่ก็น่าสงสารเหมือนกัน อยู่ท่ามกลางมนุษย์แต่ไม่รู้จักมนุษย์

              นี่คือผลอย่างหนึ่งของความเจริญทางวัตถุที่เห็น ๆ อยู่ คือ คนคบคนไม่เป็รมากขึ้น ต้องคบสุนัขคบแมวแทน อยู่ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

              เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เจริญก้าวหน้ามาก เพิ่มความฟุ้งซ่าน และความเบียดเบียนมากว่าสิ่งที่ดี เดี๋ยวนี้ดกรธใครในต่างประเทศก็โทรไปด่าเขาข้ามทะเลได้สบาย ทุกวันนี้ ตำรวจเขามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ จับคนชั่วได้ง่ายขึ้น เช่น การตรวจดีเอ็นเอ การใช้คอมพิวเตอร์ประสานงานกัน เป็นต้น แต่พวกพาล พวกโจร เขาก็มีเทคโนโลยีของเขาเหมือนกัน ต่างคนต่างเจริญ ต่างคนต่างเป็นทุกข์ ไม่เห็นวี่แววว่าจะมีที่จบสิ้นได้เลย

              สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ คนส่วนมากมารู้ว่า เขาอยู่เพื่ออะไร ไม่รู้เขาอยู่ทำไม่ เมื่อเขาไม่มีเป้าหมายชีวิต ก็กลายเป็นโรคจิต โรคประสาทกันเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าหากว่าชีวิตเราไม่มีทิศทาง อยู่ไปวัน ๆ สุดท้ายมักจะป่วย ไม่ป่วยกายก็ป่วยใจ เพราะชีวิตขาดปัจจัยที่ห้าของมนุษย์ คือ อรรถ หรือ ความหมาย ย่อมอ่อนแอ

              ขอให้สังเกตดูก็แล้วกันว่า เมื่อไรคนเราเห็นว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มีความหมาย เราก็กล้าเสียสละ กล้าอดทนในการกระทำสิ่งนั้น แต่ถ้าเผื่อรู้สึกว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่มีความหมาย ถึงจะอดทนได้ก็ไม่อยากอดทน ไม่รู้จะอดทนไปทำไม

              ความสำคัญยิ่งของความหมายและเป้าหมายในชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่คนสมัยปัจจุบันมักมองข้าม ถึงแม้ว่าลึก ๆ แล้ว ภายในจิตใจรู้สึกอ้างว้างว้าเหว่ว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นแก่นสารสาระ ตราบใดที่เรายังไม่เห็นโทษ ก็มัวแต่สะสมวัตถุ มัวแต่วิ่งหาโลกธรรม โดยถือหลัก เพียงแค่ว่า น่าจะเป็นทางที่ถูก เพราะเป็นทางของคนส่วนใหญ่ ถือเอาโลกเอาสังคมเป็นเกณฑ์ แต่คำถามสำคัญที่เราต้องฝืนใจถามตัวเอง คือ วิถีชีวิตอย่างนี้ได้ผลสมปรารถนาจริงไหม ชีวิตสมบูรณ์แล้วหรือ หรือสมบูรณ์ขึ้นทุกปีไหม ในเมื่อสิ่งที่ใจเราต้องการอย่างแท้จริง คือความสุขที่เที่ยง แต่เรากลับเอาแต่โลกธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วทำไมจะไม่เหงา

              ใครที่ยังเอาทรัพย์สมบัติเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นเครื่องวัดความสำเร็จในชีวิต เรียกว่าเป็นผู้ที่ยังขาดการศึกษาทาง อรรถศาสตร์ มาก (อาตมาเรียกเอง บัญญัติศัพท์เมื่อกี้นี้) อ่อนความรู้เกี่ยวกับแก่นแท้ของชีวิต หยุดอยู่แค่ระดับประถม ถ้าเป็นอย่างนั้น อายุมากแล้ว ยมย้อมดำสนิทก็ตาม ผิวย่นดึงไว้แน่นก็ตาม เราอาจจะหลอกตาคนได้บ้าง แต่ด้านในเราหลอกธรรมชาติไม่ได้หรอก แก่แล้วโดยไม่มีความเป็นนักปราชญ์ปรากฏเลย ก็ขาดที่พึ่ง น่าเสียดาย

              ชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตที่ดี จำต้องมีจุดมุ่งหมายที่สูงกว่าเพียงแค่ผลตอบแทนจากการทำมาหากิน ต้องมีความหมายสูงกว่าโลกธรรมต่าง ๆ บางคนมัวแต่แสวงหาอำนาจ ต้องการเป็นผู้มีชื่อเสียง โดยลืมไปว่า ดังเท่าไหร่ก็ตาม ตายแล้วไม่กี่ปีก็ไม่มีใครเขาจำได้ ขอถามว่าเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วใครเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง จำได้ไหม ? ๕๐ ปีที่แล้ว คนที่เคยถือตัวถือตนเหลือเกิน เดี๋ยวนี้นอกจากนักวิชาการและผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์โดยตรงเท่านั้นที่จำได้ นอกนั้นจำเขาไม่ได้เลย ไม่ต้องเอาถึง ๕๐ ปี ๒๐ ปี ๑๐ ปี รัฐมนตรีมีใครบ้าง จำได้ไหม เราจะเอาชื่อเสียงเป็นที่พึ่งในชีวิตได้หรือ

              เมื่อคนไม่รู้ว่าเขาอยู่ทำไม ไม่เห็นว่าชีวิตของตนมีคุณค่าอยู่ตรงไหน มักจะหาสิ่งที่อยู่ภายนอกมาเป็นเครื่องยืนยัน ปลอบใจด้วยความกลัว ความเกรงใจ หรือความนับถือที่ได้รับจากลูกน้องหรือคนรอบข้าง อย่างนี้เรียกว่า “มนุษย์ไม้ไผ่” คือ ข้างนอกดูแข็ง แต่ข้างในกลวง

              บางคนอยากมีบริษัทมีบริวาร ถือว่ามีบริวารมาก แสดงว่าตนเป็นผู้สำคัญ ต้องการเป็นผู้สำคัญในสายตาของคนอื่น เพราะว่ามองดูภายในแล้วไม่เห็นมีอะไรสำคัญนอกจากความสำคัญที่คนอื่นเขามอบให้ แต่ถ้าความเคารพนับถือตัวเองและความรู้สึกในคุณค่าของชีวิตผูกมัดกับคนอื่น หรือสิ่งอื่น เราจะต้องเครียดอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเราไม่สามารถจะบังคับบัญชาให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นไปตามความต้องการของเราตลอดไป

              ฉะนั้น ถึงแม้ว่าอยู่ในสถานที่อันสะดวกสบาย วัตถุสิ่งของพร้อมหมดทุกประการ ก็ยังไม่พ้นจากความกังวลได้ นั่งวิตกว่า ถ้าสมมติว่าสิ่งนี้หายไป เราจะทำอะไร จะแย่ แย่อย่างนั้น แย่อย่างนี้ คนที่ยึดติดในสิ่งที่ตนมี ต้องกลัวความไม่มีของสิ่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา กลัวพลัดพรากเพราะว่าเอาความสุขในชีวิตไปผูกพันกับสิ่งอื่น หรือกับคนอื่นมากเกินไป ชีวิตก็ไม่เป็นตัวของตัว จิตใจก็ไม่มีกำลัง

              ฉะนั้น พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เรามาศึกษาธรรมชาติของตัวเอง ให้เรารู้ว่า ความทุกข์คืออะไร มันเกิดอย่างไร อาจไม่เหมือนที่เราคิด บางคนคิดว่า ไม่มีใครรู้จักเรา ไม่มีใครให้เกียรติเรา ก็เป็นทุกข์ ไม่มีใครรักเรา ไม่มีใครเคารพเรา ก็เป็นทุกข์ หรืออาจจะคิดว่าเราอยู่คนเดียวไม่มีใครสนใจเรา อย่างนี้ก็จะเป็นทุกข์มาก แต่ถ้าเราเริ่มเห็นความจริงว่า เอ...... มันไม่ใช่นะ ไม่ใช่ทุกข์เพราะคนอื่น ทุกข์เพราะความคิดของตัวเองมากกว่า ทุกข์เพราะเราต้องการอะไรสักอย่าง เพราะเราเกิดความต้องการ เกิดความอยาก จิตก็เสียศูนย์ ไม่ปกติเสียแล้ว เกิดความคิดผิดว่า เราขาดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว ชีวิตเราจะไม่สมบูรณ์ ถ้าเข้มข้นขึ้นมาก็กลายเป็นอุปาทานว่า ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว เราจะอยู่ไม่ได้ ความสุขในชีวิตต้องขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น ขึ้นอยู่กับคนนั้นอย่างเดียว กลายเป็นอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นไป

              ดังนั้น ให้ขยันดูธรรมชาติของตัวเอง ดูความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ว่า มันเกิดอย่างไร มันอยู่อย่างไร มันดับอย่างไร ดูตรงนี้ ปัญญาความรู้เท่าทันธรรมชาติจะเกิดขึ้น เราก็จะทะลุปรุโปร่งว่า สิ่งทั้งหลายเป็นแค่นี้เอง

              การศึกษาความไม่แน่นอนต้องติวเข้ม เพราะมีการสอบทุกวัน ตอนเช่าอารมณ์สดใส ตอนสายก็ไม่แน่ ใครมาพูดอะไรไม่ถูกใจเรา หรือทำอะไรที่เราไม่พอใจ อารมณ์ก็บูด ตอนบ่ายมีใครเอาของขวัญมาให้ จิตใจก็บาน มันตลกเหมือนกัน เอาแน่ไม่ได้ ผู้ไปยึดติดในอารมณ์ว่า เราคืออารมณ์ อารมณ์คือเรา จะเหน็ดเหนื่อยมาก เวลาจิตใจสดใส...แหม ดีใจเหลือเกิน แต่เวลาอารมณ์เปลี่ยนไป เพราะมีการกระทบกระเทือนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าเราเสียสิ่งที่ดีไป พลัดพรากจากสิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จิตใจตกต่ำสงสารตัวเอง ซึมเศร้า ต่อมาก็มีแปรปรวนอีก จิตใจก็สูงขึ้นอีก มันขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนี้ เหมือนขึ้นเขาลงห้วย เหนื่อยมาก

              ผู้มีสติอยู่ในปัจจุบัน อารมณ์อะไรกระทบ ก็สังเกตผลต่อจิตใจโดยไม่สำคัญมั่นหมาย ไม่ปล่อยให้จิตใจไปปรุงแต่งในเรื่องนั้น สักแต่ว่ารู้รับทราบ ถ้าหากว่าเราไม่ยินร้ายกับสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่พอใจ อารมณ์นั้นจะกำเริบไม่ได้ แต่ถ้าเราหลงว่า สิ่งนั้นกระทบตัวเราโดยตรง เรียกว่ามีอัตตาปรากฏอยู่ตรงนั้น ความคิดที่เป็นอกุศลก็ย่อมเกิดขึ้น และถ้าเราต้อนรับอารมณ์นั้นดี มันก็อยู่นาน อารมณ์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ไ ทำให้จิตใจเราเศร้าหมองมาก เมื่อจิตใจเราเศร้าหมองแล้ว การกระทำการพูดก็ไม่ปกติ อาจพูดอะไรที่ไม่ควรพูด ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือสิ่งที่ควรพูด ควรทำไม่ได้ทำ การรับทราบ การวินิจฉัย การตัดสินทุกอย่างก็ผิดเพี้ยนไป

              เมื่อเรารู้สึกว่า เราทำอะไรไม่ถูกต้อง เราก็เลยไม่พอใจตัวเองอีก ไปว่าตัวเองอีก ซึ่งเพิ่มความซึมเศร้าเข้าไปอีก อย่างนี้ก็เป็นวัฏฏะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา

              ฉะนั้น ท่านให้เราเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม คือรู้อยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติไม่มีเสาร์อาทิตย์ ไม่มีพักร้อน เหมือนลมหายใจ หยุดไม่ได้ เดี๋ยวอันตราย การรู้นี้ต้องรู้อย่างไร รู้อยู่ต่อกายของเรา รู้อยู่ต่อเวทนา รู้อยู่ต่ออาการของจิต รู้อยู่ต่อความคิดดีคิดชั่วต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในใจ เพราะถ้าเราไม่รู้ต่อสิ่งเหล่านั้น ไม่มีสติ อวิชชาก็ห่อหุ้ม อวิชชาคือ ความไม่รู้ ถ้าไม่มีวิชา ขาดความเข้าใจในสิ่งใดเรียกว่าอวิชชา

              อวิชชา อยู่ตรงไหน ตัณหา ก็อยู่ตรงนั้น การที่จะไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งใดโดยไม่มีตัณหาในสิ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะอวิชชากับตัณหาอยู่ด้วยกัน ขาดปัญญาตรงไหนมันพร้อมที่จะเสียตรงนั้น ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี อยากไม่มี อยากจะหนีจากสิ่งนั้น ไม่อยากจะต้องเผชิญกับสิ่งนั้น ไม่อยากต้องยุ่งกับสิ่งนั้น ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นรังควานใจของเรา ดังนั้น ท่านสอนให้เรารักษา “ตัวรู้” ไว้อยู่ตลอดเวลา ถ้ามี ตัวรู้” อยู่ในใจ รู้บาป รู้บุญ รู้คุณ รู้โทษ ก็มีกัลยาณมิตรอยู่กับเราตลอดเวลา สติอยู่กับเรา จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง สติก็อุตส่าห์บอก “ไม่ถูกนะ! บาปนะ! “ อย่างนี้จะเป็นสิริมงคล

              ถ้าหากว่าเรามีสติ เปรียบเสมือนมีอาจารย์ภายในใจของเราคอยตักเตือนอยู่ตลอดเวลา บางทีสติก็บอกว่าไม่ถูก ผิดนะ! บาปนะ! แต่จิตใจฮึกเหิมมันไม่ยอม ตอบสติว่าไม่เป็นไร ช่างเถอะ อย่าคิดมากเลย เอาเลย! ตัวนี้แหละอันตรายจริง ๆ เป็นตัวมาร เราต้องฝืน ต้องอดทน เมื่อเรารู้ว่าตัวนี้ตัวมาร ตัวกิเลส เราอย่าไปยอมมันเป็นอันขาด ยืนหยัดอยู่ในหลักการของตัวเอง ต้องเด็ดขาดสักหน่อยนะ เวลากิเลสมันมาขอร้อง หรือโอโลมให้เราทำในสิ่งเสื่อมเสีย สิ่งที่เรารู้ว่าไม่ดี ทุกครั้งที่เรารู้ว่าสิ่งที่กำลังทำ ไม่ดี แต่ขืนทำนั้นเป็นบาป เป็นกรรม เป็นการไม่จงรักภักดี ไม่กตัญญูต่อพระพุทธเจ้าเลย ท่านก็อุตส่าห์สอนเรา ครูบาอาจารย์ก็อุตส่าห์สอนเรา เราเป็นผู้มีบุญที่ได้มีโอกาสรับฟังคำสั่งสอนในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ถ้ารู้แล้วยังไม่ทำตาม เป็นการทำร้ายตัวเองโดยแท้

              อยู่ที่ไหนเราต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ อวิชชาจะเกิด ตัณหาจะเกิด นิสัยเสียต่าง ๆ ก็ได้รับการบำรุง บางคนถึงจะเข้ามาอยู่ในวัดก็ยังไม่ยอมสำรวม ไม่ยอมเจริญสติก็มี

              จงมีสติเป็นที่พึ่ง เรามีสติที่ไหน ก็อยู่กับธรรมะที่นั้น ไม่ผิดพลาดในที่นั้น สถานที่เราอยู่ ถึงจะกลางกรุงก็ตาม มีสติอยู่ในใจก็สงบเหมือนวัดป่าได้

              ส่วนผู้อุตส่าห์มาอยู่ในวัดแล้วปล่อยสติให้ขาดบ่อย ๆ ในขณะที่ไม่รู้ตัว วัด ก็ไม่ใช่ วัด สำหรับผู้นั้น ในขณะนั้น ซ้ำร้าย เผลอแล้วอาจทำลายบรรยากาศที่อบอุ่นและสามัคคีของชาววัดคนอื่นไปเสียด้วย เพราะผู้ไม่มีสติ ทำอะไรมักไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่น เชื่อฟังแต่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง จึงพร้อมที่จะทำให้คนอื่นที่ตั้งใจมาอยู่วัด ไม่ค่อยได้อยู่วัดเหมือนกัน บาปกรรมก็ทวีขึ้น...ความสงบได้แต่ชื่อ ฉะนั้น ผู้ต้องการอยู่ที่วัด อย่าให้แม่เหล็กแห่งโลกดึงดูดไป... สำรวมกาย วาจา ใจ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น เอาใจเขาใส่ใจเรา

              มาตรฐานของวัดมันสุงกว่ามาตรฐานของสังคมโลก บางสิ่งที่ชาวโลกเขาทำกัน โดยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนวัดรังเกียจถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับผู้ละอายและเกรงกลัวบาป ถ้าธรรมดาก็ธรรมดาของกิเลส ไม่ใช่ธรรมดาของทางสายกลาง

              คนที่อยู่ในที่รกรุงรัง เขาเห็นของสกปรกก็ไม่ค่อยได้คิดอะไร เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของที่รก แต่คนที่อยู่ในที่สะอาด ก็รู้สึกว่าของสกปรก แม้แต่เล็กน้อยเป็นมลทิน รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ บางคนเข้าวัดใหม่ ๆ มักจะสงสัย ดูเหมือนกับว่าจิตใจมีกิเลสมากกว่าอยู่ที่บ้าน ที่จริงไม่ใช่เพียงแต่ว่าฉากขาว ของเปื้อนเห็นได้ชัดขึ้น

              ดังนั้น ผู้ที่มาวัด ต้องปรับการประพฤติของตนให้เข้ากับมาตรฐานของวัด อย่าพึ่งดึงมาตรฐานของวัดลงไปสู่มาตรฐานส่วนตัว อย่านำนิสัยเสียดั้งเดิมเข้ามาแพร่เชื้อโรคในหมู่อุบาสกอุบาสิกาเลย เอาของโลกมาทับถมวัดจะน่าเกลียด เอาความดีของเรามาเสริมความดีของเขาดีกว่า

              ให้เราทุกคนสังวรสำรวมโดยเฉพาะในการพูด อยู่ในวัดเราจะคุยเหมือนที่บ้านไม่ได้ ต้องพูดแต่เรื่องที่น่าฟังผู้ชอบพูดหยาบ ต้องงดโดยเด็ดขาด ใครชอบถากถางเสียดสี ชอบกระแนะกระแหน อยู่นอกกำแพงดีกว่า มาวัดจะพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่พูดอะไรก็ตาม พยายามให้เป็นสุภาษิต คือพูดเรื่องจริงที่เป็นประโยชน์ ถูกกาละเทศะ ด้วยความหวังดี และด้วยสำนวนอ่อนโยนแล้วพิจารณาคำพูดของตัวเองบ่อย ๆ ว่า พูดอย่างนี้เหมาะไหมกับการเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ ถามบ่อย ๆ ว่า ถ้าเกิดครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือที่สุด เช่น หลวงพ่อชา ได้ทราบว่า เรากำลังจะพูดอะไร ท่านจะพอใจไหม ? ท่านจะสาธุไหม? อาจาของเราอยู่ในระดับที่เรียกว่า อริยะขันธศีล เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าหรือยัง

              การเข้าวัดก็เพื่อยกฐานะของตัวเองให้สูงขึ้น ในเบื้องต้นต้องกระเสือกกระสนให้จิตออกจากที่มืด ขึ้นไปอยู่บนทางไปสู่แดนสว่าง พระพุทธองค์ให้เราไม่สันโดษกับสิ่งดีที่เราได้เจริญแล้ว แต่ให้เราหมั่นทำให้ความดีนั้นดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เห็นแสงอยู่ปลายอุโมงค์ ต้องเดินให้ถึง ทางก็พอเดินได้ ขาเราก็มี เราจะมัวโอ้เอ้ทำไม

              มาถือศีลในวัด ต้องถือนะ คือต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ การถือว่าสิ่งใดสำคัญ คือการปลูกศรัทธาในสิ่งนั้น เมื่อเรามีศรัทธาแรงกล้าในการพัฒนาตน ทั้งทางกาย วาจา และใจ ความเพียรพยายามย่อมเกิดตามมา พระพุทธองค์ตรัสว่า ตอนล้างมือ มือซ้ายชำระมือขวา มือขวาก็ชำระมือซ้าย ตอนชำระจิต ศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล เข้าวัดต้องมีการละ การบำเพ็ญทุกครั้ง จึงจะเป็นการเข้าวัดที่สมบูรณ์ เครื่องมือที่ต้องใช้คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

              เข้ามาในวัดแล้ว ให้กล้าขัดเกลานิสัยเก่า ถึงแม้ว่าจะรู้สึกอึดอัดไม่สบาย เป็นทุกข์บ้าง มันก็ยังคุ้มค่าอยู่หรอก คนเราได้กำไรทุกครั้งที่ไม่ยอมทำตามกิเลส อยู่ในวัดเราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างตามใจ พูดอะไรตามใจไม่ได้ เพราะอะไร เพราะใจเรามันยังไม่ถึงธรรม

ถ้าหากว่าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว จิตกับธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วก็ไม่เป็นไร จะทำอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ เพราะเจตนาละเมิดจะหมดไปแล้ว กาย วาจา ใจ จะเรียบร้อยดีงามโดยธรรมชาติ ปลอดภัย ผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้วจะเบียดเบียนคนอื่นไม่เป็น จะโกหกใครไม่เป็น จะหลอกลวงคนอื่นไม่เป็น

              จิตที่เข้าถึงธรรมะแล้วบริสุทธิ์ เจตนาที่เศร้าหมอง ไม่สามารถปรากฏในจิตใจของท่านผู้นั้นได้ นี้คือเป้าหมายที่เราต้องพยายามบรรลุ ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าถึงธรรม มักชอบเข้าข้างตัวเอง จึงต้องสำรวม ต้องระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่เชื่อความคิดมากเกินไป เราประมาทไม่ได้แม้วินามีเดียว สติย่อหย่อนเมื่อไหร่ sniper (คนลอบดักยิง) คือ กิเลสจะจัดการทันทีเมื่อนั้น เราใช้ความเพียรด้วยปัญญาอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมถอย ไม่ต้องสงสัย การเจริญในธรรมย่อมเกิดขึ้น

              ให้เข้าวัดเพื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเรา เข้าวัดอย่าให้มีความรู้สึกอย่างนี้เลย แม้ความยึดมั่นว่า วัดของเรา (ดีกว่าของเขา) ครุบาอาจารย์ของเรา (เก่งกว่าของเขา) ก็อันตราย อย่ายินดีความคิดอย่างนั้นเลย จิตใจเราพ้นจากความยึดติดทั้งหลายคือจิตประเสริฐ

              ขอให้เราทั้งหลายได้เข้าถึงความประเสริฐ ปละความเกษมของจิตที่เป็นอิสระจากการบีบคั้นของกิเลสทุกคนทุกท่าน เทอญ

ที่มา.-http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/chayasaro/cs-20.htm


กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี