วัด เป็นสถานที่สำคัญในการปลูกฝังพระธรรม
คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้แก่ประชาชนสำหรับไว้ต่อสู้ทำลายล้างกิเลส
โดยมีพระภิกษุเป็น ผู้แนะ ได้แก่ อบรมสั่งสอนชี้ทางถูก และ ผู้นำ
ได้แก่ประพฤติดีประพฤติชอบให้ดูเป็นตัวอย่าง
วัด นอกจากเป็นแหล่งอบรมปลูกฝังพระธรรมแล้ว
ยังเป็นจุดรวมให้ประชาชนเข้ามา วัด คือสอบตัวเองว่าการให้ทาน การรักษาศีล
การเจริญภาวนาของตัวมีอยู่และถูกต้องหรือไม่ วัดกิริยามารยาท คุณสมบัติของผู้ดี
คุณธรรมต่าง ๆ ฯลฯ ของแต่ละคนว่าจะมีหรือไม่ และมีมากหรือน้อยอย่างไร
จะได้แก้ไขปรับปรุงให้มีและดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
วัด เมื่อเป็นสถานที่ปลูกฝังพระธรรม
ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของชีวิต จึงนับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
เมื่ออยู่วัดทุกคนต้องระมัดระวังตนให้ คิด พูด ทำ แต่ในสิ่งที่สมควรเสมอ
คือช่วยกัน รักษาความสงบ ความสะอาด ความเรียบร้อย ทั้งของตนเองเละของวัดให้ดี
ถ้าคนใดประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสมภายในบริเวณวัดก็จะเป็นความเสื่อมอย่างยิ่งทั้งแก่ตนเอง
ผู้อื่น และพระพุทธศาสนา
การแต่งกายไปวัด
เสื้อผ้า ควรใช้สีขาวหรือสีอ่อน
ถ้ามีลายก็ลายเรียบ ๆ เย็นตา เนื้อผ้า ไม่โปร่งบาง ไม่ประณีตเกินไป
ไม่หรูหราเกินไป การตัดเย็บ อย่าให้รัดรูป แต่หลวมพอสมควร เพื่อความสะดวกในการกราบไหว้พระ
และนั่งสมาธิ สำหรับท่านหญิงไม่ควรนุ่งกระโปรงสั้น หรือชะเวิกชะวากผ่าหน้าผ่าหลัง
แต่ควรนุ่งกระโปรงยาวพอสมควร หรือผ้าถุงสำเร็จ
ทรงผม ท่านชายตัดให้สั้น ถ้าไว้ยาวก็หวีให้เรียบ ท่านหญิง
อย่าแต่งผมประณีตเกินงาม ผู้พบเห็นจะได้ไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่าน
น้ำมันใส่ผม ไม่ควรใช้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรเป็นชนิดกลิ่นอ่อนที่สุด
จะได้ไม่รบกวนผู้อื่น
น้ำหอม ควรเว้นเด็ดขาด
การแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก ทาเล็บ ฯลฯ จนเกินงาม ไม่ควรทำ
เครื่องประดับราคาแพง เช่น แหวนเพชร นาฬิกาเรือนทอง หรือสร้อยทองคำเส้นโต
ๆ ฯลฯ ควรเว้นเด็ดขาด
โปรดระลึกเสมอว่า
วัด ไม่ใช่เวทีประกวดความงามหรือสถานที่พลอดรัก
วัด ไม่ใช่สถานที่อวดความมั่งมี
วัด เป็นสถานที่แสวงบุญ กิเลสใดที่พอกำจัดได้เอง กรุณากองทิ้งไว้นอกประตูวัด
การนำเด็กไปวัด
การนำเด็กเข้าวัด นั้นเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีแก่เด็ก เพราะทำให้เด็กได้ใกล้ชิดพระศาสนาตั้งแต่อยู่ในวัยอันสมควร
ข้อควรระวัง
อย่านำเด็กอ่อนไปวัดโดยไม่จำเป็น เพราะอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่นได้
เด็กที่ค่อนข้างซุกซนหรือรังแกเพื่อน ๆ ถ้านำไปด้วย ควรดูแลอย่างใกล้ชิด
การเตรียมอาหารไปวัด
อาหารที่ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ ได้แก่ อาหารที่เราใช้รับประทานโดยทั่วไป
คือปรุงขึ้นจาก พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่แล้วในท้องตลาด
ฯลฯ แต่ต้องไม่ใช่อาหารที่เป็นเดน
ข้อควรระวัง
อย่าทำอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อต่อไปนี้ไปถวายพระ เพราะเป็นอาหารต้องห้าม
ไม่สมควรแก่สมณะบริโภคขบฉัน
เนื้อมนุษย์
เนื้อช้าง
เนื้อม้า
เนื้อสุนัข
เนื้องู
เนื้อราชสีห์
เนื้อเสือโคร่ง
เนื้อเสือเหลือง
เนื้อเสือดาว
เนื้อหมี
อย่านำอาหารที่ปรุงจากเนื้อดิบ ๆ เลือดดิบ ๆ ไปถวายพระ เช่น ปลาดิบ
กุ้งดิบ ไก่ดิบ ฯลฯ จนกว่าจะทำให้สุกด้วยไฟ อย่านำอาหารที่ปรุงด้วยสุรา
จนมีสี มีกลิ่น หรือมีรสปรากฏ ไปถวายพระ อย่าฆ่าสัตว์โดยจำเพาะเจาะจงว่า
จะนำเนื้อนั้นไปทำอาหารถวายพระ
การเตรียมใจก่อนไปวัด
ความมุ่งหมายสำคัญของการไปวัด ก็คือ ไปเพื่อขัดกิเลสออกทิ้ง แต่กิเลสต่าง
ๆ นั้นได้หมักดองใจมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ขัดเกลาไม่ค่อยออก หรือออกแล้วถ้าไม่ระวังให้ดีก็อาจกลับงอกใหม่ได้อีก
งานขัดกิเลสเป็นงานที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีกำลังใจ
ดังนั้นการเตรียมใจให้พร้อมก่อนไปวัด จึงมีความจำเป็น เช่นเดียวกับทหารที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนลงสนามรบ
การเตรียมใจก่อนไปวัด
ทำดังนี้
ก่อนเข้านอนคืนนี้ จัดการภารกิจที่จำเป็นให้เสร็จเรียบร้อย ถ้าไม่เรียบร้อยก็มอบหมายผู้ที่ไว้ใจได้ทำแทน
ขณะประกอบการบุญจึงจะไม่เป็นกังวล สำรวมใจระลึกถึงการบุญกุศลที่เคยทำมาดีแล้วตลอดชีวิต
เพื่อยังจิตให้แจ่มใส กราบบูชาพระรัตนตรัยหน้าที่บูชาพระ สวดมนต์ทำวัตรเย็น
แล้วนั่งขัดสมาธิ เจริญภาวนา ให้หมั่นปฏิบัติเช่นนี้ต่อไปอย่าลดละ
อย่างน้อย ๑๕ ๒๐ นาที ก่อนนอนทุก ๆ คืน
เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ก่อนอื่นกำหนดใจระลึกถึงพระธรรมกายเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์
แล้วเตรียมตัวไปวัดโดยกำหนดใจว่า วันนี้เราจะตักตวงบุญให้เต็มที่
ให้คุ้มกับความเสียสละที่ได้สู้กระทำ จะอาศัยบุญนี้ฆ่ากิเลสให้สิ้นซาก
ด้วยการให้ทาน เพื่อฆ่ากิเลสคือ โลภะ
รักษาศีลและแผ่เมตตา เพื่อฆ่ากิเลสคือ โทสะ
เจริญภาวนาให้เกิดปัญญา เพื่อฆ่ากิเลสคือ โมหะ
การเดินทางไปวัด
ขณะเดินทางไปวัด ไม่ควรสนทนากันในเรื่องที่ทำให้ใจขุ่นมัว เช่น
เรื่องโจรผู้ร้าย ของแพง ไฟไหม้ น้ำท่วม ชู้สาว การเมือง ฯลฯ แต่ควรกำหนดใจระลึกถึงเรื่องบุญกุศล
เช่น ผลของการทำทานด้วยความเคารพ ผลของการรักษาศีล ๕ และศีล ๘
ตลอดชีวิต ผลของการแผ่เมตตา ผลของการเจริญภาวนาว่ามีอย่างไรบ้าง
และตนได้สร้างบุญกุศลเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด ฯลฯ
การปฏิบัติตนโดยทั่วไปภายในวัด
วัดเป็นที่รวมคนหลายประเภท ซึ่งแตกต่างกันมากทั้งอายุ ฐานะความเป็นอยู่
การศึกษา อาชีพ ตลอดจนนิสัยใจคอ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่าย
จำเป็นต้องระมัดระวังตน จึงจะได้บุญเต็มที่ ดังนั้นโปรดปฏิบัติดังนี้
สำรวมกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย งดอาการคะนองด้วยประการทั้งปวง
ทั้งนี้เพื่อให้ใจของเราเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับผลบุญที่จะบังเกิดขึ้น
งดสูบบุหรี่และเคี้ยวหมากโดยเด็ดขาด
เมื่อไปถึงสถานที่ที่จัดไว้ต้อนรับ
ควรนั่งให้เป็นระเบียบ
ในการประกอบศาสนาพิธี เช่น สวดมนต์ สมาทานศีล ถวายสังฆทาน ฯลฯ
ควรเปล่งเสียงอย่างชัดเจนโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะเป็นการแสดงความเคารพด้วยวาจา
และก่อให้เกิดความปิติใจ
สิ่งใดที่ทำให้ขุ่นหมองใจ เช่น อากาศร้อน หิวกระหาย กิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมของคนบางคน
การไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ฯลฯ ขอจงพยายามอดทน เพื่อเพิ่มขันติบารมี
และแผ่เมตตาให้ความเห็นอกเห็นใจทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าให้เกิดโทสะขึ้นได้
ศึกษาระเบียบต่าง ๆ ภายในวัดจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เช่น
การทำทาน มีการเทศน์ในวันใดเวลาใดบ้าง หรือมีกิจกรรมงานบุญอย่างไรบ้าง
เป็นต้น
( คัดลอกจากหนังสือ สวดมนต์
ฉบับพุทธบริษัท ๔)
ที่มา.-http://watbuddhamidnattsol.wordpress.com
กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค
๑๖
ไป
Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป
Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี
|