คำวัดเรื่อง "ยถากรรม" ที่ชาวพุทธควรรู้

 

          ในหนังสือคำวัด (พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ชุดคำวัด) โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ราชบัณฑิต) สมณศักดิ์ปัจจุบันคือ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ หน้า ๘๔๗ พระเดชพระคุณท่านได้กล่าวไว้ว่า..
          ยถากรรม แปลว่า ตามกรรม ใช้คำเต็มว่า ตามยถากรรม ก็มี
          ยถากรรม หมายถึง เป็นไปตามกรรม, ตามแต่จะเป็นไป, ตามมีตามเกิด ใช้ในกรณีที่ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้ หรือวางเฉยด้วยเห็นว่าต้องปล่อยไปตามเหตุการณ์ หรือรู้สึกท้อแท้ปล่อยวางด้วยมองไม่เห็นทาง เช่นใช้ว่า "ถึงขั้นนี้แล้วต้องปล่อยไปตามยถากรรม" .. "พอพ่อแม่เลิกกัน ลูกๆก็อยู่กันตามยถากรรม"


-------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติมที่เราชาวพุทธควรทราบ โดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ปธ.๕,น.ธ.เอก.,ศษ.บ.

          กรรม แปลว่าการกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ…กรรม หากทำด้วยกาย เรียกว่ากายกรรม, ทำด้วยวาจา เรียกว่าวจีกรรม, ทำด้วยใจ เรียกว่ามโนกรรม.......... กรรมที่คนทำลงไป ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีได้ชื่อว่ากรรมทั้งสิ้น จัดเป็น ๓ อย่าง ได้แก่ กรรมดี (บุญ) เรียกว่ากุศลกรรม กรรมชั่ว (บาป) เรียกว่าอกุศลกรรม, กรรมที่เป็นส่วนกลาง ๆ ไม่สามารถจัดว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วได้ เรียกว่า อัพยากฤต

          บุญหรือกุศล ให้ผลเป็นความสุข นำไปสู่สุคติ (ที่เกิด หรือที่ไปที่ดี และเจริญรุ่งเรือง), บาป หรืออกุศล ให้ผลเป็นความทุกข์ นำไปสู่ทุคติ (ที่เกิด หรือที่ไปที่ไม่ดี ไม่มีความเจริญ ไม่มีความสุข)


          เมื่อทำกรรมลงไปแล้ว เราก็เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย… เราทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้นสืบไป….ผลของการกระทำดังกล่าวเรียกว่า "วิบาก"


          สภาพ ๓ นี้ ได้ชื่อว่า วน เพราะหมุนเวียนกันไป ได้แก่ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ทำกรรม, เมื่อทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากหรือผลแห่งกรรม, เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ กว่าพระอรหัตตมรรคจะตัดให้ขาดลง บางครั้งก็เรียกว่า "ไตรวัฏฏะ"


          "กฏแห่งกรรม" >> เมื่อทำกรรมลงไปแล้ว ก็ย่อมจะมีกรรมเป็นของตวเอง เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำสิ่งใดไม่ว่าดีหรือชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้นสืบไป ไม่ว่าผู้ทำกรรมจะเชื่อเรื่องกรรมหรือไม่ก็ตาม กรรมก็ย่อมส่งผลแก่ผู้ทำเสมอ.. เช่นเดียวกับคนจะเชื่อว่าไฟร้อนหรือไม่ก็ตาม หากสัมผัสไฟเข้าย่อมจะร้อน


          กฎแห่งกรรม หมายถึงกฏหรือข้อบังคับของธรรมชาติที่ว่าด้วยผลของกรรมที่ผู้กระทำจะต้องได้รับ ไม่มีใครหลีกพ้นผลของกรรมนั้นได้ กฏที่ว่านั้นคือใครทำกรรมดีไว้ย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วใดไว้ ก็ย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนคนปลูกพืชเช่นใดไว้ก็ย่อมได้รับผลเป็นพืชเช่นนั้น เช่น ปลูกข้าวก็ย่อมได้ผลเป็นข้าว ปลูกมะพร้าวย่อมได้ผลเป็นมะพร้าว


          กฎแห่งกรรม เป็นคำที่ใช้หมายถึงทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว แต่ส่วนใหญ่มักใช้หมายถึงกรรมไม่ดี เช่น นายจริตฆ่าคนตาย ตอนหลังถูกจำคุก ก็พูดกันว่า "สมแล้วที่ต้องไปชดใช้กรรมในคุก กฎแห่งกรรมให้ผลแล้ว"


          "ตัดกรรม คือ ตัดการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา" แล้วไม่ทำ พูด คิดในสิ่งที่มันผ่านไปแล้วซึ่งทำให้เราเสียใจในปัจจุบัน ที่เราคิด พูดอยู่ในปัจจุบันว่า "หากรู้อย่างนี้ฉันไม่ทำแบบนั้นหรอก".... เสร็จแล้ว ให้ความสำคัญกับ "ปัจจุบัน ทุกขณะจิต"..... ก่อนที่ทำ พูด คิด ให้มีสติ มีธรรมะคอยกำกับอยู่เสมอ.... ขณะที่ทำ พูด คิด ในสิ่งที่ดี มีสติ มีธรรมะคอยกำกับอยู่เสมอ "อดีตก็จะดี ปัจจุบันก็จะดี และอนาคตก็จะดี"


          ส่วนตัด "ผลกรรมที่เราทำกรรมไว้แล้ว ไม่มีใครตัดได้ เมื่อทำกรรมแล้ว ไม่สามารถตัดผลของกรรม"… แต่เวรคือความผูกพยาบาทอาฆาต เราสามารถตัดได้ หากเราพูดจาตกลงกันได้ เช่น คนข้างบ้านที่เคยด่ากันอยู่ทุกวัน ต่างคนต่างก็อาฆาตพยาบาท จองเวรซึ่งกันและกัน ถ้าหากคุยกันรู้เรื่องแล้วยกโทษให้กัน แบบนี้เรียกว่า "ตัดเวร คือตัดความผูกพยาบาทอาฆาต"…. แต่ผลกรรมที่เราได้ด่าเขาและเขาด่าเรานั้น ตัดไม่ได้เลย"


          วิถีจิต วิถีชีวิต ลักษณะ ฯลฯ ของพระกับคนชั่วต่างกัน... วิถีจิต วิถีชีวิต ลักษณะ ฯลฯ ของคนดีกับคนไม่ดีต่างกัน… จะให้คนชั่วทำ พูด คิดและมีวิถีชีวิตเหมือนพระและคนดีก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันจะให้พระและคนดี ทำ พูด คิดและมีวิถีชีวิตเหมือนคนชั่วก็ไม่ได้... จะให้คนพาลทำ พูด คิดและมีวิถีชีวิตเหมือนบัณฑิตก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันจะให้บัณฑิตทำ พูด คิดและมีวิถีชีวิตเหมือนคนพาลก็ไม่ได้... จะให้คนโง่และคนไม่มีความรู้คิดและทำเหมือนคนฉลาด มีความรู้ ก็ไม่ได้... จะให้คนชั่วสรรเสริญการทำดีก็ไม่ได้ จะให้คนดีสรรเสริญการทำชั่วก็ไม่ได้... จะให้ผึ้งดอมดมอาจมเหมือนแมลงวันก็ไม่ได้ จะให้แมลงวันเสพรสหอมหวานจากเกสรดอกไม้เหมือนผึ้งก็ไม่ได้... ในโลกนี้ไม่มีใครหรอกที่จะไม่โดนตำหนิติเตียน คนเราจะดีหรือเลวก็เพราะการกระทำ มิใช่เพราะคำคน และแม้แต่คนที่ติเตียนผู้อื่นนั้นก็ไม่ใช่คนที่ดีที่สุดเช่นกัน ทุกอย่างเป็นไปเพราะอำนาจกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต


          คนเราตายแล้วก็จะไปที่ชอบ ๆ "ที่ชอบ ๆ" ในที่นี้หมายถึง ก่อนตายเขาชอบทำกรรมอะไรไว้แล้วกรรมนั้นก็เป็นของเขาคนเดียว เขาเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เขามีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำสิ่งใดไม่ว่าดีหรือชั่ว จักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้นสืบไป ดังนั้น เมื่อตายลง ก็ต้องไปสู่ภพ ภูมิตามวิสัยของกรรมที่เขาสร้างไว้แล้ว ... ความจริงแล้ว กรรมมันให้ผลเสมอทั้งขณะที่มีชีวิตอยู่แล้วตายไป เช่น ไปด่าเขา ทำร้ายเขา ผู้ทำกรรมจะได้รับผลทันทีทุกขณะจิต หรือคนที่กินยาพิษมันก็จะเห็นผลทันที


          "กฎหมายอาจใช้ได้กับคนบางคน บางครั้ง บางสถานการณ์ แต่กฏแห่งกรรมใช้ได้กับทุกชีวิต ทุกภพ ทุกชาติ ทุกขณะจิต"…. "กรรม" คือ หลักเหตุผล ซึ่งเป็นกฏธรรมชาติ เราจะยอมรับหรือปฏิเสธ มันก็ยังให้ผลเสมอ การจะให้ผลช้าหรือเร็วนั้น เป็นเพราะเหตุและผล ที่เข้าองค์ประกอบครบ ตาม "มิติ" ของ กฎแห่งกรรม … "กรรม" ให้ผลอย่างต่อเนื่องทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า ทุกภพ ทุกชาติที่เกิด …. ไม่อยากให้ผลมันเกิด ก็อย่าสร้างเหตุ หากสร้างเหตุแล้ว ไม่มีทางที่จะปฏิเสธผล.. กรรมย่อมตามให้ผลเสมอ อยู่ที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น …. https://www.youtube.com/watch?v=R4i1BVUGmqs


          พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๗ ว่า "อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ, โส โสจติ โส วิหญฺญติ ทิสฺวา กมฺมกิลิฏฺฐมตฺตโน. ผู้ทำบาป ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ละ(ตาย)ไปแล้วก็เศร้าโศก ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง, เขาเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน จึงเศร้าโศกและเดือดร้อน.


          พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ข้อ ๓๓๓ ว่า "ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ. บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว.


          พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๓๗ ว่า "อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ, อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ, สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ฯ ตนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง, ตนไม่ทำบาปตนก็บริสุทธิ์เอง, ความบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน, คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนหาได้ไม่"


กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี