นิทานเซน : พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

โดย พุทธทาส ภิกขุ

สวนโมกขพลาราม
อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี



            นิทานเรื่องที่ ๗ ของเขามีว่า นิทานเรื่องนี้ ชื่อเรื่อง "พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง"


          
ในนครโตเกียว สมัยศักราชเมจิ มีอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่สองคน คนหนึ่งชื่อ อันโช เป็นครูบาอาจารย์ในนิกายชินงอน คนนี้ไม่ดื่มเลย อีกคนหนึ่ง ชื่อ แตนแซน หรือ ตานซาน ก็แล้วแต่จะเรียก เป็นครูบาอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยด้วย ไม่เคยถือศีลเลย จึงดื่มจัด หรือ ละโมบในการบริโภค

วันหนึ่ง อาจารย์อันโชไปเยี่ยม อาจารย์ตานซาน กำลังดื่มอยู่พอดี อาจารย์ตานซานก็ถามว่า จะไม่ดื่มบ้างเทียวหรือ คือกล่าวชักชวนให้ดื่มนั่นเอง

อันโชก็บอกว่า ไม่เคยดื่มเลย

ตานซานก็ว่า คนที่ไม่เคยดื่มเลยนั้นน่ะ ไม่ใช่คน

ฝ่ายอันโช ก็ฉุนกึก นิ่งเงียบไปขณะหนึ่ง ในที่สุด ก็พูดขึ้นมาได้ว่า ท่านว่าฉันไม่ใช่คน เพราะเพียงแต่ฉันไม่ดื่ม ถ้าฉันไม่ใช่คนแล้ว ฉันจะเป็นอะไร

อาจารย์ตานซาน ก็บอกว่า เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

แล้วนิทานของเขาก็จบ


          นี่เราจะฟังเป็นเรื่อง การโต้ตอบด้วยโวหาร ก็ได้ แต่ความจริง มันเป็นเรื่องที่มุ่งหมายจะสอนตามแบบวิธีของเขา ที่ให้คนสำนึกว่า คนนั้นยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าคนหนึ่งต่างหาก ที่ว่าเป็น พระพุทธเจ้าคนหนึ่ง ก็เพื่อจะสอนให้รู้ว่า ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าเลยมากกว่า ซึ่งทำให้อาจารย์คนนั้นก็ชงักกึกไปอีกเหมือนกัน เพราะมันก็รู้ตัวอยู่ว่า เราก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าสักที แล้วเราก็ไม่ใช่เป็นคนแล้ว มันจะเป็นอะไรกัน คนก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร

          ฉะนั้น เราเองก็เหมือนกัน เราเป็นครูตามอุดมคติหรือยัง หรือว่า ถ้าไม่เป็นครูมันก็ไม่ใช่ครู ถ้าเป็นครูก็ต้องเป็นครู และการที่เขาว่า เราไม่ใช่คน เราไม่ควรจะโกรธเลย หรือแม้ว่า ครูจะถูกกล่าวหาว่า อย่างนั้น อย่างนี้ เราก็ไม่โกรธ ถ้าจะพูดถึง พุทธะตามแบบนิกายเซ็น ก็คือว่า ถ้าเรายังเป็นครูตามอุดมคติไม่ได้ เราก็ยังเป็นพุทธะไม่ได้อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะพยายามทำตนไม่ให้เป็นอะไรเลย ให้มีจิตว่าง ไม่รู้สึกเป็นอะไรเลย ซึ่งหมายความว่า ให้อยู่เหนือการถูกว่า หรือเขาว่ามา มันก็ไม่ถูก เราเป็นชนิดนั้น กันจะดีไหม คือว่า เราเป็นอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งใครจะว่าอะไร อย่างไรมา มันก็ไม่ถูกเรา มันก็คงไม่มีอะไร นอกจากเราเป็น "ว่างจากตัวเรา" ถ้าเราเป็นอย่างนี้ มันก็จะเป็นอย่างภูเขา ซึ่งลมจะพัดมากี่ทิศกี่ทาง ก็ไม่สามารถ ทำให้ภูเขาหวั่นไหวได้

          ในบาลี มีคำกล่าวอยู่ ถ้าภูเขาเป็นหินแท่งหนึ่ง ฝังอยู่ในดิน ๑๖ ศอก โผล่อยู่บนดิน ๑๖ ศอก ลมไหนจะพัดให้หวั่นไหวได้ ถ้าเราว่างจาก ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเรามีเกียรติอย่างนั้นอย่างนี้ เราเป็นอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนั้นแหละ เราจะเป็นบุคคลที่ลมไหนพัดมาก็ไม่ถูก

 

คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.com/