วันวิสาขบูชา
โดย...เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ความหมาย.-

             วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญวันเดียวที่รู้กันทั่วโลกพระพุทธศาสนา ทางประเทศศรีลังกาเรียกว่าวันธรรมจักร ที่เมืองไทยเข้าใจว่ามีมาพร้อมกับพระพุทธศาสนาเข้ามานั้นแล ตามหลักฐาน จดหมายเหตุนางนพมาศ ก็เล่าว่ามีการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

             ถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา การทำพิธีวันวิสาขบูชาได้ยกเลิกไป มาฟื้นฟูขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบเท่าทุกวันนี้

             ส่วน วันมาฆบูชา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงกำหนดขึ้น วันอาสาฬหบูชา ก็เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้เอง เมื่อปี พ.ศ. 2501 นับเป็นวัน “น้องใหม่” ทั้งวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ไม่เป็นที่รู้กันแพร่หลายนักในหมู่ชาวพุทธประเทศอื่น เรียกได้ว่าไม่สากล เฉพาะวันวิสาขบูชาเท่านั้นที่รู้กันแพร่หลาย ชาวพุทธทั่วโลกได้ทำการบูชาในวันนี้เพื่อรำลึกถึงพระพุทธคุณ

             มีเรื่องที่น่ายินดีอย่างหนึ่งก็คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้ออกแสตมป์ชุดวันวิสาขบูชาและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแสตมป์เช่นนี้เลย เครดิตนี้ต้องยกให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเหนืออื่นใด ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ชัชวาล ปุญปัน อาจารย์พรศิลป์ รัตนชูเดช ที่ช่วยผลักดันจนเกิดผลสัมฤทธิ์นี้ขึ้นมาได้

(ผมต้องเล่าเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อขอบคุณอาจารย์ทั้งสอง และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ผลักดันให้เรื่องนี้สำเร็จ)

             วันวิสาขบูชาได้รับการยอมรับว่าเป็นวันสำคัญของโลกด้วย แสดงให้เห็นว่าวันวิสาขบูชามิใช่สำคัญเฉพาะในหมู่ชาวพุทธเท่านั้น หากมีความสำคัญสำหรับมนุษยชาติทั่วโลกด้วย พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีความหมายต่อชาวโลกทั้งปวง การตรัสรู้ของพระองค์นำมาซึ่งสันติสุขแก่ชาวโลกทั้งปวงอย่างแท้จริง เราชาวพุทธน่าจะภาคภูมิใจในเกียรติภูมิครั้งนี้

Image             ทราบไหมครับว่า ในขณะที่พวกเราชาวพุทธมีของดี มีของล้ำค่าอย่างพระพุทธศาสนา พวกเราส่วนมากก็ไม่รู้สึกตื่นเต้น ภาคภูมิใจอะไร กลับไปให้ความสำคัญแก่สิ่งอื่นซึ่งไร้แก่นสารมากกว่า ไม่ต่างอะไรกับ “ไก่ได้พลอย” หรือ “ลิงได้แก้ว”


             ในขณะที่ชาวต่างชาติต่างศาสนาหลายคนเมื่อมาได้สัมผัสความวิเศษมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาแล้ว ต่างก็ทึ่งไปตามๆ กัน

             ผมได้รู้จักกับฝรั่งหนุ่มคนหนึ่ง เขามาหาผมด้วยท่าทางกระตือรือร้น นำหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง เป็นผลงานการถ่ายภาพของเขา ขณะที่ตระเวนไปทั่วประเทศไทย เขาเล่าว่า เขาไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักว่าชาวพุทธเขานับถืออะไร ปฏิบัติอย่างไร เข้ามาประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยว ขณะนั่งรถผ่านไปตามจังหวัดต่างๆ ผ่านสถานที่หลายแห่งที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ประดิษฐานตามเชิงเขาบ้าง บนพื้นที่ราบบ้าง ในวัดบ้าง

             รู้สึกประทับใจว่าใบหน้าของพระผู้เป็นเจ้าของรูปปั้นนั้นมันช่างสงบเย็น มีพลังกระตุ้นจิตใจเขาให้ตื่นจาก “ความหลับ” ได้อย่างประหลาด ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ตัดสินใจไปดูทุกแห่งที่มีพระพุทธรูป ดู “โลเกชั่น” รอวัน รอเวลา และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสม แล้วก็เก็บภาพเหล่านั้นไว้ ตั้งใจว่าเก็บได้เพียงพอแล้วก็จะพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม และเขาก็ได้ทำสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว เขาเล่าว่า หนังสือเล่มนี้มิใช่สมุดรวมภาพพระพุทธเจ้าเฉยๆ หากเป็น “เครื่องเตือนสติ” ให้รำลึกถึงความบริสุทธิ์ ความสงบ แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

             สำหรับตัวเขาเองนั้น เขาเล่าว่า เขาได้สัมผัสกับความสะอาด สว่าง สงบ อย่างไม่เคยได้รับที่ไหนมาก่อนเลย ผ่านการจ้องมองพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า

             เพียงแค่จ้องพระพักตร์พระพุทธเจ้า เขายังได้ปรัชญาชีวิต ได้สัมผัสกับมิติที่ล้ำลึกแห่งชีวิตปานฉะนี้ ถ้าหากเขาได้มีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ เขาจะได้รับอานิสงส์อย่างมหาศาลเพียงใด เด็กหนุ่มคนนี้บอกผมอย่างนี้

             ก่อนจากกันเขาเล่าว่า วันหนึ่งเขาตั้งกล้องแล้ว นั่งรอให้พระอาทิตย์คล้อยต่ำ เพื่อเอาแสงยามพระอาทิตย์อัสดง พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมองเขาด้วยความสงสัยมาแต่ต้น ทำนองว่า ไอ้หมอนี่มันทำอะไรของมัน จะถ่ายรูป ทำไมไม่รีบๆ ถ่ายเสียให้เสร็จ จับนั่น จับนี่ มองนั่นมองนี่อยู่เป็นชั่วโมงๆ จึงเข้ามาถามว่า

              “คุณรออะไร”

             “รอแสงสว่าง” เขาตอบ คือรอให้แสงพระอาทิตย์ได้ที่เสียก่อน

             “แสงสว่างอยู่ในใจของคุณแล้วมิใช่หรือ” พระรูปนั้นกล่าวเป็นปริศนา

             เขาว่า เท่านั้นแหละครับ เขาได้คิดขึ้นมาทันที และคิดไกลไปว่าเพียงแค่รอเวลาจะถ่ายพระพุทธรูปเท่านั้น ยังมีแง่มุม มีเงื่อนไข ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ อะไรได้ขนาดนี้ หากได้มองดูพระพักตร์และองค์ของพระพุทธที่สง่างาม ในพระอิริยาบถต่างๆ อาจเป็น “สื่อ” ให้บุคคลนั้นๆ ได้สัมผัสกับความรู้ และความสงบภายในอันล้ำลึกเป็นแน่แท้ เขาจึงมีฉันทะที่จะพิมพ์หนังสือเล่มนั้นขึ้นมาใหม่ดัดแปลงรูปแบบให้สะดวกแก่การพกพา และน่าจับต้องมากขึ้น

             เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เพียงดูพระพุทธรูปอันเป็นรูปภายนอก เขายังได้ประโยชน์มากเพียงนี้ ถ้าได้นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติจะได้รับประโยชน์มากเพียงใด กาลข้างหน้าเขาว่าเขาจะมุ่งหน้าแสวงความสงบแห่งจิตใจให้ล้ำลึกกว่านี้

             เชื่อได้เลยว่า ไม่ช้าไม่นาน วงการพระพุทธศาสนาก็คงได้พระภิกษุหนุ่มจากอัสดงคตประเทศเพิ่มขึ้นอีกรูปหนึ่ง เหตุการณ์นี้หลายปีมาแล้ว ป่านนี้เขาผู้นั้นอาจกลายเป็นพระภิกษุไปแล้ว หรืออย่างไร ไม่ได้ติดต่อกันเลย

             ผมขอนำคำสรรเสริญพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา ที่ออกจากปากของนักปราชญ์สำคัญระดับโลกมาให้อ่าน เพื่อเฉลิมศรัทธาปสาทะในพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนาดังนี้ครับ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากลจักรวาล

             “ศาสนาในอนาคต จะเป็นศาสนาสากลจักรวาล ซึ่งข้ามพ้นเรื่องพระเจ้าที่มีตัวตน และไม่มีเรื่องความเชื่อคำสั่งสอนแบบฝังหัว และเทววิทยา ศาสนานั้นครอบคลุมเรื่อง ธรรมชาติและเรื่องจิตวิญญาณ ตั้งอยู่บนฐานความรู้สึกทางศาสนา ที่เกิดจากประสบการณ์แห่งสรรพสิ่ง ทั้งเรื่องธรรมชาติ และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเอกภาพรวมอย่างมีความหมาย พระพุทธศาสนาสามารถตอบสนอง สิ่งที่พรรณนามานี้....ถ้าจะมีศาสนาใดที่เข้ากันได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์ ศาสนานั้น ก็คือพระพุทธศาสนา”

(อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่)

ไม่มีศาสนาใดเหนือกว่าพระพุทธศาสนา

             “ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา หรือมิใช่พระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าตรวจสอบระบบศาสนาใหญ่ๆ แห่งโลกทั้งหมด ในระบบศาสนาโลกดังกล่าวทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้าไม่พบคำสอนของศาสนาใด จะล้ำเลิศกว่าอริยมรรคมีองค์แปด และอริยสัจสี่ ของพระพุทธเจ้าเลย ไม่ว่าในแง่ความงดงาม และความสมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงพึงพอใจที่จะประคับประคองชีวิตของตนไปตามนั้น”

(ศาสตราจารย์รีส เดวิดส์ ผู้ก่อตั้ง-นายกสมาคมบาลีปกรณ์)

พระพุทธศาสนาทำสิ่งที่วิทยาศาสตร์ทำไม่ได้

             “พระพุทธศาสนาเป็นการผสมผสานกันเข้าระหว่างปรัชญาแบบการคาดการณ์ และปรัชญาแบบวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนาสนับสนุนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และดำเนินตามวิธีนั้นไปสู่เป้าหมายสุดท้าย ซึ่งอาจจะเรียกว่าวิธีการแบบเหตุผล
...พระพุทธศาสนาได้ลงมือทำ ในที่ๆ วิทยาศาสตร์ไม่อาจทำได้ เพราะว่าความจำกัดของสมรรถนะทางเครื่องมือแสวงหาความจริงของวิทยาศาสตร์ ชัยนะของพระพุทธศาสนาคือ การชนะใจตนเอง... ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะตั้งข้อสมมติฐานว่า โลกนี้มีการเริ่มต้น แนวความคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการเริ่มต้น เกิดขึ้นจากความด้อยทางจินตนาการของพวกเราเอง”

(เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ยอดนักปรัชญาอังกฤษยุคปัจจุบัน)

จิตวิญญาณแห่งเหตุผล

             “เมื่ออ่านพระสูตรเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว พวกเราจะรู้สึกประทับใจ ด้วยจิตวิญญาณแห่งเหตุผล มรรควิธีของพระพุทธองค์ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ ทรรศนะตามหลักเหตุผลเป็นข้อแรก พระพุทธเจ้านั้น ทรงพากเพียรกำจัดธุลีมลทิน
ที่คอยปิดบังดวงตาไม่ให้เห็นชะตากรรมของตนเอง”

(ดร.เอส. ราธะกฤษณัน)


             ผมกำลังคร่ำเคร่งทำเพลงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่ กะจะให้ทันวันวิสาขบูชา แต่ยังไม่เสร็จโดยสมบูรณ์ ขอนำเนื้อเพลง มาให้ดูเป็นน้ำจิ้มไปพลางๆ ก่อน

             “อ้า องค์พระบรมโพธิสัตว์ ปฏิบัติสายกลางอันยิ่งใหญ่
             ไม่ตึงไม่หย่อนหย่อนเกินไป ดุจพิณสามสายขึงพอดี
             ประทับนั่งนิ่งจิตสงบ ค้นพบอริยสัจวิถี
             เลิศล้ำพิสุทธิ์พุทธวิธี “ไม่มี-ไม่เป็น-ตัวตน” ใคร
             ทรงรู้ประจักษ์แจ้ง ดับเพลิงกิเลสแรงโหมไหม้
             ดับทุกข์ดับเหตุเภทภัย ดับ-เย็น-สนิท สุขยืนนาน
             ใกล้รุ่งปัจจูสสมัย ใต้ร่มโพธิพฤกษ์ไพศาล
             พระบังเกิด-ตรัสรู้-นิพพาน ขณะจิตเดียวนั้นกระจ่างใจ
             วิสาขะปุณณะมียัง โส พุทโธ สัมภูตะ นิพพุโต
             วิสาขะปูชา ติถี ยัง อะภิมังคะละสัมมตา
             ทรงรู้-ทรงตื่น-เบิกบานแล้ว ดวงแก้วตระการสดใส
             ชูโลกชูธรรมอำไพ เทิด “วิสาขะ” ให้ยิ่งใหญ่เอย.”


                                       เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล
             
องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก
             กำหนดการจัดกิจกรรมวันวิสาขาบูา


**************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร