ประเพณีทำบุญวันศารท โดย ศรีพัท มีนะกนิษฐ์


ประวัติความเป็นมา
          ประเพณีทำบุญวันสารท คือ ประเพณีทำบุญอุทิศให้แก่เปตชนผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นับเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งได้กระทำกันมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันนี้การกระทำนั้นนิยมทำกัน 2 ครั้งคือ ครั้งแรกกำหนดเอาวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เป็นวันรับ และครั้งที่ 2 วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันส่ง

           ประเพณีทำบุญวันสารท ชาวไทยพุทธ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้กระทำตามคตินิยมของพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธ ที่ได้ทรงถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วทรงอุทิศถวายแก่เปตชนผู้เป็นพระญาติของพระองค์ ในครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอนุโมทนาจึงได้ตรัสติโรกุฑฑสูตรว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เป็นอาทิ
ประเพณีทำบุญวันสารทของชาวภาคใต้นั้น โดยมุ่งหมายก็เพื่อจัดทำบุญอุทิศผลส่งไปให้แก่เปตชนทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านเหล่านั้นจะไปสู่สุคติหรือทุคติขึ้นอยู่กับผลบุญกรรมของแต่ละท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ตายไปแล้ว จำพวกที่ทำกรรมดีก็ได้เสวยสุข ผู้ที่ทำกรรมไม่ดีก็ได้เสวยทุกข์ ส่วนพวกที่เสวยทุกข์แบ่งประเภทเป็นเปตชนได้ 21 จำพวก

เปรต 21 จำพวก ได้แก่.-
          1.กุมภัณฑเปรต ได้แก่ เปรตมีอัณฑะโตเท่าหม้อ
          2.คูถขาทิเปรต ได้แก่ เปรตผู้จมอยู่ในหลุมคูถ(ขี้)
          3.คูถนิมุคคเปรต ได้แก่ เปรตผู้จมอยู่ในหลุมคูถท่วมหัว
          4.นิจฉวิตถีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงผู้ไม่มีผิวหนัง
          5.นิจฉวิเปรต ได้แก่ เปรตผู้ไม่มีผิวหนัง
          6.ภิกษุเปรต ได้แก่ เปรตชายผู้มีรูปร่างเหมือนภิกษุ
          7.ภิกษุณีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงผู้มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี
          8.มังคุลิตถีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงผู้มีรูปร่างน่าเกลียด
          9.มัสปิณฑเปรต ได้แก่ เปรตมีแต่ก้อนเนื้อ
          10.มังสเปสิเปรต ได้แก่ เปรตมีแต่ชิ้นเนื้อ
          11.สัตติโลมเปรต ได้แก่ เปรตมีขนเปนหอก
          12.สามเณรเปรต ได้แก่ เปรตชายมีรูปร่างเหมือนสามเณร
          13.สามเณรีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงมีรูปร่างเหมือนสามเณรี
          14.สิกขมานาเปรต ได้แก่ เปรตหญิงมีรูปร่างเหมือนนางสิกขมานา
          15.สูจิกเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นเข็ม
          16.สูจิโลมเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นเข็มตกลงตำเบื้องบนแทงกายตนเอง
          17.อสิโลมเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นดาบตกลงมาฟันตนเอง
          18.อสีสกพันธเปรต ได้แก่ เปรตชายมีหัวขาด
          19.อัฏฐิสังขลิกเปรต ได้แก่ เปรตมีแต่โครงกระดูก
          20.อุสุโลมเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นลูกศร
          21.โอกิลินีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงที่กำลังถูกไฟลวกตลอดเวลา

วันรับและวันส่งตา-ยาย
วิธีปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสารท
          เมื่อประชาชนนำเครื่องสักการะมีอาหารคาวหวานเป็นต้นทุกอย่างมาพร้อมกันแล้ว แบ่งอาหารหวานคาวถวายพระภิกษุสงฆ์ส่วนหนึ่ง แล้วนำอีกส่วนหนึ่งสำหรับนำไปบูชาเปรตชน ไปวางไว้บนศาลาเปรต(ร้านเปรต/หลาเปรต) แล้วโยงสายสิญจน์(สายโยง)จากร้านเปรตมาถึงที่พระภิกษุสงฆ์


          พระภิกษุสงฆ์สวดถวายพรพระเสร็จแล้วจึงฉันภัตตาหารเพล แล้วพระภิกษุสงฆ์เข้าประจำอาสนะ ทายกทายิกาถวายปัจจัยไทยธรรมเสร็จแล้ว พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนา ยถา...ฯเปฯ สัพพี... แล้วต่อท้ายด้วย ติโรกุฑฑสูตร และ อทาสิ เม.. ฯ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ..ฯ หลังจากนั้น พระภิกษุสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล อัฐิ ชื่อ และภาพถ่าย เป็นต้นของเปตชนที่พวกญาติจัดไว้ รวบรวมไว้จบแล้วทายกทายิกาถวายปัจจัยไทยธรรม พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนาโดยใช้บท อทาสิ เม...ฯ ต่อด้วย ภวตุ สพฺพมงฺคลํ...ฯ เป็นอันเสร็จพิธี

          ชาวภาคใต้ก็มีความเชื่ออย่างชาวเขมรว่ายมบาลได้ปล่อยให้เปรตทั้งหลายมาเยี่ยมลูกหลานในเมืองมนุษย์ในเทศกาลวันสารทนี้ งานทำบุญวันสารทบางจังหวัดเรียกว่า "วันส่งตา-ยาย" บางจังหวัดเรียกว่า "วันส่งเปรต" ตามประเพณีเดิมวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 มีการทำบุญตักบาตรเป็นการอุทิศส่วนกุสลผลบุญตอบสนองอุปการคุณของปู่-ย่า ตา-ยาย วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 มีการทำบุญตักบาตร เป็นการทำบุญเพื่อส่งตายายอีกหนึ่งวัน แต่ในปัจจุบันนี้นิยมทำบุญตักบาตรในวันแรม 1 ค่ำ และ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 รวมเป็น 2 วัน
          คำว่า "ส่ง" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงส่งของให้ปู่-ย่า ตา-ยาย กินหรอก ความหมายเดิมมาจากคำเขมร "ส่ง" (ข.ซ็อง ท.สง) แปลว่า "ตอบแทน" แผลงเป็น "สนอง" แปลว่า "การตอบสนอง"
          ฉะนั้น คำว่า "ส่งตายาย" หรือ"ส่งเปรต" ความหมายเดิมมีว่า "ทำบุญอุทิศส่วนกุศลผลบุญตอบสนอง อุปการะคุณไปให้ปู่-ย่า ตา-ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว"
          แต่เพราะไม่รู้ว่า "ส่งตายาย" หรือ "ส่งเปรต" มาจาก "ซ็องตายาย"ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า "ตอบแทนอุปการะคุณตายาย" จึงเข้าใจกันว่า "ส่งตายาย"ก็คือ " ส่งข้าวปลาอาหารไปให้ตายายกิน"
          การทำบุญส่งตายายหรือส่งเปรตนี้ บางท้องถิ่นทำก่อนพระฉันอาหาร ซึ่งตรงกับของเขมร ผิดกันแต่ของไทย ไม่ต้องจุดธูปเทียนแห่รอบโบสถ์เหมือนเขมรแต่ส่วนมากทำกันหลังจากพระฉันอาหารเสร็จสรรพแล้วขนมที่จำเป็นต้องใช้ในงานนี้ ขนมที่จะขาดเสียมิได้ คือ.-
          1.ข้ามต้มมัด
          2.ขนมลา
          3.ขนมสะบ้า
          4.ขนมดีซำ
          5.ขนมข้าวพอง
          6.ขนมเจาะหู(ขนมเบซำ)
          7.ขนมไข่ปลา
จะต้องทำไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เขาว่าเปรตบางตนทำบาปกรรมเอาไว้มาก มีรูปากเท่าปลายเข็ม จะกินขนมลาได้สะดวก ส่วนขนมสะบ้านั้น เปรตจะได้เก็บเอาไว้เล่นทอยสะบ้าเมื่อยามเทศกาลตรุษสงกรานต์

กำหนดวันและสถานที่

          วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันสำคัญที่สุด บรรดาลูกหลานของปู่ย่า ตายาย ทุกคนจะต้องไปทำบุญที่วัด ในวันนี้จะขาดเสียมิได้ ที่ลานวัด เขาจะยกร้านขึ้นสูงเพียงราวนม เอาข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนย เงินทอง เล็กน้อย สมัยนั้นก็ 5,10,25,50 สตางค์ อย่างสูงไม่เกิน 1 บาท บางคนก็เอาสุราตั้งไว้ด้วย แล้วแต่ลูกหลานจะเห็นว่าปู่ย่า ตา ยาย เมื่อสมัยยังมีชีวิตอยู่ชอบกินอะไร มีสายสิญจน์(สายโยง)โยงมาจากร้านเปรตนั้น นี้เขาเรียกว่า "ตั้งเปรต" หรือ "รับเปรต"


          อันที่จริงเมื่อพระสวดมาติกาบังสุกุลแล้ว มีการกรวดน้ำเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดา - มารดา ปู่ - ย่า ตายาย ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่แน่ใจหรือรู้ไม่ได้ว่า วิญญาณของบุพพการีชนเหล่านั้นได้ไปผุดไปเกิดแล้ว หรือยังวนเวียนเป็นเปรตอยู่เพื่อให้แน่นอนจึงต้องมีการจัดไว้สำหรับเปรตหรือตายายได้กินโดยเฉพาะอีกแห่งหนึ่งดังกล่าวแล้ว
          บางจังหวัดเอาของเซ่นไหว้มาตั้งกลางลานวัด หรือวัดใดมีหาดทรายหน้าวัด ก็เอามาตั้งกลางหาดทรายถ้ามาเป็นกลุ่มญาติเป็นหมู่ เอาเสื่อปู วางเครื่องเซ่นลงบนเสื่อรวมกันถ้ามาเดี่ยวก็เอาของวางลงบนใบตองหรือกระดาษเป็นเฉพาะรายไปเมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้ว จะมีคนกระตุกด้ายสายสิญจน์(สายโยง) เพื่อบอกให้รู้ว่าพิธีสงฆ์ได้ เสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปนี้เป็นพิธีส่งเปรตกันล่ะ

          หมู่คนเหล่านั้นก็จะพากันออกมาเซ่นไหว้ปู่ย่า ตายาย ที่ยังเป็นเปรตอยู่ ตลอดทั้งเปรตที่ไม่มีญาติด้วยขอเชิญมาเสพข้าวปลาอาหาร สุราน้ำท่า ขนมนมเนย ที่ลูกหลานนำมาให้อิ่มหนำสำราญ ขอให้คุ้มครองลูกหลานให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากิน ค้าขายคล่องด้วยเถิด
          เมื่อคะเนว่าเปรตกินอิ่มหนำสำราญดีแล้ว จะมีคนประกาศว่า "เปรตกินอิ่มแล้ว ต่อไปนี้ลูกหลานเปรตกินได้แล้ว" สุดเสียงประกาศ พวกเด็ก ๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย จะเข้าแย่งชิงขนมของกิน และเงินทองกันที่วางไว้บนร้านเปรตนั้นอย่างชุลมุนวุ่นวายเป็นที่สนุกสนาน ตอนนี้แหละที่เรียกว่า "ชิงเปรต" คือ ชิงของกินที่เหลือจากเปรตกินแล้ว ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้เป็นของที่เหลือจากบรรพบุรุษ หากผู้ใดได้กินแล้วจะมงคลอย่างยิ่ง
          งานทำบุญ "ส่งตายาย" หรือ "ส่งเปรต" นี้ ได้ต้นกำเนิดมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วจึงแพร่หลายไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคใต้

การชิงเปรต
          การชิงเปรต เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวใต้ โดยทำร้านสำหรับนำสำรับอาหารหวานคาวไปวางเพื่ออุทิศกุศลผลบุญส่งไปให้เปตชนที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากวางสำรับลงบนร้านเปรตแล้ว พวกลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเข้าแย่งอาหารนั้นแทน จึงเรียกกันว่า "ชิงเปรต"
          เรื่องการชิงเปรตนี้ดูไม่ผิดอะไรกับเรื่องทิ้งกระจาดของจีนที่เขาทำในกลางเดือน 7 ของเขา ซึ่งตรงกับเดือน 9 ของไทยคือเขาปลูกเป็นร้านยกพื้นสูงนำเอาขนมและผลไม้เป็นกระจาดขึ้นไปวาง ไว้บนนั้น นอกจากนั้นยังมีของมีค่า เช่น เสื้อผ้า หุ้มคลุมบนเครื่องสานไม้ไผ่คล้ายตระกร้า เมื่อถึงเวลามีเจ้าหน้าที่ 2 - 3 คนขึ้นไปประจำอยู่บนนั้นแล้ว จับโยนสิ่งของบนพื้นทิ้งลงมาข้างล่างให้แย่งชิงกัน เดิมทีเห็นจะโยนทิ้งลงมาทั้งกระจาด จึงได้เรียกว่า "ทิ้งกระจาด" ต่อมาหยิบสิ่งของในกระจาดบนร้านทิ้งลงมาเท่านั้น มีแต่พวกเด็ก ๆ และผู้หญิงแย่งกัน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยแย่ง เพราะคอยแย่งเสื้อผ้า ดีกว่าลูกไม้และขนมที่ทิ้งลง มากกว่าจะแย่งเอาอาหารซึ่งกว่าจะแย่งเอาได้ก็เหลวแหลกบ้างเป็นธรรมดา แต่เสื้อผ้าที่ทิ้งลงมานั้น แย่งกันจนขาดไม่มีชิ้นดี
          บางทีคนแย่งไม่ทันใจปีนร้านขึ้นไปแย่งกันบนนั้นเจ้าหน้าที่มีน้อยห้ามไม่ไหวจึงเกิดความชุลมุนวุ่นวายกันใหญ่ ถึงกับร้านทานน้ำหนักไม่ไหวพังลงมาก็เคยมี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นทิ้งสลากสำหรับเสื้อผ้า ส่วนของอื่นยังคงทิ้งลงมาให้แย่งกัน การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการไหว้เจ้าชิดง่วยปั่นหรือสารทกลางปีของเขา เป็นการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คือทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ตายไปแล้ว
          การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตของไทยเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือ การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พสกผีไม่มีญาติเท่านั้น ส่วนการตั้งเปรตชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนั้นแล้ววิธีการปฏิบัติ ในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็ต่างกัน
          ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้เล่าให้ฟังและยืนยันว่า การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นบุญด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น พียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรต อาจตกหล่นลงบนพื้นซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น
          การตั้งเปรตและชิงเปรตจะกระทำในวันที่ยกสำรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม 1 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษผู้เป็นเปตชนชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่ไม่ควรขาด ก็คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมสะบ้า ขนมแห้ง ขนมไข่ปลา นอกจากขนมดังกล่าวแล้วยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก กะปิ เกลือ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อยมะพร้าง ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย และธูปเทียน เป็นต้น นำลงจัดในสำรับโดยเอาของแห้งดังกล่าวรวมกันและอยู่ชั้นใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก ปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัดทำ ส่วนภาชนะที่ใช้แต่เดิมนั้นนิยมใช้กระเฌอหรือถาด นำเอาสำรับที่จัดแล้ว ไปวัดรวมกันตั้งไว้บนร้านเปรตซึ่งสร้างไว้กลางวัด ยกเสาสูง ต่อมาในภายหลังร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์(สายโยง) ลงล้อมไว้รอบ และต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ซึ่งนั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรมโดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตายซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปยังเปตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้วสายสิญจน์(สายโยง)ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่งพร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้น ด้วยความสนุกสนาน
            ยังมีเปตชนอยู่อีกจำพวกหนึ่งซึ่งมีบาปหนา (ในขณะมีชีวิตอยู่ไม่ค่อยเข้าวัด ไม่ชอบทำบุญ ไม่ชอบฟังธรรม ชอบติเตียนบุญ ดูหมิ่น ติเตียน ใส่ความพระสงฆ์องค์เจ้า ลักขโมย ฉ้อโกง เบียดบัง หรือทำลายทรัพย์สินของวัดและของสงฆ์) ด้วยอำนาจกรรมที่ทำไว้ จึงทำให้เปรตประเภทนี้ไม่กล้าเข้าไปรับอาหารที่ลูกหลานเอาไปวางไว้บนร้านเปรตในเขตวัด จึงทำได้เพียงเดินเลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่ริมรั้วรอบวัด ลูกหลานทั้งหลายจึงได้นำอาหารและขนมดังกล่าวนั้น ไปตั้งร้านเปรตกันนอกเขตวัด เป็นร้านเปรตแบบวางกับพื้นดิน ตั้งให้เปตชนบนพื้นดินพื้นหญ้า หรือตามค่าคบไม้เตี้ย ๆ

 

สรุปประเพณีทำบุญวันสารท

          ประเพณีทำบุญวันสารทนั้นที่ประชาชนชาวภาคใต้นิยมทำกัน 2 ครั้งในเดือน 10 คือ.-
                    ครั้งที่ 1 ทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ประเพณีทำบุญรับเปรต(ตายาย)
                    ครั้งที่ 2 ทำในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ประเพณีทำบุญส่งเปรต(ตายาย)
          การจัดเตรียมการและวิธีการทำบุญทุกอย่างของชาวภาคใต้ทั้ง 2 ครั้งนั้น มีวิธีการทำและปฏิบัติเหมือน ๆ กัน ชาวภาคใต้มีความภาคภูมิใจที่ได้มีประเพณีทำบุญวันสารท ซึ่งถือได้ว่าเป็นอารยะประเพณีที่ดียิ่ง ที่สืบทอดมาตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนาแต่โบราณกาล
          ฉะนั้น ประเพณีนี้ชาวไทยพุทธภาคใต้จะปฏิบัติรักษาไว้ไม่ให้สูญสิ้นไป เพราะถือเป็นมรดกไทยอันล้ำค่าควรแก่การกระทำให้เป็นประเพณีที่มีความมั่นคงแน่วแน่ สมเป็นเอกลักษณ์ของปวงชนชาวไทยพุทธในภาคใต้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้มีความสำนึกในความกตัญญูกตเวทีต่อบุพพ การีชนสืบต่อไปนานเท่านาน

******************************
ที่มา : สหภูมิภาคทักษิณ,หนังสืออนุสรณ์งานวันสารทสหภูมิภาคทักษิณครั้งที่ 28 ประจำปี 2535, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร,2535. ผู้จัดทำเว็บ ขออนุญาตนำมาลงไว้ให้ผู้สนใจได้อ่านกัน ผู้จัดทำขอมอบส่วนดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด ให้แก่เจ้าของบทความ ดังกล่าวนั้นทุกประการ


กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร