การปฏิบัติตามค่านิยมพื้นฐาน ๕ ประการ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี


           ค่านิยมคือ ความนิยมในสิ่งที่มีค่าควรแก่การปกป้องคุ้มครองป้องกันดูแลรักษาไว้ให้มั่นคง ดำรงอยู่ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม ค่านิยมพื้นฐาน ๕ ประการได้แก่

           ๑. การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
           ๒. การประหยัด อดออม
           ๓. การมีระเบียบวินัย และเคารพกฏหมาย
           ๔. การปฏิบัติตามคุณธรรมทางศาสนา
           ๕. ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

           ค่านิยมพื้นฐานประการที่ ๑ "การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และความรับผิดชอบ" เป็นการแนะแนวถึงการปฏิบัติ ๓ อย่าง ได้แก่ การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

           การพึ่งตนเอง เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะพึ่งตนเองได้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพึ่งตนเอง คือ ต้องใช้ความสามารถของตนเองที่มีให้เต็มที่เสียก่อน ที่จะออกปากขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยธรรมชาติคนเรานั้นจะมีศักยภาพ และคุณค่าของตัวเอง คือการที่จะเป็นตัวของตัวเองในการที่จะพากเพียรพยายาม ให้ตัวเองได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ ต้องรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง การพึ่งตนเองได้จะช่วยให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมีความสุข สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ สามารถวินิจฉัยและตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นและรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์

           ความขยันหมั่นเพียร คือ เป็นผู้ที่กล้าสู้งานไม่หลบงาน ไม่หนี ไม่ทิ้งงาน ไม่กลัวความทุกข์ยาก ไม่กลัวความลำบาก เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง มีความยินดีพอใจและเพลิดเพลินกับการทำงาน บุคคลผู้มีความเพียรเท่านั้น ที่มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมพ่ายแพ้แก่ความเพียรพยายามที่สม่ำเสมอ

           ความรับผิดชอบ คือการรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัวและต่อสังคม ลักษณะของความรับผิดชอบ สังเกตได้จากซื่อตรงต่อหน้าที่ รู้สึกสำนึกในภาวะ ฐานะของตน เป็นผู้มีระเบียบ รู้จักวางแผนการทำงานมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงาน ให้เกิดความสำเร็จ พยายามปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานอยู่เสมอ เป็นผู้ที่เคารพสิทธิเสรีภาพและความคิดเห็นของผู้อื่น การประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าในชีวิต จะทำให้เกิดความสบายใจเพราะงานไม่คั่งค้าง เกิดปิติภาคภูมิใจในผลงานที่ปฏิบัติ

           ค่านิยมพื้นฐานประการที่ ๒ "การประหยัดและอดออม" มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ว่าการประหยัดคือ การใช้จ่ายแต่พอควรแก่กำลังทรัพย์ที่เรามี และหามาได้โดยไม่ฝืดเคืองนัก และไม่ฟุ่มเฟือยนัก เช่นเดียวกันทั้งรู้จักเก็บรักษาไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น นั่นคือการออม ลักษณะของการประหยัดอดออม ได้แก่ มีความเป็นอยู่พอควรแก่ฐานะ รู้จักหา ไม่ฟุ่มเฟือยหรือตระหนี่ คิดก่อนจ่าย จ่ายเท่าที่จำเป็น ใช้ทรัพยากร เวลา พลังงานให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รู้จักเก็บและดูแลทรัพย์ของตน และส่วนรวม มีการวางแผนในการใช้จ่าย และออม ด้วยความรอบคอบ ผลที่ได้จากการประหยัดอดออม คือสามารถตั้งตัวได้ มีความเป็นอยู่ในครอบครัวดี มีความสุขตามอัตภาพ ไม่มีความทุกข์เพราะหนี้สิน และมีเงินใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็น

           ค่านิยมพื้นฐานประการที่ ๓ "การมีระเบียบวินัย และเคารพกฎหมาย" ค่านิยมพื้นฐานนี้พิจารณาได้ ๒ ลักษณะ คือการมีระเบียบวินัย และการเคารพกฎหมาย

           คำว่า ระเบียบวินัย เป็นข้อกำหนดไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดความเรียบร้อย ดีงามในสังคม เหตุที่ต้องมีระเบียบวินัย เพราะคนที่มาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ย่อมมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน จึงต้องจัดระเบียบกฎหมายเป็นแนวปฏิบัติ ระเบียบวินัยจะเป็นเครื่องบ่งบอกลักษณะของคน วัดความดีของคน และเป็นเครี่องแสดงความแตกต่างระหว่างบุคคล คนที่มีระเบียบวินัยจะเป็นคนที่สามารถบังคับตนเองให้ปฏิบัติอยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนตนเอง และไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน มีแบบแผน กฎ กติกา ข้อบังคับเป็นแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นคนไม่มักง่าย หรือทำอะไรตามใจตนเอง
คำว่ากฎหมาย คือ ข้อกำหนดให้ประชาชนกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กฎหมายเป็นสัญญาประชาคม กฎหมายเป็นรูปแบบของวัฒนธรรมประเพณีของสังคม

           การเคารพกฎหมาย หมายถึงการที่บุคคลยอมรับ และประพฤติปฏิบัติตาม อันเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การปฏิบัติตามระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ได้แก่การรักษาความสะอาดบ้านเมือง ที่อยู่อาศัย สาธารณสถาน ไม่ทำลายสาธารณสมบัติสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้สิทธิหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ไม่แก้ปัญหาโดยวิธีรุนแรง ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีในการแจ้งหรือให้ข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นผู้กระทำผิด เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามระเบียบ และไม่ส่งเสริมผู้กระทำผิดระเบียบวินัยหรือกฎหมาย

           ค่านิยมพื้นฐานประการที่ ๔ "การปฏิบัติตามคุณธรรมทางศาสนา" คุณธรรมทางศาสนา กับระเบียบวินัยทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ใช้กำกับ มิให้บุคคลกระทำความชั่ว วินัยเป็นเครื่องป้องกัน ไม่ให้คนปฏิบัติชั่วทางกาย ส่วนคุณธรรม เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้คนคิดทำชั่ว หรือจะพูดว่าระเบียบวินัยเป็นเครื่องปกครองความประพฤติชั่วทุจริตทางกาย และทางวาจา ส่วนคุณธรรมเป็นเครื่องปกครองความประพฤติชั่วทุจริตทางใจ คุณธรรมทั้งหลายจะมาจากคำสอนในศาสนาไม่ว่าศาสนาใด ๆ จะสอนให้คน ประพฤติดี กระทำความดี แต่ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานั้น เป็นหลักแห่งความจริง เป็นหลักแห่งความยุติธรรมในสังคม เป็นหลักในการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ของบุคคลในสังคม

           อนึ่ง คนเราทุกคนจะเป็นคนดี หรือคนไม่ดีอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับจิตใจของตัวเอง เพราะใจมีอำนาจเหนือร่างกาย ใจจะเป็นผู้กำกับให้ร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ใจปรารถนา

           คุณธรรมทางศาสนาที่สมควรปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้แก่ เบญจศีล และเบญจธรรม กตัญญูกตเวทิตาธรรม สามัคคีธรรม สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ ทิศ ๖ หรือ สัปปุริสธรรม เป็นต้น

           ค่านิยมพื้นฐานประการที่ ๕ "ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์"  ความรักคือ ความยินดี ความชอบ ความพึงพอใจ คนเราเมื่อมีความรัก ย่อมทำให้เกิดความสุข หากเราเกิดความรักในสิ่งใดแล้ว เราจะยินดีเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เรารัก บางครั้งเรายินดีสละแม้ชีวิตของตนเอง เพื่อประโยชน์และความสุข แก่สิ่งที่เรารัก เช่น การรักพ่อ รักแม่ เราก็ยินดี ที่จะทำให้พ่อแม่มีความสุข

           ความรักชาติ คือความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติกำเนิดของตน มีความรู้สึกผูกพันหวงแหน ในมาตุภูมิของตน อันจะก่อให้เกิด ความคิดที่จะยอมเสียสละประโยชน์ และความสุขของตน เพื่อทำนุบำรุงและปกป้องชาติบ้านเมืองของตน ให้เกิดความสงบสุข

           สิ่งที่เราแสดงออกในด้านความรักชาติ เราสามารถแสดงออกได้หลาย ๆ อย่าง เป็นต้นว่า การรักษาเอกลักษณ์ของชาติด้วยการแสดงกิริยามารยาทไทย การแต่งกาย การใช้ของที่ผลิตในประเทศไทย รักษาสิทธิ์และใช้สิทธิของตนเองด้วยการไปเลือกตั้ง การเป็นทหารรับใช้ชาติ การเสียภาษี และการกระทำอื่น ๆ อันเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อชาติ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

           ความรักศาสนา คือความศรัทธา ความเชื่อในหลักธรรมของศาสนา อย่างมีเหตุผล และต้องนำหลักธรรมของศาสนา ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย คนเรานั้นจะไม่เชื่อในศาสนาอะไรเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ คนที่ไม่มีศาสนาจะเป็นบุคคลที่เพื่อจะไม่คบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อตัวเองไม่มีความเชื่ออะไรเลย แล้วจะให้คนอื่นเขาเชื่อได้อย่างไร การรักศาสนา ไม่ใช่เป็นการรักแต่ปาก แต่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรม ของศาสนาที่ตนนับถือด้วย คนที่รักศาสนาจะทำให้เป็นผู้รู้เท่าทันสภาวะของโลก ย่อมไม่หลงไปตามกระแสโลก ไม่ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ ไม่เกียจคร้านมีความเมตตากรุณา มีความอดทน มีอัธยาศัยดี มีมารยาทดี ชีวิตและครอบครัว จะมีความสงบสุข

           พระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ ในระบอบประชาธิปไตย เป็นประมุขของประเทศ ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมของชาติ ไม่ว่าในสมัยใดพระมหากษัตริย์ จะทรงเป็นผู้นำในชาติทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ ทรงปฏิบัติ จะเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชนในชาติ พระองค์ท่านทรงห่วงใย ในพสกนิกรของพระองค์ท่านอยู่ตลอดเวลา สมควรที่คนไทยทุกคน ต้องตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คอยสอดส่องป้องกันสิ่งที่จะเป็นผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงความจงรักภักดี การเทิดพระเกียรติ และเผยแผ่พระราชกรณียกิจ ร่วมกันกระทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยเฉพาะในวันสำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มีความภาคภูมิใจที่คนไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นมิ่งขวัญประจำชาติ มีความอบอุ่นใจที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมแห่งความสมานสามัคคี ของคนในชาติ

***********************************