๑๒. ประวัติ พระนทีกัสสปเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

 

            พระนทีกัสสปะ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยต้นพุทธกาล

            พระนทีกัสสปะ เป็นน้องชายของพระอุรุเวลกัสสปะ มีน้องชายคือพระคยากัสสปะ ก่อนบวชเป็นชฏิลมีบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมอยู่ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ภายหลังยอมตนเข้ามานับถือพระพุทธสาสนาและบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านและศิษย์ของท่าน เป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้พระเจ้าพิมพิสารยอมตนนับถือพระพุทธเจ้า

            พระนทีกัสสปเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรกๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้รับการบวชเป็นกลุ่มที่ ๖ จากพระบรมศาสดา นับจาก
            
๑. กลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์
            
๒. พระยสสเถระ ๑ องค์
            
๓. กลุ่มเพื่อนพระยสเถระ ๔ องค์
            
๔. กลุ่มเพื่อนพระยสเถระอีก ๕๐ องค์ และ
            
๕. กลุ่มภัททวัคคีย์ ๓๐ องค์

ในพระบาลีปรากฏพระเถระที่มีนามว่า "กัสสปะ" อยู่หลายองค์ จึงต้องมีการกำหนดชื่อให้แตกต่างกัน คือ

            ๑. พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ มีอาวุโสมาก จึงเรียกกันว่า มหากัสสปะ
            ๒. พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ
            ๓. พระนทีกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คุ้งมหาคงคานที จึงได้ชื่อว่า นทีกัสสปะ
            ๔. พระคยากัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คยาสีสประเทศ จึงได้ชื่อว่า คยากัสสปะ
            
๕. พระกุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชตั้งแต่เวลาที่เป็นเด็ก จึงได้ชื่อว่า กุมารกัสสปะ

            พระเถระรูปนี้ ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ

๐ ชาติภูมิ
            พระนทีกัสสปะเถระ เกิดในตระกูลพราหมณ์กัสสปโคตร 3 พี่น้อง มีพี่ชายคือ อุรุเวลกัสสปะ มีน้องชายคือ คยากัสสปะ เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ศึกษาจบไตรเพท คือ พระเวท 3 อย่าง ซึ่งเป็นคัมภีร์ ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพราหมณ์ ได้แก่

            ๑.ฤคเวท (อรุพเพท) ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
            ๒.ยชุรเวท (ยชุพเพท) บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
            ๓.สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ

            กัสสปะพี่ชายคนโตนั้นมีบริวาร ๕๐๐ ตน กัสสปะ คนกลาง มีบริเวณ ๓๐๐ ตน และกัสสปะ คนเล็กสุดท้าย มีบริวาร ๒๐๐ ตน ต่อมาทั้งสามพี่น้องมีความเห็นตรงกันว่า “ลัทธิที่พวกตนนับถืออยู่นั้นไม่มีแก่นสาร” จึงพากันออกบวชเป็นฤๅษีชฎิล เกล้าผมเซิง บำเพ็ญพรตบูชาไฟตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา ตามลำดับกัน พี่ชายคนโต ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนเหนือ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า “อุรุเวลกัสสปะ” น้องชายคนกลาง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำถัดไป ณ ตำบลนที จึงได้ชื่อว่า “นทีกัสสปะ” ส่วนน้องชายคนเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ณ ตำบลคยา จึงได้ชื่อว่า “คยากัสสปะ”

            เมื่อพระพุทธองค์ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในพรรษานั้นมีพระสงฆ์สาวกผู้สำเร็จพระอรหันต์ จำนวน ๖๐ องค์ เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาได้ส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ องค์นั้น ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังถิ่นต่าง ๆ ส่วนพระองค์เองเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

            ในระหว่างทาง เสด็จเข้าไปประทับพักผ่อนภายใต้ร่มไม้ริมทางในไร่ฝ้าย ขณะนั้นมีพระราชกุมาร ๓๐ พระองค์ ผู้ได้นามว่า “ภัททวัคคีย์” ได้พาภรรยาไปเที่ยวหาความสุขสำราญในราชอุทยาน ราชกุมารองค์หนึ่งไม่มีภรรยา จึงพาหญิงโสเภณีไปเป็นคู่เที่ยว เมื่อพวกราชกุมารกำลังเพลิดเพลินสนุกสนานกันอยู่นั้น หญิงโสเภณีได้ขโมยของมีค่าหนีไป พวกราชกุมารออกติดตามมา ได้พบพระผู้มีพระภาคที่ไร่ฝ้าย จึงเข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลถามว่า
             “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เห็นหญิงคนหนึ่งผ่านมาทานี้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ?"
             “พวกท่านเห็นว่า การแสวงหาหญิงกับการแสวงหาสิ่งประเสริฐในตนสิ่งไหนจะดีกว่ากัน ?"
             “แสวงหาสิ่งประเสริฐในตนดีกว่า พระเจ้าข้า”
             “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงนั่งลง ตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง”
            พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง จนทั้งหมดได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบัน ถึงชั้นพระสกทาคามี และพระอนาคามีทุกพระองค์ จากนั้น พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้แล้ว ส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา

            พระบรมศาสดา เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เสด็จเข้าไปยังสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ตรัสขอพักอาศัยสักหนึ่งราตรี แต่อุรุเวลกัสสปะ เห็นว่าเป็นนักบวชต่างลัทธิ จึงบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีสถานที่ให้พัก พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า
             “ธรรมดาว่าโคย่อมเข้าไปสู่ฝูงโค นักบวชก็ย่อมเข้าไปสู่สำนักของนักบวช ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ ตถาคตจะขอพักอาศัยอยู่ในโรงไฟ ซึ่งเป็นที่บูชายัญของท่านนั้น”
             “ดูก่อนมหาสมณะ เรามิได้หนักใจ ถ้าท่านจะพักในที่นั้น แต่ว่ามีพญานาคดุร้ายและมีพิษมาก อยู่ในโรงไฟนั้น เกรงว่าท่านจะได้รับอันตรายถึงชีวิตก็ได้”

            เมื่ออุรุเวลกัสสปะไม่ขัดข้อง พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปในโรงไฟ ทรงพิจารณาตรวจดู สถานที่อันสมควรแล้ว ประทับนั่งสมาธิเจริญกรรมฐาน ฝ่ายพญานาค เห็นผู้แปลกหน้าผิดกลิ่นเข้ามาในโรงไฟของตนก็โกรธ จึงพ่นพิษออกมาเป็นควันไฟอบอวลทั่วทั้งโรงไฟ หวังจะทำอันตรายให้สิ้นชีวิต แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธานุภาพให้ปรากฏ ด้วยการบันดาลให้ควันไฟกลับไปสัมผัสเนื้อ หนัง เอ็น และกระดูกของพญานาค ทำให้ฤทธิ์เดชของพญานาคเหือดหายไป บังเกิดความเจ็ดปวดขึ้นมาแทน

            ในราตรีนั้น พระพุทธองค์ทรงทรมานพญานาค ด้วยวิธีต่าง ๆ ทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติบันดาลให้เปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการทั่วโรงไฟ เหล่าชฎิลทั้งหลายต่างมองดูด้วยความดีใจว่า “พระสมณะ คงจะวอดวาย ในกองเพลิงด้วยพิษของพญานาค อย่างแน่นอน” ในที่สุด พระพุทธองค์ ก็ทรงปราบพญานาค จนสิ้นฤทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้วจับเอาลงไปขดไว้ในบาตรรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปะ พาศิษย์ชฎิลมาตรวจดู เมื่อเป็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงคิดว่า “พระสมณะนี้ มีอานุภาพมาก สามารถปราบพญานาคให้พ่ายแพ้ได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา” คิดดังนี้แล้ว จงยังมิยอมรับนับถือ แต่ก็รู้สึกเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ และนิมนต์ให้พักอยู่ต่อไปได้ โดยพวกตนจะเป็นผู้นำอาหารมาถวายทุกวัน

            วันต่อมา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปประทับที่ชายป่าใกล้ ๆ อาศรมของอุรุเวลกัสสปะนั้น ในยามราตรีของแต่ละคืน ได้มีทวยเทพเทวาตั้งแต่ชั้น จาตุมหาราชทั้ง ๔ ท้าว โกสีย์เทวราช และท้าวสหัมบดีพรหม ต่างก็มาเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้เปล่งรัศมีแสงสว่างทั่วทั้งไพรสณฑ์ ยังความฉงนสนเท่ห์ให้เกิดแก่อุรุเวลกัสสปะ และบริวารเป็นอย่างยิ่ง

            ครั้นรุ่งเช้า ได้กราบทูลถามเหตุที่มาของแสงสว่างนั้น ครั้นได้ทราบความตลอดแล้วรู้สึกศรัทธาเลื่อมใสและดำริอยู่ในใจว่า “อานุภาพของพระสมณโคดมนี้ยิ่งใหญ่หาผู้เปรียบมิได้ แม้แต่เทพยาดาทุกชั้นฟ้า ยังมาเข้าเฝ้าเพื่อขอฟังธรรม แต่ถึงจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเช่นเรา”พระบรมศาสดา ทรงพักอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ เป็นเวลา ๒ เดือน ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล หลายประการ แต่อุรุเวลกัสสปะ ผู้มีสันดานกระด้าง มีทิฏฐิแรงกล้ายังถือตนเองว่าเป็นพระอรหันต์อยู่เช่นเดิม

            พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ตถาคต จะยังโมฆบุรุษชฏิลนี้ ให้เกิดความสลดสังเวช”
            ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทางปฏิบัติของท่านยังห่างไกลต่อการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิใช่ทางมรรคผลอันใดเลย ไฉนท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านลวงตนเองแล้วยังลวงคนอื่น ถ้าท่านรู้สึกสำนึกตัว และปฏิบัติตามคำสอนของเรา ท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ที่แท้จริงในไม่ช้า”

            อุรุเวลกัสสปะ ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็รู้สึกสลดใจ ก้มศีรษะลงแทบพระบาทกราบทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา จึงตรัสแก่เธอว่า “กัสสปะ ท่านเป็นอาจารย์เจ้าสำนักที่ยิ่งใหญ่ มีบริวารมากกว่า ๕๐๐ คน ท่านจงบอกให้บริวารของท่านทราบทั่วกันก่อน ตถาคตจึงจะอุปสมบท ให้ท่าน”

            อุรุเวลกัสสปะ จึงประกาศชักชวนชฎิลบริวารของตนทั้งหมด พากันลอยบริขารดาบส มีเครื่องแต่งผมเป็นชฎา และเครื่องบูชาเพลิง เป็นต้น ลงในแม่น้ำแล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา ประทานการอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา พร้อมกันทั้งหมด

            ฝ่าย นทีสัสสปะ และ คยากัสสปะ น้องชายทั้งสองคน ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนใต้ลงไปตามลำดับ เห็นบริขารของพี่ชายลอยมาตามน้ำ ทำให้คิดว่า “อันตรายคงจะเกิดมีแก่พี่ชายของตน” จึงพร้อมด้วยบริวารรีบมาที่สำนักของพี่ชาย เห็นพี่ชายอยู่ในเพศพระภิกษุ จึงสอบถามได้ความว่า “พรหมจรรย์นี้ประเสริฐยิ่งนัก” จึงพากันลอยบริขารลงในแม่น้ำแล้วขออุปสมบทด้วยกัน ทั้งหมด

            พระพุทธองค์ ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จพร้อมด้วยหมู่ภิกษุชฎิลเหล่านั้น จำนวน ๑,๐๐๓ รูป ไปยัง ตำบลคยาสีสะ และประทับอยู่ ณ ที่นั้น ทรงพิจารณาเห็นอินทรีย์ของภิกษุใหม่ แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเรียกท่านเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสพระธรรมเทศนา “อาทิตตปริยายสูตร” ทรงเปรียบเทียบสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนดุจเดียวกับไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกเธอ ที่เคยบูชาไฟมาก่อน

            ทรงแสดงถึงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นของร้อน และความรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะตาเห็นรูป หรือหูได้ยิน เป็นต้น ก็เป็นของร้อนใจความโดยสรุปก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความเร่าร้อน ร้อนเพราะราคา โทสะ และโมหะ เป็นต้น ผู้ได้สดับและรู้เท่าทันกิเลสเหล่านี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่นสิ่งเหล่านั้น

            ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น ภิกษุชฎิล ทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ส่งกระแสจิตไปตามวาระแห่งพระธรรมเทศนา จิตของพวกเธอ ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง สำเร็จป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยกันทั้งหมด

            พระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระพุทธศาสนา และช่วยแบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดา ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ใหม่ ๆ ได้ติดตามเสด็จพระบรมศาสดาไปสู่เมืองราชคฤห์ พระพุทธองค์ประทับณ ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม พระเจ้า พิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยพราหมณ์ และคฤหบดีชาวเมืองมคธ จำนวน ๑๒ นหุต เสด็จเข้ามาเฝ้า กราบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วปะทับนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่พระองค์ ส่วนบริวารที่ติดตามมาเหล่านั้น ต่างก็แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ กัน คือ บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็กราบทูลสนทนา บางพวกก็ประกาศชื่อและตระกูลของตน บางพวกก็นั่งเฉย ๆ เป็นต้น

            ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคนเหล่านั้นยังไม่แน่ใจว่าระหว่างพระบรมศาสดากับอุรุเวลกัสสปะ นั้นใครเป็นศิษย์ใครเป็นอาจารย์กันแน่ เพราะว่า อุรุเวลกัสสปะ ก็เป็นเจ้าสำนักใหญ่ มีคนเคารพนับถือมากมาย และได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

            พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตความคิดของคนเหล่านั้นเป็นอย่างดี เพื่อปลดเปลื้องความสงสัยของคนเหล่านั้น จึงตรัสถามพระอุรุเวลกัสสปะ ว่า “กัสสปะ เธออยู่ในอุรุเวลาเสนานิคมมานาน เป็นอาจารย์สั่งสอนชฎิลให้บำเพ็ญพรต จนซูบผอม เธอเห็นโทษอะไรหรือ จึงเลิกละการบูชานั้นเสีย?”

            พระอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งตั้งใจรอพระบัญชาเช่นนั้นอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว ก็ทราบถึงพุทธประสงค์ดี จึงน้อมนมัสการกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบูชายัญทั้งหลาย ล้วนแต่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณ มีรูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นของร้อน บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้รู้ชัดแล้วว่า ความรักใคร่ พอใจในกามคุณเหล่านั้น เป็นมลทิน ทำใจให้เศร้าหมอง ก่อให้เกิดกิเลส และความทุกข์ จึงละทิ้งการบูชาไฟนั้นเสีย บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้เห็นธรรมอันสงบระงับแล้ว พระเจ้าข้า"

            ครั้นแล้ว พระเถระได้ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ๆ เป็นสาวกของพระองค์” จากกิริยาอาการและถ้อยคำของพระเถระนั้น ทำให้บริวารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดเหล่านั้นหายสงสัย น้อมจิตลงที่ฟังพระธรรมเทศนา ดังนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” ให้ฟังเมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ นหุตะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนอีก ๑ นหุตะ ดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

๐ บุรพกรรมในอดีต
กำเนิดในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

            ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิด ในเรือนอันมีสกุล บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่งได้มองเห็นพระศาสดาเสด็จไป บิณฑบาตแล้ว มีใจเลื่อมใส ได้น้อมถวายผลมะม่วงผลหนึ่ง มีสีดุจมโนศิลา ซึ่งบังเกิดผลครั้งแรก ของต้นมะม่วงที่ตนเองปลูกไว้ ด้วยบุญกรรมอันนั้น เขาจึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก


๐ บุรพกรรมในสมัยพระปุสสพุทธเจ้า

            ในที่สุดกัปที่ ๙๒ สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่า ปุสสะ จุติมาบังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ามหินทรราชา (อรรถกถาบางแห่งกล่าวว่าชื่อ ชยเสนะ) กรุงกาสี พระราชมารดาทรงพระนามว่า สิริมา ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมแก่ สุรักขิตะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ และบุตรปุโรหิต ชื่อ ธรรมเสนะ ทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พระศาสดาทรงสถาปนาพระสุรักขิตะถระไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระธรรมเสนะเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒

            ท่านนทีกัสสปก็บังเกิดเป็นกนิษฐภาดา (น้องชาย) ต่างมารดา ของพระพุทธองค์ ท่านยังมีพี่ชาย ๑ องค์ และน้องชาย ๑ องค์ (ซึ่งต่อมาก็คือ พระอุรุเวลกัสสป และพระคยากัสสป) ฝ่ายพระเจ้ามหินทรราชา มีพระดำริว่า ลูกชายคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า ลูกคนเล็กเป็นอัครสาวก ลูกปุโรหิตเป็นทุติยสาวก พระองค์จึงทรงให้สร้างวิหาร ทรงดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ และทรงปรารถนาจะอุปัฏฐากพระบรมศาสดา ผู้เป็นพระโอรส พร้อมหมู่พระภิกษุแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ชนทั้งหลายได้มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง จึงให้สร้างรั้วไม้ไผ่สองข้าง ปิดล้อมด้วยผ้า ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระราชวัง เบื้องบนรับสั่งให้ผูกพวงของหอมพวงมาลัยที่หอมฟุ้งเป็นเพดาน เสมือนประดับด้วยดาวทอง เบื้องล่างรับสั่งให้เกลี่ยทรายสีเหมือนเงินแล้ว โปรยดอกไม้ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามทางนั้น แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร เพื่อกระทำภัตกิจ แล้วเสด็จกลับมายังวิหาร โดยทางเดิม มหาชนอื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ดู แล้วไฉนจะได้ถวายภักษาหารและการบูชาเล่า ทรงกระทำเช่นนี้มาตลอด ๗ ปี ๗ เดือน

            ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว ถึงวันนี้ พวกเราแม้เพียงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่จะได้ถวายภิกษา หรือกระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นของพระองค์เองผู้เดียว ที่ถูกแล้ว พระศาสดาเมื่อเสด็จอุบัติ ก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย มิใช่อุบัติเพื่อประโยชน์เฉพาะแก่พระราชาเท่านั้นไม่

            ชาวพระนครร่วมปรึกษากับพระโอรสทั้ง ๓ องค์ว่าพวกเราจะทำอุบายอย่างหนึ่ง โดยให้ชาวพระนครเหล่านั้นแต่งโจรชายแดนขึ้น แล้วส่งข่าวกราบทูลพพระเจ้ามหินทรราชาว่า หมู่บ้าน ๒ - ๓ แห่งที่อยู่ชายแดนเกิดโจรปล้น พระเจ้ามหินทรราชาจึงมีรับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้ง ๓ เข้าเฝ้าแล้วรับสั่งให้พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปโจร พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปจัดการให้โจรสงบแล้วกลับมากราบทูลพระเจ้ามหินทรราชา

            พระราชาทรงพอพระทัย ตรัสว่าและสัญญาว่าจะพระราชทานพรข้อหนึ่งให้กับพระโอรสทั้งสาม พระโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปปรึกษากับชาวพระนครถึงเรื่องพรที่ได้รับพระราชทานมาว่า พวกเราจะเอาอะไร ชาวพระนครกล่าวว่า ทรัพย์สินเงินทองช้างม้าเป็นต้นหาได้ไม่ยาก แต่พระพุทธรัตนะหาได้ยาก ไม่เกิดขึ้นทุกกาล เราขอให้พระเจ้ามหินทรราชาทรงยอมให้ชาวพระนครได้มีโอกาสกระทำบุญแด่ พระปุสสพุทธเจ้าบ้าง พระโอรสเหล่านั้นจึงนำความนั้นขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระราชา

            พระราชาเมื่อกลับคำพูดไม่ได้จึงตรัสต่อรองว่า ขอเวลาให้ท่านได้ทำบุญกับพระศาสดากับหมู่พระสงฆ์อีก ๗ ปี ๗ เดือน ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ฯลฯ เพียงเดือนเดียว พระโอรสก็ไม่ยินยอม สุดท้ายจึงขออีก ๗ วัน พระโอรสก็ยินยอม

            พระราชาทรงนำสิ่งที่เตรียมไว้ถวายพระพุทธองค์และหมู่ภิกษุ สำหรับระยะเวลา ๗ ปี ๗ เดือน มารวมกันเพื่อถวายใน ๗ วันเท่านั้น แล้วพระราชาถวายบังคม กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครได้ถวายทานแล้ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด

            พระราชโอรสเหล่านั้นกับชาวพระนครจึงสร้างพระวิหารมอบถวายแด่พระศาสดา ปรนนิบัติพระศาสดาในที่นั้น เมื่อจวนเข้าพรรษา พระราชโอรสเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเราจะปรนนิบัติพระศาสดาให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไรหนอ

            ครั้นแล้งจึงได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม ไม่หนักในอามิส หากพวกเราตั้งอยู่ในศีลแล้วจักเป็นที่พอพระทัยของพระศาสดาได้ ราชกุมารเหล่านั้นจึงจึงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้หารายได้เพื่อใช้ในการถวายทาน แต่งตั้งอำมาตย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้รับจ่ายในการถวายทาน และแต่งตั้งอำมาตย์อีกผู้หนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อตัดกังวลในการถวายทานของพระโอรสทั้งสาม

            ครั้นแล้ว ราชกุมารทั้งสาม พร้อมทั้งบริวาร ๑,๐๐๐ คน ออกบวชโดยสมาทานศีล ๑๐ ครองผ้ากาสายะ ๒ ผืน บริโภคน้ำที่สมควร ครองชีพอยู่ เขาบำรุงพระศาสดาตลอดชีวิต พระศาสดาทรงเสด็จปรินิพพานในสำนักของเขาเหล่านั้นเอง

            ราชโอรสเหล่านั้นเมื่อทิวงคตแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

            ครั้นในสมัยพระศาสดาของพวกเรา จึงได้จุติจากเทวโลกบังเกิดในมนุษยโลก เป็นชฏิล ๓ พี่น้องตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป อำมาตย์ทั้งสามคนนั้น บังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร วิสาขอุบาสก และ พระรัฐปาละ ส่วนชาวพระนครผู้เป็นบริวารของราชโอรสเหล่านั้นเกิดเป็นชฎิลบริวารของคนทั้ง ๓ นั้น


๐ กำเนิดในพุทธกาล

            ครั้นในสมัยพระศาสดาของพวกเรา ท่านมาบังเกิดในสกุลพราหมณ์ ก่อนพระทศพลของเราทรงอุบัติ มีนามว่า กัสสป ทั้งสามคนตามโคตรของตน คนทั้งสามนั้นเจริญวัย แล้วเรียนไตรเพท คนใหญ่ มีบริวารมาณพ ๕๐๐ คน คนกลาง ๓๐๐ คน คนเล็ก ๒๐๐ คน ทั้งสามพี่น้อง ตรวจดูสาระในคัมภีร์ (ไตรเพท) เห็น แต่ประโยชน์ส่วนปัจจุบันเท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ส่วนภายภาคหน้า พี่ชายคนใหญ่ ไปยังตำบลอุรุเวลาบวชเป็นฤษีพร้อมกับบริวารของตน ชื่อว่าอุรุเวลกัสสป คนกลางไปบวชที่คุ้งมหาคงคานที ชื่อว่านทีกัสสป คนเล็กไปบวชที่คยาสีสประเทศ ชื่อว่าคยากัสสป

            เมื่อพี่น้องทั้ง ๓ นั้นบวชเป็นฤๅษี อยู่ในที่นั้นๆ อย่างนี้แล้ว เมื่อวันเวลาล่วงไปเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ ได้ทรงตรัสรู้แล้วและแสดงธรรมโปรดพวกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แล้วโปรดพระยสะ และสหาย รวม ๕๕ คนให้บรรลุพระอรหัต แล้วทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์จาริกไปเพื่อโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย หลังจากนั้นเมื่อทรงเทศน์โปรดพวกภัททวัคคียกุมารแล้ว จึงได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนนิคม เสด็จไปยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปชฎิล

            ครั้งเสด็จถึงอุรุเวลาประเทศแล้ว ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายประการ ทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล


๐ อุรุเวลกัสสปชฎิลละพยศ ทูลขอบรรพชา

            ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงมีพระดำริว่า

            "เป็นเวลานานมากแล้ว ที่โมฆบุรุษผู้นี้คิดว่า พระองค์ทรงมีฤทธิ์มาก พระองค์ทรงมีอานุภาพมาก แต่ถึงอย่างไรพระองค์ทรงก็คงไม่เป็นพระอรหันต์ เช่นกับเราแน่ดังนี้ ถ้ากระไร เราพึงทำชฎิลนี้ให้เกิดความสังเวช"

            ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า

            "ดูก่อนกัสสป เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังไม่ได้เข้าถึงแม้อรหัตมรรคด้วย แม้ปฏิทาใดที่จักนำเธอเข้าถึงอรหัตมรรค ปฏิปทานั้นของเธอก็ยังไม่มีเลย"

            ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล ได้ซบศีรษะลงที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นว่า

            "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด"

            พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนกัสสป เธอนั้นเป็นประมุข ของพวกชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาพวกชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน พวกชฎิลเหล่านั้นจะได้ทำตามที่เธอสำคัญเข้าใจได้"

            ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล จึงเข้าไปหาพวกชฎิลเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับชฎิลเหล่านั้นว่า  "ท่านทั้งหลาย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตามที่ท่านประสงค์เถิด"

            พวกชฎิลกล่าวว่า "พวกเราได้มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระมหาสมณะ ตั้งแต่นานมาแล้ว ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะแล้ว พวกเราทั้งหมดทำตามด้วยเหมือนกัน"

            ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ งลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด"

            พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า "พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"

๐ นทีกัสสปชฎิลทูลขอบรรพชา

            ฝ่ายนทีกัสสปชฎิล ได้เห็นบริขารรวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลอยมาตามน้ำ จึงคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พี่ชายของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบเรื่องพี่ชายของตน เมื่อทราบเรื่องแล้ว ตนเองพร้อมกับชฎิล ๓๐๐ คน ได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงถามท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า "พี่กัสสป การบวชนี้ เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ"

            ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า "ใช่ การบวชแบบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐแน่"

            ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างเถิด"

            พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า "พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"

๐ คยากัสสปชฎิลทูลขอบรรพชา

            ฝ่ายคยากัสสปชฎิล ได้เห็นบริขารรวมทั้งเครื่องบูชา ไฟ ลอยมาตามน้ำ จึงคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พี่ชายทั้งสองของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบเรื่องพี่ชายของตน เมื่อทราบเรื่องแล้ว ตนเองพร้อมกับชฎิล ๒๐๐ คน ได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้ว จึงถามท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า "พี่กัสสป การบวชนี้ เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ"

            ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า "ใช่ การบวชแบบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐแน่"

            ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงได้นำเอา บริขารทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องบูชาไฟ ลงในแม่น้ำเนรัญชรา ปล่อยให้บริขารเหล่านั้นลอยไปตามน้ำ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างเถิด"

            พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรพชาชฎิลเหล่านั้นด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า "พวกเธอ จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"


๐ ชฎิลทั้ง ๑,๐๐๐ บรรลุพระอรหัต

            ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในอุรุเวลาตามความพอพระทัย พร้อมกับภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ร่วมกับปราณชฎิลทั้งหมด ๑,๐๐๐ คน จากนั้นจึงได้เสด็จหลีกจาริกไปยังคยาสีสะประเทศ ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ คยาสีสะประเทศ ใกล้แม่น้ำคยาพร้อมกับภิกษุจำนวน ๑,๐๐๐ รูป

            ทรงประทับนั่ง แล้วทรงพระดำริว่า ธรรมกถาอะไรหนอ จักเป็นที่เหมาะแก่ชนเหล่านี้ จึงตกลงพระทัยว่า ชนเหล่านี้เคยบูชาไฟทั้งเวลาเย็นและค่ำ เราจักแสดงอายตนะ ๑๒ แก่พวกเขา ทำให้เป็นดุจไฟไหม้ลุกโชน ชนเหล่านี้จักสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระองค์ ได้ตรัสอาทิตตปริยายสูตรนี้ เพื่อแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นดังนี้

            ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง เป็นของร้อน
            
ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
            
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายก็เป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุก็เป็นของร้อน จักษุสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และเพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญเพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อน

            โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายก็เป็นของร้อน ฯลฯ
            
ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายก็เป็นของร้อน ฯลฯ
            
ลิ้นเป็นของร้อน รสก็เป็นของร้อน ฯลฯ
            
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะก็เป็นของร้อน ฯลฯ
            
ใจเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายก็เป็นของร้อน มโนวิญญาณก็เป็นของร้อน มโนสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใดเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อนแล

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้เห็นได้ฟังแล้วอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณที่อาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในสัมผัสอาศัยจักษุ ความเสวยอารมณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส แม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายในความเสวยอารมณ์นั้น

            ย่อมเบื่อหน่ายในโสต ย่อมเบื่อหน่ายในเสียง ฯลฯ
            
ย่อมเบื่อหน่ายในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายในกลิ่น ฯลฯ
            
ย่อมเบื่อหน่ายในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายในรสทั้งหลาย ฯลฯ
            
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ฯลฯ
            
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ
            
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย
            
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส

            ความเสวยอรมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์นั้น

            เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความกำหนัด เพราะคลายความกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

            พระอริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีก เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีกต่อไป ดังนี้

            ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจบอาทิตตปริยายสูตรนี้ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตเพราะไม่ถือมั่นแล

๐ ผลงานของพระนทีกัสสปเถระ
            พระนทีกัสสปเถระ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระพุทธศาสนา และช่วยแบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดา ในสมัยประกาศพระพุทธศาสนาในยุคเริ่มแรก แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดในคัมภีร์ว่าที่ไหน และอย่างไร

๐ บั้นปลายชีวิต
            ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านนิพพานที่ใหน และเมื่อใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว จึงนิพพาน


อ้างอิง.-
          ๑.กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
          ๒.ชีวประวัติพุทธสาวก ประวัติพระอัจฉริยะมหาเถระเมื่อครั้งพุทธกาล เล่ม 1 จำเนียร ทรงฤกษ์ , 2542 , พิมพ์โดยสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว (สาขาวัดปากน้ำ), พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ธรรมสภา
          ๓.ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          ๔.บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          ๕.บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          ๖.แม่กองธรรมสนามหลวง. ธรรมศึกษาชั้นโท ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน. กรุงเทพ. สำนักพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักพิมพ์กรมการศาสนา), พ.ศ. ๒๕๕๐
          ๗.ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
          ๘.เว็บไซต์ 84000
          ๙.เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์
          ๑๐.พระอสีติมหาสาวก, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
          ๑๑.http://www.dharma-gateway.com/
          ๑๒.http://www.manager.co.th/Dhamma/