๑๖. ประวัติ พระโมคคัลลานเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระโมคคัลลานเถระ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของ ตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม
บิดา ไม่ปรากฎชื่อ กล่าวเพียงว่าเป็นหัวหน้าในโกลิตคาม
มารดา ชื่อโมคคัลลี หรือมุคคลี ทั้งคู่เป็นวรรณะพราหมณ์
เกิดที่ บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทั้งหลาย (แก่กว่าพระพุทธเจ้า)

โกลิตะ มีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเกิดโดยโมคคัลลีโคตร อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นผู้อาจ คือสามารถในการได้ ในการถือเอา ในการรู้แจ้งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เขามีสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมากคนหนึ่งชื่ออุปติสสะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหนัาในอุปติสสคาม ไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย ได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกได้มีลาภและยศอันเลิศ

๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

โกลิตะพร้อมกับสหาย เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น รู้สึกเบื่อหน่าย จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้สหาย และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา

๓. วิธีบวช

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่า นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด

๔. การบรรลุพระอรหัต

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ บวชได้ ๗ วัน เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคาม ในมคธรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ถูกถีนมิทธะ คือความท้อแท้และความโงกง่วงครอบงำ ไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดให้สลดใจ ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า โมคคัลลานะ ความพยายามของเธอ อย่าได้ ไร้ผลเสียเลย แล้วสอนธาตุกรรมฐาน ให้ท่านพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม เนื้อและหนังเป็นต้นเป็นธาตุดิน เลือดเป็นต้นเป็นธาตุน้ำ ความอบอุ่น ในร่างกายเป็นธาตุไฟ ลมหายใจเป็นต้นเป็นธาตุลม แต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านกำจัดความท้อแท้และความโงกง่วงได้แล้ว ส่งใจไปตามกระแสเทศนา ได้บรรลุมรรคทั้ง ๓ เบื้องบนโดย ลำดับแห่งวิปัสสนา แล้วถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในขณะ ได้บรรลุผลอันเลิศ คือ อรหัตผล

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระโมคคัลลานเถระ เป็นกำลังสำคัญของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนา เพราะท่าน มีฤทธิ์มาก จนทำให้เจ้าลัทธิอื่น ๆ เสื่อมลาภสักการะ โกรธแค้นคิดกำจัดท่าน ดังคำปรึกษากันของ เจ้าลัทธิเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุไร ลาภสักการะจึงเกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม เป็นจำนวนมาก พวกเดียรถีย์ที่รู้ตอบว่า พวกข้าพเจ้าทราบ ลาภสักการะเกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ รูปหนึ่งชื่อ มหาโมคคัลลานะ เพราะพระเถระนั้นไปยังเทวโลก ถามกรรมที่พวกเทวดาทำแล้ว กลับมาบอกกับพวกมนุษย์ว่า ทวยเทพทำกรรมชื่อนี้ ย่อมได้สมบัติอย่างนี้ ท่านไปยังนรกถามกรรม ของหมู่สัตว์ผู้เกิดในนรกแล้วกับมาบอก พวกมนุษย์ว่า พวกเนริยกสัตว์ทำกรรมชื่อนี้ ย่อมเสวยทุกข์ อย่างนี้ พวกมนุษย์ได้ฟังคำของพระเถระนั้นแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงนำลาภสักการะเป็นอันมากไปถวาย นี้นับว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสดา

อนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ยังทำงานประกาศพระศาสนาสัมพันธ์เป็นอันดีกับพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือน นางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป

๖. เอตทัคคะ

พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อสำเร็จพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและในนรกได้ ปราบผู้ร้ายทั้งหลาย เช่น นันโทปนันทนาคราชเป็นต้นได้ จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดา ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์

๗. บุญญาธิการ

ในอดีตกาลนานหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัปป์ ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาลชื่อสิริวัฒนกุฏุมพี มีสหายชื่อสรทมาณพ

สรทมาณพ ออกบวชเป็นดาบสได้ทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๑ ในศาสนาของพระสมณโคดม ได้รับพยากรณ์ คือ การรับรองจากพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า จะสำเร็จแน่แล้ว จึงไปชวนสิริวัฒนกุฏุมพีให้ปรารถนาตำแหน่ง สาวกที่ ๒ สิริวัฒนกุฏุมพีได้ตกลงตามนั้น แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายได้ถวายผ้ามีราคามาก แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒ พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา แล้วได้พยากรณ์ว่า อีกหนึ่งอสงไขยกับแสนกัปป์ จะได้เป็นสาวกที่ ๒ ของพระโคดมพุทธเจ้า มีนามว่าโมคคัลลานะ เขาได้ทำกุศลกรรมตลอดมา จนถึงชาติสุดท้าย เกิดในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี มีชื่อว่าโมคคัลลานะ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับตำแหน่งอัครสาวกตามปรารถนาที่ตั้งไว้

๘. ธรรมวาทะ

ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะเผาไหม้คนโง่เขลา คนโง่เขลาต่างหากเข้าไปหาไฟที่กำลังลุกอยู่แล้วให้ไฟไหม้ตนเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แล้วเผาตัวของท่านเอง เหมือนกับคนโง่ที่ไปจับไฟ ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แต่กลับได้บาปกลับมาซ้ำยังเข้าใจผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร (บาปแล้วยังโง่อีก)

๙. นิพพาน

พระมหาโมคคัลลานเถระ นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ นิพพานก่อน พระศาสดา แต่นิพพานภายหลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน พระศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว ให้นำอัฐิธาตุมาก่อเจดีย์ บรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเวฬุวันวิหาร


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗