๒๔. ประวัติ พระอุปเสนเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระอุปเสนเถระ นามเดิม อุปเสนมาณพ หรือ อุปเสนวังคันตบุตร
บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ สารีพราหมณี
เกิดที่หมู่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์

๒. ชีวิตก่อนบวช

อุปเสนมาณพมีพี่ชาย ๒ คน คือ อุปติสสะและจุนทะ น้องชาย ๑ คน คือ เรวตะ น้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจารา และนางสุปจารา ครั้นเติบโตแล้วได้ศึกษาไตรเพท ตามลัทธิพราหมณ์

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

อุปเสนมาณพก็เหมือนกับพระสาวกโดยมาก คือ ได้ฟังกิตติศัพท์ของพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดศรัทธา ปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงบวชให้ตามประสงค์

๔. การบรรลุธรรม

ครั้นได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังไม่ทันได้พรรษา คิดว่าจะสร้างพระอริยะให้พระศาสนาให้มากที่สุด จึงบวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง แล้วพาไปเฝ้าพระศาสดา ถูกพระศาสดาติเตียนว่าไม่เหมาะสม เพราะอุปัชฌาย์ก็ยังไม่ได้พรรษา สิทธิวิหาริกก็ยังไม่ได้พรรษา ท่านคิดว่าเราอาศัยบริษัทจึงถูกพระศาสดาติเตียน แต่เราก็จะอาศัยบริษัทนี่แหละทำให้พระศาสดาเลื่อมใส จึงพากเพียรภาวนา ในไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัตผล สมาทานธุดงค์และสอนผู้อื่นให้สมาทานด้วย มีสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกมากมาย คราวนี้พระศาสดาทรงสรรเสริญท่าน

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระอุปเสนเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมทั้งหมด และสอนผู้อื่นให้สมาทานประพฤติธุดงคธรรมนั้นด้วย จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนทุกชั้นวรรณะ และพากันบวชในสำนักของท่าน

๖. เอตทัคคะ

พระศาสดาทรงอาศัยความที่ท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทุกชั้นวรรณะนั้น จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบด้าน

๗. บุญญาธิการ

แม้พระอุปเสนเถระนี้ ก็ได้เห็นพระศาสดาทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้าน จึงบำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น แล้วตั้งความปรารถนา อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงพยากรณ์ว่า จะสำเร็จแน่นอนในกาลแห่งพระสมณโคดม

๘. ธรรมวาทะ

ในที่ชุมชน ผู้เป็นบัณฑิต พึงแสดงตนที่ไม่โง่ ที่ไม่ได้เป็นใบ้ เหมือนกับคนโง่และคนเป็นใบ้ (ในบางครั้ง) ไม่ควรพูดยืดยาวเกินเวลา คนที่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านไป ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ผู้นั้นท่านเรียกว่า สันโดษ

๙. นิพพาน

พระอุปเสนเถระ ได้เป็นพระขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจส่วนตัวของท่าน แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน ตามสมควรแก่เวลาแล้วได้นิพพานดับไปเหมือนกับไฟที่หมดเชื้อ


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗