๓๐. ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระปิลินทวัจฉเถระ นามเดิม ปิลินทะ วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย
บิดาและมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรากฏนาม เป็นชาวเมืองสาวัตถี

๒. ชีวิตก่อนบวช

ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ) จึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จวิชา ๓ ชื่อว่า จูฬคันธาระ เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์ อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย เขาคิดว่าพระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา พระศาสดาตรัสว่า ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้ เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส

๔. การบรรลุธรรม

เมื่อท่านบวชแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาและได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

๕. งานประกาศพระศาสนา

เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู มีความนับถือท่านมาก เข้าไปหาท่านทั้งเช้าเย็น แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุและชาวบ้าน เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ ก็ไม่มีใครถือสากลับศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น

ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่า ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา ท่านถามว่า ถาดอะไรไอ้ถ่อย ชายคนนั้นโกรธ คิดว่าพระอะไรพูดคำหยาบ จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริง ๆ ต่อมามีคนแนะนำเขาว่าให้เดินสวนทางกับท่านใหม่ ถ้าท่านถามอย่างนั้น จงตอบท่านว่าดีปลี ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม เขาได้ทำตามคำแนะนำ ปรากฏว่ามูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม

๖. เอตทัคคะ

ก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย

๗. บุญญาธิการ

แม้พระปิลินทวัจฉเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศโดยเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้บำเพ็ญบุญเป็นอันมาก ต่อมาได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาแล้วได้สำเร็จดังประสงค์ ในสมัยแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังกล่าวแล้ว

๘. ธรรมวาทะ

การที่เรามาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการมาที่ดี ไม่ได้ปราศจากประโยชน์ การตัดสินใจบวชของเรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐที่สุดแล้ว

๙. นิพพาน

พระปิลินทวัจฉเถระ ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล ก็ได้นิพพานดับไป โดยไม่มีอาลัย


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗