๓๔. ประวัติ พระลกุณฏกภัททิยะ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระลกุณฏกภัททิยะ นามเดิม ภัททิยะ แต่เพราะร่างกายของเขาเตี้ยและเล็ก จึงเรียกว่า ลกุณฏกภัททิยะ (ลกุณฏกะ - เล็ก, เตี้ย)
บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นคนวรรณะแพศย์ มีทรัพย์มาก เป็นชาวเมืองสาวัตถี

๒. ชีวิตก่อนบวช

เพราะบิดาและมารดาของเขาเป็นคนมีทรัพย์มาก จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีตามที่จะหาและทำได้ในสมัยนั้น

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน ลกุณฏกภัททิยะเติบโตแล้วได้ไปยังวิหารฟังธรรมเทศนา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชใน พระพุทธศาสนา จึงทูลขอบวชกับพระศาสดา ซึ่งก็ทรงบวชให้ตามประสงค์

๔. การบรรลุธรรม

เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้เรียนกรรมฐาน พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนา ใช้ปัญญาพิจารณาสังขารโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระลกุณฏกภัททิยะ แม้ร่างกายของท่านจะเล็กมาก แต่ท่านก็มีสติปัญญาและความเพียรปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ภิกษุทั้งหลายที่ไม่รู้จักท่านมาเฝ้าพระศาสดา คิดว่าเป็นสามเณร บ้างก็ล้อเล่น ลูบศีรษะ จับใบหู ถามว่า พ่อเณรยังไม่กระสันอยากสึกดอกหรือ ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถูกตรัสถามว่า ก่อนเข้ามาพบพระเถระไหม จึงพากันทูลว่าไม่พบ พบแต่สามเณรตัวน้อย ๆ พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า นั่นเป็นพระเถระไม่ใช่สามเณร จึงทูลว่า ท่านตัวเล็กเหลือเกินพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า เราไม่เรียกภิกษุว่าเป็นเถระ เพราะเขาเป็นคนแก่ นั่งบนอาสนะของพระเถระ ส่วนผู้ใดบรรลุสัจจะทั้งหลาย ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียนมหาชน ผู้นี้จึงจะชื่อว่าเป็นพระเถระ

๖. เอตทัคคะ

พระลกุณฏกภัททิยะนี้ เป็นผู้มีเสียงไพเราะ เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงอันไพเราะ

๗. บุญญาธิการ

แม้พระลกุณฏกภัททิยะเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีที่เป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมาช้านาน ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระศาสดาทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ จึงเกิดกุศลฉันทะว่า ไฉนหนอ ในอนาคตกาลเราพึงเป็นผู้มีเสียงไพเราะเหมือนภิกษุรูปนี้บ้าง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง แล้วได้ทำบุญต่าง ๆ มากมาย และได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาของพระศาสดาพระนามว่าโคดม จึงได้สร้างความดีตลอดมาแล้วได้สมปรารถนาตามประสงค์ ดังคำของพุทธองค์ทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

ภิกษุชื่อภัททิยะ ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากเหง้าหมดแล้ว เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นโลกุตตระ เข้าฌานอยู่ในชัฏแห่งป่านามว่า อัมพาฏการามอันประเสริฐ

คนบางพวกเขารื่นเริงกันด้วยเสียงตะโพน พิณ และบัณเฑาะว์ ส่วนเรายินดีในพระพุทธศาสนา จึงรื่นรมย์อยู่ที่โคนต้นไม้

ถ้าพระพุทธองค์ จะทรงประทานพรแก่เรา และเราก็สามารถได้พรนั้นสมมโนรถ เราจะเลือกเอาการว่า ขอให้ชาวโลกทั้งหมดเจริญกายคตาสติกัน

๙. นิพพาน

พระลกุณฏกภัททิยะ ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกตามสมควรแก่เวลา ก็ได้นิพพานหยุดการหมุนเวียนของวัฏฏะอย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗