๔๑. ประวัติ พระอานนทเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระอานนทเถระ นามเดิม อานนท์ มีความหมายว่า เกิดมาทำให้พระประยูรญาติต่างยินดี
พระบิดา พระนามว่า สุกโกทนะ พระกนิฏฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ (แต่อรรถกถาส่วนมาก กล่าวว่า เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ)
พระมารดา พระนามว่า กีสาโคตมี
เกิดที่นครกบิลพัสดุ์ วรรณะกษัตริย์ เป็นสหชาติ กับพระศาสดา

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระอานนทเถระนี้ เป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่ในสมัยนั้นจะพึงทำได้ เป็นสหายสนิทของเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต

๓. การบวชในพระพุทธศาสนา

พระอานนทเถระนี้ ได้บวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชปรารภของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ประสงค์ จะให้ศากยกุมารทั้งหลายบวชตามพระพุทธองค์ จึงพร้อมด้วยพระสหายอีก ๕ พระองค์ และนายอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา มุ่งหน้าไปยังอนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ เฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

๔. การบรรลุธรรม

พระอานนทเถระ บวชได้ไม่นานก็บรรลุโสดาปัตติผล แต่ไม่สามารถจะบรรลุ พระอรหัตได้ เพราะต้องขวนขวายอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนทำปฐมสังคายนา ๑ คืน หลังพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหวังจักสำเร็จ พระอรหันต์ก่อนการสังคายนา แต่ก็หาสำเร็จไม่เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน จึงหยุดจงกรม นั่งลงบนเตียง เอียงกายลงด้วยประสงค์จะพักผ่อน พอยกเท้าพ้นจากพื้นที่ ศีรษะยังไม่ถึงหมอน ตอนนี้เอง จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากสรรพกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน นับเป็นการบรรลุพระอรหันต์ แปลกจากท่านเหล่าอื่น เพราะไม่ใช่ เดิน ยืน นั่ง นอน

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระอานนทเถระนี้ เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนาแม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงเลื่อมใสท่าน ตามตำนานเล่าว่า ครั้งปฐมโพธิกาลเวลา ๒๐ ปี พระศาสดาไม่มีพระผู้อุปัฏฐากเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า บัดนี้เราแก่แล้ว ภิกษุบางพวกเมื่อเราบอกว่าจะไปทางนี้ กลับไปเสียทางอื่น บางพวกวางบาตรและจีวร ของเราไว้ที่พื้น ท่านทั้งหลายจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อเป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นรู้สึกสลดใจ ตั้งแต่พระสารีบุตรเถระเป็นต้นไป ต่างก็กราบทูลว่า จะรับหน้าที่นั้น แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ คงเหลือแต่พระอานนทเถระเท่านั้นที่ยังไม่ได้กราบทูล

ภิกษุทั้งหลายจึงให้พระอานนทเถระรับตำแหน่งนั้น พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

๑. จะไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์
๒. จะไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓. จะไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน
๔. จะไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์
๕. จะเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้
๖. ข้าพระองค์จะนำบุคคลผู้มาจากที่อื่นเข้าเฝ้าได้ทันที
๗. เมื่อใดข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามได้เมื่อนั้น
๘. ถ้าพระองค์จะทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์

เมื่อเป็นอย่างนี้ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า

การปฏิเสธ ๔ ข้อข้างต้นก็เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนว่า อุปัฏฐากพระศาสดาเพราะเห็นแก่ ประโยชน์ส่วนตัว
การทูลขอ ๔ ข้อหลัง เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนว่า แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากพระศาสดา และเพื่อจะทำขุนคลังแห่งธรรมให้บริบูรณ์

พระศาสดาทรงรับท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านจึงเปรียบเหมือนเงาที่ติดตามพระศาสดาไปทุกหนทุกแห่ง จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้านแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ แม้พระศาสดาก็ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นพหุสูตร คือรู้พระธรรมวินัยทุกอย่าง เป็นผู้มีสติ คือมีความรอบคอบ ดังจะเห็นได้จากการทูลขอพร ๘ ประการ มีคติ คือเป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ (มีเหตุผล) ไม่ใช้อารมณ์ มีธิติ คือมีปัญญา และเป็นพุทธอุปัฏฐาก

งานประกาศศาสนาที่สำคัญที่สุดของท่าน คือ ได้รับคัดเลือกจากพระสงฆ์องค์อรหันต์ ๕๐๐ รูป ให้เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งแรก ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงมาจนถึงสมัยแห่งเราทั้งหลายทุกวันนี้

๖. เอตทัคคะ

เพราะพระอานนทเถระ เป็นผู้ทรงธรรมวินัยมีความรอบคอบ หนักในเหตุผล มีปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ และอุปัฏฐากพระศาสดา โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตน หวังให้เกิดผลแก่พระพุทธศาสนา ในอนาคตกาลภายภาคหน้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญท่านโดยอเนกปริยาย และตั้งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหุสูตร มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็น พุทธอุปัฏฐาก

๗. บุญญาธิการ

แม้พระอานนทเถระนี้ ก็ได้ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานมานานแสนนาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระสุมนเถระผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ผู้สามารถจัดการให้ตนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ดังประสงค์ จึงเกิดความพอใจอยากได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ผ่านมาหลายพุทธันดร จนมาถึงกาลแห่งพระโคดมจึงได้สมความปรารถนา

๘. ธรรมวาทะ

ผู้เป็นบัณฑิต ไม่ควรทำความเป็นสหายกับคนส่อเสียด คนมักโกรธ คนตระหนี่ และคนชอบ เห็นความวิบัติของคนอื่น การคบกับคนชั่วนั้นเป็นความต่ำช้า

ผู้เป็นบัณฑิต ควรทำความเป็นสหายกับคนมีศรัทธา มีศีล มีปัญญา และเป็นคนสนใจใคร่ศึกษา การคบกับคนดีเช่นนั้น เป็นความเจริญแก่ตน

๙. นิพพาน

พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรจะนิพพาน จึงไปยังแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นกลางระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศนิพพาน อธิษฐานให้ร่างกายแตกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายศากยวงศ์ อีกส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพระญาติทั้ง ๒ ฝ่าย


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗