๕๔. ประวัติ พระกาฬุทายีเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระกาฬุทายีเถระ ชื่อเดิม อุทายี เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน แต่เพราะเขามีผิวพรรณค่อนข้างดำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี

บิดาและมารดาไม่ปรากฎชื่อในตำนาน แต่บอกว่า บิดาเป็นอำมาตย์รับราชการในกรุงกบิลพัสดุ์

เกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ อันผู้ที่เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า สหชาตินั้นมี ๗ คือ ๑. ต้นโพธิพฤกษ์ ๒. มารดาของพระราหุล ๓. ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง ๔. พระอานนท์ ๕. ม้ากัณฐกะ ๖. นายฉันนะ ๗. กาฬุทายีอำมาตย์

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

พระกาฬุทายีเถระนั้น เติบโตมาพร้อมกันกับพระสิทธัตถราชกุมาร เป็นสหายรักใคร่ ชอบใจ คุ้นเคยกัน ฉลาดในทางนิติบัญญัติ ต่อมาได้เป็นอำมาตย์ในราชสำนักของกรุงกบิลพัสดุ์

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

หลังจากที่พระมหาสัตว์เสด็จมหาเนษกรรมพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงคอยสดับข่าวตลอดเวลา จนมาทราบว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กำลังประดิษฐานพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ ใคร่จะทอดพระเนตรพระโอรส จึงได้โปรดให้อำมาตย์พร้อมบริวาร นำข่าวสารไปกราบทูล พระศาสดา เพื่อเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ แต่อำมาตย์เหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์ บวชในพระพุทธศาสนา มิได้กลับมาตามรับสั่งถึง ๙ ครั้ง สุดท้ายทรงมุ่งหมายไปที่กาฬุทายี ผู้จงรักภักดีมั่นคงนัก ทั้งยังรักใคร่สนิทสนมกับพระบรมศาสดา คงจะอาราธนาจอมมุนีกลับมาที่กบิลพัสดุ์ได้ จึงส่งไปพร้อมบริวารสู่สถาน กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ ด้วยเกียรติยศยิ่งใหญ่ เธอได้ไปเฝ้าพระชินสีห์ที่พระเวฬุวันวิหาร ทรงประทานพระธรรมเทศนาให้เกิดปัญญาบรรลุ พระอรหันต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร แล้วทูลขอการบรรพชา

๔. วิธีบวช

เมื่อกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมกับบริวารทูลขอการบรรพชาอุปสมบท ตามกฏพระวินัยว่า ขอข้า พระองค์ทั้งหลายพึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงยื่นพระหัตถ์ตรัสพระวาจาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด การบวชวิธีนี้เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา

๕. งานประกาศพระศาสนา

กาฬุทายีอำมาตย์ เมื่อได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ครั้นถึงเวลาใกล้เข้าพรรษา เห็นว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมายังกบิลพัสดุ์ จึงได้ทูลพรรณนาหนทางที่จะเสด็จดำเนินให้เพลิดเพลินด้วยคาถา ๖๐ คาถา เป็นต้นว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้กำลังผลัดใบ ใบเก่าล่องไป ใบใหม่เกิดแทน ดูแล้วแสนเจริญตา สีแดงเจิดจ้าอุปมาดังถ่านเพลิง น่ารื่นเริงทั่วพนาวัน

ไม้ดอกก็ออกดอกทั่วกัน บ้างก็บาน บ้างยังตูม เป็นที่ลุ่มหลงแห่งภมร กลิ่นเกษรหอมกระจายไปทั่วทิศ ชวนรื่นรมย์ดวงจิตทั้งมนุษย์และเทวดาที่ได้มาพบเห็น

ไม้ผลก็ออกผล ให้ทั้งคนและสัตว์ป่า พอสืบชีวาอยู่ได้ตามวิสัยของผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนเข่นฆ่า ชีวิตใคร

อากาศก็สบายไม่หนาวนักไม่ร้อนนัก จะหยุดพักหรือเดินทางก็ไม่สร้างปัญหา โรคไม่เบียดเบียน

ขอเชิญพระพิชิตมารคมนาการสู่กบิลพัสดุ์ เพื่อตรัสเทศนาโปรดพระบิดาและประยูรญาติ ประกาศ ญาตัตถจริยา ตามธรรมดาของสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าข้า

เมื่อพระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาว่าจะเสด็จกบิลพัสดุ์นคร พระเถระได้ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อถวายพระพรให้ทรงทราบ จอมกษัตริย์ทรงต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต มิได้ขาดทุกๆ วัน พร้อมกันนั้นพระประยูรญาติก็ศรัทธาเลื่อมใส เคารพพระรัตนตรัยโดยทั่วกัน สิ้นเวลา ๖๐ วัน พระศาสดาจารย์จึงเสด็จถิงกบิลพัสดุ์ โปรดจอมกษัตริย์และพระประยูรญาติ ประกาศพระพุทธศาสนาในสักกประเทศ แล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม

๖. เอตทัคคะ

พระกาฬุทายีเถระ ได้ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนพระศาสดาจะเสด็จไปถึง ได้แสดงธรรมโปรดพระราชาและบริษัท ทำให้ชาวกบิลพัสดุ์เป็นอันมากเกิดศรัทธาเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย วันหนึ่ง พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่พระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกที่ทำตระกูลให้เลื่อมใสของเราแล้ว กาฬุทายีนับว่าเป็นเลิศกว่า ภิกษุทั้งหมด

๗. บุญญาธิการ

พระกาฬุทายีเถระนี้ ได้สั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพุทธกาลเป็นอันมาก ในกาล แห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่ง ที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงเร่งกระทำบุญกรรมสะสมไว้เพื่อได้ตำแหน่งนั้นแล้ว ได้ตั้งความปรารถนา พระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว เวลาผ่านไปหนึ่งแสนกัปป์ ความปรารถนาของเขาได้สำเร็จในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังได้กล่าวมาแล้ว

๘. ธรรมวาทะ

ชาวนาหว่านพืชบ่อย ๆ ฝนตกลงมาบ่อย ๆ
ชาวนาไถนาบ่อย ๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อย ๆ
พวกยาจกเที่ยวขอทานบ่อย ๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้ทานบ่อย ๆ
ครั้นให้ทานบ่อย ๆ ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อย ๆ
บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง
เกิดในสกุลใด ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด

ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำสกุลให้บริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า นักปราชญ์

๙. นิพพาน

พระกาฬุทายีเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตนแล้ว ได้ช่วยพระศาสดา ประกาศพระศาสนาตามความสามารถในที่สุดก็ได้นิพพานละสังขารไปตามกฎของธรรมดา คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗