๕๕. ประวัติ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระปุณณมันตานีเถระ ชื่อเดิม ปุณณะ เป็นชื่อที่ญาติทั้งหลายตั้งให้ แต่เพราะเป็นบุตรของนางมันตานี คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ปุณณมันตานีบุตร
บิดา ไม่ปรากฎชื่อ มารดาชื่อนางมันตานี เป็นน้องสาวพระอัญญาโกณฑัญญะ ทั้งสองเป็นคน วรรณะพราหมณ์
เกิดที่บ้านพราหมณ์ ชื่อโทณวัตถุ อยู่ไม่ไกลจากนครกบิลพัสดุ์

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

ก่อนบวชในพระพุทธศาสนา ปุณณมาณพได้ศึกษาศิลปวิทยาต่าง ๆ และช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพที่เป็นของตระกูล และเป็นที่นิยมของวรรณะนั้น ๆ

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันยิ่งใหญ่ เสด็จเข้าไปอาศัยราชคฤห์ราชธานีเป็นที่ประทับ พร้อมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ และพระมหาสาวกอีกจำนวนมาก ปุณณมาณพปรารภจะไปเยี่ยมหลวงลุง ได้มุ่งไปยังราชคฤห์มหานคร ด้วยบุญในชาติปางก่อนเตือนใจ จึงได้บรรพชาอุปสมบทตามกฎพระวินัย ได้พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอุปัชฌาย์ บวชมาไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์อันเป็นคุณขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา

๔. งานประกาศพระศาสนา

พระปุณณมันตานีเถระ ครั้นบวชแล้วได้กลับยังกบิลพัสดุ์ราชธานี อาศัยอยู่ที่ชาติภูมิอันร่มเย็น ได้บำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้สัมฤทธิ์ผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา แล้วได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรให้เป็นพุทธสาวกมิใช่น้อย นับจำนวนได้ห้าร้อยองค์ ล้วนมุ่งตรงกถาวัตถุสิบประการที่อุปัชฌาย์อาจารย์สอนสั่ง เพียรระวังเคร่งครัดปฏิบัติตามโอวาท ก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหารพ้นพันธนาการแห่งทุกข์ บรรลุสุขอย่างแท้จริง

พระเถระเหล่านั้นครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์แจ้งความประสงค์ว่า ปรารถนาจะเฝ้าพระทศพล พระเถระจึงนิมนต์ให้ล่วงหน้าไปก่อน แล้วได้บทจรตามไปในภายหลัง

พระบรมศาสดา ทรงทราบว่า พระเหล่านั้นล้วนปฏิบัติมั่นในกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ทรงกระทำปฏิสันถารอันไพเราะเหมาะกับวิมุตวิสัย ตรัสถามว่า พวกเธอมาจากที่ไหน ได้ทรงสดับว่ามาจากชาติภูมิประเทศ เขตสักชนบท อันเป็นสถานที่ตถาคตอุบัติ จึงได้ตรัสถามถึงพระเถระผู้เป็นพระปฏิบัติกถาวัตถุสิบประการ ว่าท่านนั้นชื่ออะไร พระทั้งหลายทูลว่า ปุณณมันตานี ท่านรูปนี้มักน้อย สันโดษ โปรดปรานการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย

ท่านพระสารีบุตรเถระได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้น มีความประสงค์จะพบพระเถระ จากนั้น พระศาสดาได้เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองสาวัตถี พระปุณณมันตานีได้ไปเฝ้าพระทศพลจนถึง

พระคันธกุฎี พระชินสีห์ได้ทรงแสดงธรรมนำให้ให้เกิดปราโมทย์ จึงได้กราบลาพระตถาคตไปยังอันธวัน นั่งพักกลางวัน สงบกายใจ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้คมนาการเข้าไปหา แล้วสนทนาไต่ถามข้อความในวิสุทธิเจ็ดประการ พระเถระบรรหารวิสัชชนาอุปมาเหมือนรถเจ็ดผลัด จัดรับส่งมุ่งตรงต่อ พระนิพพาน ต่างก็เบิกบานอนุโมทนาคำภาษิตที่ดื่มด่ำฉ่ำจิตของกันและกัน

๕. เอตทัคคะ

เพราะพระปุณณมันตานีเถระ มีวาทะในการแสดงธรรมลึกล้ำด้วยอุปมา ภายหลัง พระศาสดา ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุบริษัท จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ปุณณะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นพระธรรมถึก

๖. บุญญาธิการ

แม้พระปุณณมันตานีเถระนี้ ก็ได้มีบุญญาธิการที่สร้างสมมายาวนานในพุทธกาลมากหลาย ล้วนแต่เป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน ได้ทัศนาการเห็นพระปทุมุตตรศาสดา มีพุทธบัญชาตั้งสาวกผู้ฉลาดไตรปิฎก ยกให้เป็นผู้ประเสริฐล้ำเลิศในด้านการเป็นพระธรรมกถึก จึงน้อมนึกจำนงหมายอยากได้ตำแหน่งนั้น พระศาสดาจารย์ทรงรับรองว่าต้องสมประสงค์ จึงมุ่งตรงต่อบุญกรรม ทำแต่ความดี มาชาตินี้จึงได้ฐานันดรสมดังพรที่ขอไว้

๗. ธรรมวาทะ

บุคคลควรสมาคมกับสัตบุรุษผู้ฉลาด ชี้แจงให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ประมาท เห็นแจ้งด้วยปัญญา จึงได้บรรลุประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ลึกซึ้ง ละเอียด สุขุม เห็นได้ยาก

๘. นิพพาน

พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ก็เหมือนกับพระอสีติมหาสาวกทั่วไป ที่บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตแล้วได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีภพใหม่ อีกต่อไป.


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗