วันอนุรักษ์มรดกไทย
ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี


             วันอนุรักษ์มรดกไทย หมายถึง วันเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ คือ

             - พุทธศาสนา
             - ภาษาไทยและ วรรณกรรม
             - ประวัติศาสตร์และโบราณคดี
             - งานช่าง
             - สถาปัตยกรรม
             - ดนตรีไทย
รวมทั้งได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาท ในการสร้างสรรค์และธำรงมรดกของชาติให้ยั่งยืนตกทอดถึงลูกหลานไทยสืบไป

             เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี เวียนมาบรรจบครบรอบ 30 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2538 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์มรดกของชาติ" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้มีพระวิริยะอุตสาหะบำเพ็ญ พระราชภารกิจในการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ คือ พุทธศาสนา ภาษาไทยและวรรณกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานช่าง สถาปัตยกรรมและดนตรีไทย

             เมื่อถึงวันอันเป็นมหามงคลคล้ายวันราชสมภพทุกปี พสกนิกรชาวไทยจึงได้รำลึกแบบอย่างที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติ และได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาท ในการสร้างสรรค์และธำรงมรดกของชาติ ให้ยั่งยืนตกทอดถึงลูกหลานไทยสืบต่อไป พระเกียรติคุณและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงบำเพ็ญและจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติมีมากมายนานัปการ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ทั้งปวงด้วยพระปรีชาสามารถด้วยพระวิริยะอุตสาหะล้ำเลิศ อำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานาประการ ในอันที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรม อันเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ

             วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ


คำจำกัดความมรดกไทย

             คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบ คำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ “มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณ สถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา”

ความเป็นมาของวันอนุรักษ์มรดกไทย

             ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์อันโดด เด่นมาเป็นเวลาช้านาน ศิลปวัฒนธรรมไทยนับเป็นสิ่งสำคัญในยิ่ง ในอันที่จะหล่อหลอมชาวไทยในภูมิภาคต่างๆ ให้เกิดความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียว

             แต่เนื่องจากกรเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้มรดกทางวัฒนธรรมในแขนงต่างๆ นับตั้งแต่โบราณวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ตลอดจนวิธีการดำเนินชีวิต ค่านิยมและระบบประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่นได้รับผลกระทบและถูกละเลยทอดทิ้งและแม้ว่าในภาครัฐบาล จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ทันเหตุการณ์ได้ จึงจำเป็นต้องหามาตรการในการที่จะประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษามรดกวัฒนธรรมของ ชาติให้มากขึ้น

             กรมศิลปากรจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบในการที่จะกำหนดช่วงเวลาที่แน่ชัดในรอบปีหนึ่งๆ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เกิดแนวความคิด ความต้องการในอันที่จะทำนุบำรุงรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ

             ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ องค์เอกอัคราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์และสนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงาน วัฒนธรรมของชาติตลอดมา และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2532 ได้มีการจัดตั้งกองทนุอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ

             โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน รวม 28 คน เป็นกรรมการ


การจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย

             การจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 20 ปี และการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยประจำปี 2538 นี้ นับเป็นปีที่ 22 โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัด หน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐบาลและประชาชนในการจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทยในช่วง สัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย 2 – 8 เมษายน ของทุกปี บางจังหวัด บางหน่วยงานก็จัดกิจกรรมสนับสนุนตลอดทั้งปี ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

             อนึ่ง นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2535 เป็นต้นมา คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดงานใหม่โดยให้มีทิศทางในการจัดงานแน่นอน คือการกำหนดหัวเรื่องของการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งในปีพุทธศักราช 2535 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทยได้กำหนดให้เป็นปีอนุรักษ์ การดนตรีไทย ปีพุทธศักราช 2536 เป็นปีอนุรักษ์การช่างศิลป์ไทย


ลักษณะกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทย
ในแต่ละปีที่ผ่านมานั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้

             คัดเลือกบุคคล องค์กร โครงการ และจังหวัดฯ ที่สนับสนุนการวันอนุรักษ์มรดกไทยประจำปี
การจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทยในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น การจัดนิทรรศการและมหกรรมการแสดงต่าง ๆ โดยการโอนงบประมาณวันอนุรักษ์มรดกไทย ที่รัฐบาลจัดสรรให้ประจำปีให้แต่ละจังหวัดดำเนินการ
กรมศิลปากรจัดทำโครงการพิเศษเรื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย และกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดถาวรวัตถุ

การจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทย
การจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทย จัดมาแล้ว 10 ปี ดังนี้

             * พ.ศ. 2528 ประชาสัมพันธ์วันอนุรักษ์มรดกไทย
             * พ.ศ. 2529 มรดกไทยทั่วไป
             * พ.ศ. 2530 มรดกไทยทั่วไป
             * พ.ศ. 2531 มรดกไทยทั่วไป
             * พ.ศ. 2532 มรดกไทยทั่วไป
             * พ.ศ. 2533 มรดกไทยทั่วไป
             * พ.ศ. 2534 มรดกไทยทั่วไป
             * พ.ศ. 2535 ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย
             * พ.ศ. 2536 การช่างศิลป์ไทย
             * พ.ศ. 2537 ภาษาและวรรณกรรมไทย
             * พ.ศ. 2538 ได้กำหนดเป็นสถาปัตยกรรมไทย

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย

             1. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

             2. เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี

             3. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็น เจ้าของโบราณสถานโบราณวัตถุ และร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาไว้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น

             4. เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

             5. เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง

             6. เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนเปลี่ยนแปลงทิศทางไป ในวันอนุรักษ์มรดกไทย จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที สร้างเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเช่นการจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานสำคัญทางศาสนา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
             - ห้องสมุดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
             - สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก
             - วิกิพีเดีย


**************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร