พระสงฆ์กับการศึกษาไทย
โดย...พระอธิการวีระพัฒน์ ฐิตสาโร ทุ้ย จันทร์ศรีนาค


              พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็นครูมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เราจะเห็นได้ชัดก็สมัยพระพุทธเจ้า ทรงส่งพระสาวก 60 รูปออกไปประกาศพระศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ทั่วอินเดีย เป็นการประกาศความเป็นครูครั้งแรกของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และนักบวชของศาสนาพราหมณ์ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาของชาวอินเดียควบคู่กันมาตลอด แต่การให้การศึกษาของทั้ง 2 ศาสนา แตกต่างกันคือ นักบวชของศาสนาพราหมณ์จะให้การศึกษาเฉพาะชนชั้น 3 วรรณะเท่านั้น คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ยกเว้นวรรณะศูทร แต่พุทธศาสนา พระสงฆ์ได้ให้การศึกษาแก่ทุกชนชั้นวรรณะ เป็นการจัดการศึกที่ให้ความเสมอภาคกันหมด จำเดิมแต่นั้นมา พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ให้ความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพและให้คุณธรรม คือ ความประพฤติดีปฏิบัติชอบ สำหรับเป็นเครื่องอุปถัมภ์ค้ำจุนวิชาชีพให้เจริญรุ่งเรืองและคงอยู่ตลอดไป

              แม้บางครั้งบางสมัย บทบาทแห่งความเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา และทางด้านวิญญาณที่จะถูกลดลงไปบ้างก็ตาม แต่พระสงฆ์ท่านก็พยายามที่จะรักษาบทบาทนี้ไว้เท่าที่ความสามารถจะพึงมีทั้งนี้เพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและเพื่อความสงบสุขของประชาชน

              พระสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาและทางด้านจิตใจอันได้นามว่าครูแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ใฝ่ใจแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา สนใจข่าวในประเทศและต่างประเทศ เพื่อปรับตัวเองให้เป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอให้สมกับความเป็นครู

              พระสงฆ์ที่เป็นครู ต้องตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในความเป็นครู ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมบทบาทของตัวเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นพระจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะพระสงฆ์ไม่เหมือนครูทั่ว ๆ ไปจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการวิชาต่าง ๆ และเทคนิคในการถ่ายทอด มีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ นอกจากนี้แล้ว จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

           ก. เป็นกัลยาณมิตร คือ ประกอบด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตรหรือกัลยาณธรรม 7 ประการคือ

              1. ปิโย น่ารัก คือ เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนให้ผู้เรียนอยากเข้าไปปรึกษาหรือไต่ถาม

              2. ครุ น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

              3. ภาวนีโย น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริงทรงภูมิปัญญาแท้จริง เป็นผู้ฝึกอบรมตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่องเอาอย่าง

              4. วัตตา รู้จักพูด คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูดอย่างไร แนะนำว่ากล่าวตักเตือนอย่างไร เป็นที่ปรึกษาที่ดี

              5. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม

              6. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ กล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่ลึกให้ตื่นได้ และสอนศิษย์ให้รู้เรื่องราวที่ลึกซึ่งยิ่ง ๆ ขึ้น

              7. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ ไม่ชักจูงในทางเสื่อมเสีย แนะนำในทางดีเสมอ

           ข. ตั้งใจประสิทธิ์ประสาธน์ความรู้ โดยตั้งตนอยู่ในธรรมที่เรียกว่า ธรรมเทสกธรรม 5 ประการ คือ

              1. อนุปุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาตามลำดับ ความง่ายยาก ลุ่มลึก มีเหตุผล สัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ

              2. ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจงยกเหตุผลมาให้เข้าใจในแต่ละประเด็น ให้มองให้เห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล

              3. อนุทยตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยเมตตา มุ่งจะให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน

              4. อนามิสันดร ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่จะได้ลาภ หรือ ผลประโยชน์ตอบแทน

              5. อนุปหัจจ์ วางจิตตรงไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหามุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรมไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

           ค. การดำเนินลีลาครูทั้งสี่ ครูที่สามารถมีลีลาของนักสอน ดังนี้

              1. สันทัสสนา ชี้ชัด จะสอนอะไรก็ชี้แจงเหตุผลแยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง ดังจูงมือไปดูให้เห็นกับตา

              2. สมาทปนา ชวนให้ปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรทำก็บรรยายให้มองเห็นความสำคัญและซาบซึ้งให้คุณค่าเป็นสมจริง จนผู้ฟังยอมรับอยากลองทำ หรือนำไปปฏิบัติ

              3. สมุตเชนา เร้าให้กล้า คือ ปลุกใจ ให้คึกคักเกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจ เข้มแข็งมั่นในที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

              4. สัมปหังสนา ปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่นแจ่มใสเบิกบานใจให้ผู้ฟังแช่มชื่นมีความหวัง มองเห็นผลดี และทางสำเร็จ

           ง. มีหลักตรวจสอบสามอย่าง เมื่อพูดอย่างรวบรัดที่สุด ครูอาจตรวจสอบตนเองด้วยลักษณะการสอนของบรมครู 3 ประการ คือ

              1. สอนด้วยความรู้จริง ทำได้จริงจึงสอนเขา

              2. สอนอย่างมีเหตุผล ให้เขาพิจารณาเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยปัญญาของเขาเอง

              3. สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จความมุ่งหมายของเรื่องที่สอนนั้น ๆ เช่น ให้เข้าใจได้จริงเห็นความจริง ทำได้จริงนำไปปฏิบัติได้ผลจริง เป็นต้น

           ค.ทำหน้าที่ของครูต่อศิษย์ คือ ปฏิบัติต่อศิษย์โดยอนุเคราะห์ตามหลักธรรมเสมือนเป็น ทิศเบื้องขวา ดังนี้

              1. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี

              2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

              3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

              4. ส่งเสริมยกย่องความดีความงามสามารถให้ปรากฏ

              5. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ ฝึกสอนให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพและรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตไปด้วยดี

อ้างอิง.-

----------------------------------.ปรัชญาการศึกษาและปรัชญาการศึกษาของไทย.กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช,2523.

หมวดหมู่: การศึกษา การเรียนการสอน
คำสำคัญ: พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน
สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ
สร้าง: ศ. 19 ก.ย. 2551 @ 22:42 แก้ไข: ศ. 19 ก.ย. 2551 @ 22:42


ที่มา.-http://gotoknow.org/blog/titasaro-pigku/210058


**************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร