ศีล
5 ปกติของความเป็นมนุษย์
1.
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
2.
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ ตั้งใจงดเว้นจากการลักทรัพย์
3.
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4.
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเท็จ
5.
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯ ตั้งใจงดเว้นจากการดื่มสุรา
เมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท
ศีล คือ ความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์
ศีล
แปลว่า ปกติ ผู้ที่มีศีลจึงหมายถึงผู้ที่เป็นคนปกติ เป็นมนุษย์ที่ปกติ
ความปกตินั้นเป็น พื้นฐานของความสงบเรียบร้อยของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มีชีวิต
และสิ่งไม่มีชีวิต แต่เมื่อใดเกิดความไม่ปกติ ขึ้น ความยุ่งยาก ความเดือดร้อนหรือเสียหายย่อมเกิดขึ้นตามมา
เช่น ดวงอาทิตย์ปกติจะส่องสว่างในเวลากลางวันเป็นปกติ ถ้าตราบใดที่พระอาทิตย์ยังส่องแสงเป็นปกติอยู่อย่างนี้
เราทั้งหลายก็ยังมีชีวิต ที่สงบสุขอยู่ตราบนั้น แต่หากวันใดพระอาทิตย์เกิดความผิดปกติขึ้นมา
คือไม่ส่องแสงในเวลากลางวันดังที่ เคยเป็นมา การงานย่อมเสียหาย ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น
เพียงการเกิดสุริยุปราคา การงานก็เสียหายไม่น้อย หรือฤดูฝนปกติฝนจะต้องตก
การทำเกษตรจึงสามารถทำไปได้อย่างเต็มที่ แต่หากปีใดที่ถึงฤดูฝน แล้วฝนกลับไม่ตก
ปีนั้นก็กลายเป็นปีที่ผิดปกติไป และสิ่งที่เกิดตามมาคือข้าวยากหมากแพง
พืชผลทาง การเกษตรก็เสียหาย
คนเราก็เช่นกัน
ถ้ามีความเป็นปกติ การดำเนินชีวิตก็มีแต่ความสงบสุข สังคมก็อยู่อย่างปกติ
เรียบร้อย แต่วันใดที่คนปกติกลายเป็นคนไม่ปกติไป เมื่อนั้นความทุกข์
ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้น ทั้งต่อ ตนเองและบุคคลที่อยู่รอบข้างด้วย
อะไรคือความเป็นปกติของมนุษย์ และอะไรคือความผิดปกติของมนุษย์ ศีล
5 คือปกติของความเป็นมนุษย์ หรือมนุษยธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์
ผู้ที่ผิดศีลก็ชื่อว่า เป็นคนที่ผิดปกติไป
6.1.1
ศีล 5 เป็นคุณธรรมพื้นฐาน เป็นเครื่องช่วยควบคุมกายวาจาของมนุษย์ให้เรียบร้อย
เพื่อ ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขพอสมควร หากมีผู้ใดทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง
หรือหลายข้อแล้ว ก็จะแสดงพฤติกรรม หรือการกระทำที่ผิดปกติของมนุษย์ออกมา
ซึ่งจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย เกิด ความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง
หมู่คณะ และสังคมส่วนรวม
6.1.2
ศีล 5 เกิดขึ้นจากสามัญสำนึกของมนุษย์ ที่ปรารถนาจะอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข
ปลอดภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวอันตราย หรือกลัวว่าจะถูกเบียดเบียนทำร้าย
ไม่ว่าจากใคร หรือด้วยวิธีใดก็ตาม ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน
เวฬุทวารสูตร ว่า
"ดูก่อนพราหมณ์
และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์
ผู้ใดจะปลงเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต
ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลงคนอื่นผู้อยากเป็นอยู่
ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น
ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น
ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร
อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็น ดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย
ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้น จากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย
กายสมาจารของ อริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามส่วนอย่างนี้
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถือเอา สิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยอาการขโมย
ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา...
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของเรา
ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่อบใจของเรา...
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ
ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา...
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงยุยงเราให้ แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด
ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา...
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเรา ด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา...
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเรา ด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ
ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา ฯลฯ ตนเองย่อมงดเว้น จากสัมผัปปลาปะ
(เพ้อเจ้อ) ด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจักสัมผัปปลาปะด้วย
วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์ทั้งสามส่วนอย่างนี้..."
จากพระสูตรนี้ชี้ให้เห็นว่า
1)
สิ่งแรกที่ทุกชีวิตได้มา นับแต่ลืมตาดูโลก คือ ชีวิต ดังนั้น ทุกชีวิตไม่ว่าจะยากดีมีจน
จะเป็นคน หรือสัตว์ ต่างก็รักและหวงแหนชีวิตตนไม่น้อยไปกว่ากันเลย
ในเมื่อเรารักชีวิต ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่อย่าง มีความสุข ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายเบียดเบียนชีวิตเรา
ผู้อื่นก็ย่อมจะรู้สึกเช่นเดียวกัน
ความรู้สึกเช่นนี้นี่เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลาย
เพราะมนุษย์มีสามัญสำนึกในอันที่จะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ส่วนสัตว์ทั้งหลายมีปกติมักเบียดเบียนชีวิตกัน
แสดงออกด้วยความ โหดร้ายทารุณต่อกัน ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของใคร การมีจิตเมตตาต่อผู้อื่น
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงเป็น ปกติของมนุษย์อย่างแท้จริง
ความปกตินี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดศีลข้อที่
1 ว่า ปาณาติปาตา เวระมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่า สัตว์ด้วยตนเองและใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
นั่นคือ เราจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
2)
ความรักชีวิต ได้สอนให้ทุกชีวิตแสวงหาทรัพย์อันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีพ
แม้จะเหนื่อยยากเพียงใด ทุกชีวิตต่างดิ้นรนหาทรัพย์มาเลี้ยงชีวิตตน
ทรัพย์ที่ได้มานั้น ไม่ว่าจะต่ำต้อยน้อยค่าหรือมีราคาแค่ไหน ต่างก็เป็นของรักของหวงทั้งสิ้น
เราย่อมไม่ต้องการให้ใครมาฉกฉวยแย่งชิงไปจากเรา ผู้อื่นก็ย่อมไม่ ต้องการให้ใครมาแย่งชิงไปจากเขาเช่นกัน
สามัญสำนึกที่จะไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น
เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลาย เพราะปกติของสัตว์ทั้งหลายมักจะแย่งชิงอาหารกันกิน
ไม่คำนึงว่าจะเป็นของใคร เมื่อมีโอกาสเป็นต้อง แย่งชิงมาให้ได้ ดังนั้น
การไม่ลักขโมย การไม่เบียดเบียนแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้อื่น จึงเป็นปกติ
ของมนุษย์ที่แท้จริง
ความเป็นปกตินี้
จึงเป็นเหตุให้เกิดศีลข้อที่ 2 ว่า อทินนาทานา เวระมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์
นั่นคือ เราจะไม่ลัก ไม่แย่งชิงทรัพย์สินของอื่น
3)
ทุกชีวิตมีความรักใคร่ห่วงใยในคู่ครอง และคนในครอบครัวของตน ต่างปรารถนาจะใช้ชีวิต
ร่วมกันอย่างอบอุ่น สืบวงศ์สกุลอย่างภาคภูมิใจ ถ้าใครมาประพฤติผิดประทุษร้ายในสามี
ภรรยา บุตร ธิดา ของเรา ก็ย่อมทำให้เรามีความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ
ในทำนองเดียวกัน ผู้อื่นก็ไม่ต้องการให้ใครมาประพฤติผิดประทุษร้ายในสามี
ภรรยา บุตร ธิดา ของเขาเช่นกัน
สามัญสำนึกที่จะไม่เบียดเบียนคู่ครอง
หรือคนในครอบครัวของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลาย
เพราะปกติของสัตว์นั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ มักแย่งคู่กัน บางครั้งถึงขั้นสู้กัน
จนตายไปข้างหนึ่งก็มี การไม่แย่งชิงหรือเบียดเบียนคู่ครองหรือคนในครอบครัวของผู้อื่น
จึงเป็นปกติของ มนุษย์ที่แท้จริง
ความเป็นปกตินี้
จึงเป็นเหตุให้เกิดศีลข้อที่ 3 ว่า กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี เจตนางดเว้นจาก
การประพฤติผิดในกาม
4)
ความสัตย์ ความจริง ก็เป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องการ เพราะการตัดสินใจในชีวิต
จะทำได้ดีต้องมี ข้อมูลที่ถูกต้อง อีกทั้งความมั่นใจในการดำเนินชีวิต
จะมีได้ต้องมาจากความจริงใจ ซื่อตรงต่อกัน การ โกหกหลอกลวงนั้น ไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้
แต่ยังสร้างความเสียหายในทรัพย์สิน หรือแม้แต่ ชีวิตทั้งชีวิตก็ถูกทำลายได้ด้วยการหลอกลวง
ดังนั้น เมื่อเราไม่ต้องการถูกหลอกลวง ผู้อื่นก็ย่อมไม่ ต้องการเช่นกัน
สามัญสำนึกที่จะไม่เบียดเบียนกันด้วยการกล่าวเท็จ
หรือด้วยคำพูด เป็นสิ่งที่มนุษย์แตกต่างจาก สัตว์ทั้งหลาย ที่มักเบียดเบียนกันด้วยการใช้เสียงขู่คำราม
สร้างความหวาดกลัว และสร้างความเสียหาย แก่ชีวิตของสัตว์อื่น การไม่ใช้คำพูดเบียดเบียนผู้อื่น
จึงเป็นปกติของมนุษย์ที่แท้จริง
ความเป็นปกตินี้เอง
จึงเป็นเหตุให้เกิดศีลข้อที่ 4 ว่า มุสาวาทา เวระมะณี เจตนางดเว้นจากการ
พูดเท็จ
มีข้อสังเกตประการหนึ่ง
คือ คนที่กล่าวเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ก็คือผู้ที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับความดี
และไม่มีความซื่อตรงอยู่ในใจ บุคคลเช่นนี้ ย่อมจะทำความผิดอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นได้ทุกอย่าง
ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประทานโอวาทแก่พระราหุลใน จูฬราหุโลวาทสูตร
ว่า
"ดูก่อนราหุล
เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี
ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา
แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูก่อนราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล"
5)
ความสงบ ความปลอดภัยในชีวิต ก็เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องการ แต่จะเป็นไปได้เมื่อทุกชีวิตตั้งอยู่
ในความไม่ประมาท เพราะคนประมาทขาดสติ อาจทำความชั่วได้ทุกชนิด หรือสร้างความเสียหายได้
อย่างใหญ่หลวง
ความปกติของมนุษย์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น
จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากมนุษย์ไม่สามารถรักษาสติไว้ได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนขาดสติได้อย่างง่ายดาย
ก็คือ สุราเมรัย นั่นเอง
สุรานอกจากจะทำให้คนดีกลายเป็นมีสภาพเหมือนคนบ้าแล้ว
คุณธรรมความดีอื่น ๆ ที่สั่งสมมาก็ ถูกทำลายลงเสียสิ้นเหมือนกัน เหมือนเรื่องของพระสาคตะ
ดังต่อไปนี้
เรื่องพระสาคตะ
ในสมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำพรรษาอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ครั้นออกพรรษา
พระพุทธองค์ได้เสด็จไปสู่เจติยชนบท จนกระทั่งมาถึงบ้านภัททวติกคาม
เมื่อคนเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจน ชาวนาและคนเดินทางได้แลเห็นพระองค์
ก็พากันกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์
ขอได้โปรดอย่าเสด็จไปสู่ท่าอัมพะเลย เพราะมีพญานาคตนหนึ่งซึ่งมีพิษร้ายแรง
อาศัยอยู่ใกล้อาศรมชฎิล หากพระองค์เสด็จไป พญานาคนั้นก็จะทำอันตรายแก่พระองค์
แต่พระองค์ทรงนิ่งเฉย แม้คนเหล่านั้นจะทูลห้ามถึง 3 ครั้ง พระองค์ก็ทรงนิ่งเฉย
เสด็จเข้าไปประทับอยู่ที่ภัททวติกคาม
คราวนั้น
พระสาคตเถรผู้สำเร็จโลกิยฌาน จึงได้ไปยังอาศรมชฎิลที่นาคนั้นอาศัยอยู่
ท่านเข้าไปยังโรงบูชาไฟ แล้วปูหญ้าลงรองนั่งท่าสมาธิคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
เมื่อนาคมองเห็นพระสาคตเถระ
ก็รู้สึกขุ่นเคืองจึงพ่นพิษเข้าใส่ พระสาคตเถระจึงบันดาลพิษ โต้ตอบกำจัดพิษนาคนั้น
นาคจึงพ่นไฟสู้อีก พระสาคตเถระจึงเข้าเตโชสมาบัติบันดาลไฟโต้ตอบ จนนาคนั้น
ยอมแพ้ จากนั้นท่านได้สั่งสอนให้นาคตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ แล้วท่านจึงกลับมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่
ภัททวติกคาม
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประทับอยู่ที่ภัททวติกคามตามสมควรแก่พระประสงค์แล้ว จึงเสด็จกลับสู่เมืองโกสัมพี
เมื่อชาวเมืองโกสัมพีมารับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ทราบว่าพระสาคตเถระมี
ชัยชนะแก่พญานาค จึงพากันเข้าไปถามพระสาคตเถระว่า
"สิ่งใดที่เป็นของหายาก
เป็นของชอบใจของพระคุณเจ้า พวกเราจะจัดถวาย"
ครั้งนั้น
ยังมีภิกษุผู้มีความริษยาในพระสาคตเถระได้แกล้งตอบไปว่า "สุราใสสีแดงเหมือนสีเท้าของนกพิราบ
เป็นของหายาก และเป็นของชอบใจของพระคุณเจ้า ท่าน ทั้งหลายจงจัดเตรียมสุรานั้นไว้ถวายจึงจะดี"
คนเหล่านั้นจึงพากันกระทำตามคำแนะนำ
โดยเวลาที่พระสาคตเถระไปบิณฑบาต ต่างก็ขอให้ ท่านดื่มสุรา พระสาคตเถระได้ดื่มสุราทุก
ๆ เรือนไป จนในที่สุดก็ล้มลงที่ประตูเมืองด้วยความมึนเมา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากเมืองพร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก
ได้ทอดพระเนตรเห็น พระสาคตะล้มกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง จึงตรัสสั่งให้ภิกษุทั้งหลายช่วยกันพยุงพระสาคตเถระไป
แล้วจัดให้นอน หันศีรษะมาทางพระองค์ แต่พระสาคตเถระกลับพลิกตัวนอนเอาเท้าทั้งสองมาทางพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ลำดับนั้น
พระพุทธองค์รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย สาคตะมีความเคารพ มีความยำเกรงในตถาคตมิใช่หรือ"
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า
"เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้สาคตะมีความเคารพยำเกรงในตถาคตอยู่หรือ"
"ไม่มีเลย
พระพุทธเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สาคตะได้ต่อสู้กับนาคภัททวติกคามใช่หรือไม่"
"ใช่
พระพุทธเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้แม้แต่งูน้ำ สาคตะจะสามารถทำการต่อสู้ได้หรือไม่"
"ไม่ได้
พระพุทธเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้ว ถึงวิสัญญีภาพนั้นควรดื่มหรือไม่"
"ไม่ควรดื่ม
พระพุทธเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
การกระทำของสาคตะไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ไฉนสาคตะจึงดื่มน้ำที่ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา
การกระทำของสาคตะนั้น มิได้เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว"...
ฤทธิ์ของสุราจึงไม่เพียงแต่ทำให้พระสาคตเถระสิ้นฤทธิ์เท่านั้น
แต่ยังทำให้ความประพฤติอันดีงาม ให้กลับเสื่อมทรามสิ้นสง่าราศี จากผู้เป็นที่เคารพศรัทธา
กลับกลายเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์ แม้จิตใจที่อาจหาญของท่าน
ยังกลับกลายเป็นใจที่เสื่อมสิ้นกำลัง ทั้งที่สภาพใจของท่านแต่เดิมนั้น
เป็นใจที่ตั้งมั่น ทนทานต่อการทำลายไม่ว่าจากภัยใด ๆ แต่แล้วกลับเปลี่ยนสภาพไปอย่างง่ายดาย
ด้วยการดื่มสุรา
ศีลทั้งสี่ข้อที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะตั้งใจรักษาสักเพียงใด แต่หากรักษาข้อที่ 5 ไม่ได้ สี่ข้อที่เหลือก็ไม่อาจ
รักษาได้เช่นกัน อุปมาเหมือนช้างที่ใช้งวงหาอาหารเลี้ยงชีวิต หากวันใดงวงของมันไม่สามารถทำหน้าที่ได้
หรือขาดออกไปเสีย มันก็ต้องตาย เพราะขาดงวงเอาไว้จับอาหาร ถึงจะมีขาอีกสี่ข้างคอยช่วยพาเดินไป
ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ช้างนั้นย่อมตายไป เพราะเหตุที่ไม่มีงวง ฉันใด
คนเราก็เช่นกัน หากขาดศีลข้อที่ 5 ไป อีก 4 ข้อที่เหลือก็ยากจะรักษาไว้ให้ได้ดังเดิม
ฉันนั้น
กุศลธรรมทั้งมวลจะตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยความไม่ประมาท
แต่เมื่อใดเกิดประมาทเสียแล้ว กุศลก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ การดื่มสุราเป็นทางมาแห่งความประมาท
เมื่อประมาทก็ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอกุศลทั้งหลาย สามารถกระทำความชั่วได้ทุกอย่าง
ไม่สามารถรักษาความดี หรือความปกติของมนุษย์ไว้ได้เลย
ดังนั้น
เพื่อที่จะรักษาความเป็นปกติของมนุษย์ทั้งสี่ข้อที่ผ่านมา ก็ต้องไม่ดื่มสุราเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดศีลข้อที่ 5
ว่า สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท
ศีล
5 มาจากสามัญสำนึกของมนุษย์ที่รู้ว่า เมื่อเรามีความรักตนเอง ปรารถนาความสุข
ความปลอดภัยให้กับตนเอง ชีวิตอื่นย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้คิดพิจารณา
โดยเริ่มต้นที่ความรู้สึกของเราว่า การเบียดเบียนใด ๆ อันเป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นกระทำต่อเรา
สิ่งนั้นผู้อื่นก็ย่อมไม่ปรารถนาให้เรากระทำต่อเขา เช่นกัน
ส่วนในยุคสมัยที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นนั้น
ศีล 5 ก็เป็นมนุษยธรรม ที่มีอยู่ตาม ธรรมชาติของมนุษย์ ดังปรากฏใน
อัคคัญญสูตร และ จักกวัตติสูตร มีความโดยสรุปว่า
ปัญหาสังคมของมนุษย์มีอยู่ตลอดกาล
แม้ในยุคสมัยที่โลกพรั่งพร้อมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารอัน ประณีตสมบูรณ์
มนุษย์ได้ดำรงชีวิตอย่างสุขสบาย แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์มีความแตกต่างกัน
เริ่มจากเรื่อง ของผิวพรรณวรรณะ บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกผิวพรรณไม่งาม
จึงทำให้เกิดการแบ่งชนชั้น เกิดความหยิ่งทะนง และดูหมิ่นกัน ความเสื่อมทรามของสภาพจิตใจที่เกิดขึ้น
จึงส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศเสื่อมลง
เมื่อบรรยากาศของโลกไม่น่ารื่นรมย์เช่นนี้
ทรัพยากรซึ่งเคยมีอยู่อย่างบริบูรณ์จึงลดลงทั้ง ปริมาณและคุณภาพ อาหารที่ประณีต
กลับเสื่อมสูญไป กลายเป็นมีอาหารหยาบมาแทนที่ ยิ่งเกิดการจับจองครอบครองทรัพยากรอันมีจำกัดนั้นอย่างเห็นแก่ตัว
เกิดการลักขโมย การลงโทษ การทำร้าย เบียดเบียนซึ่งกันและกันในทุกวิถีทาง
ในที่สุด ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์ได้รู้สึกตัว และสำนึกได้
ว่าการที่ทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมลงไปนั้น เป็นผลมาจากความเสื่อมของศีลธรรม
ที่เกิดจากความประพฤติ ของมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง
ดังนั้น
ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบังเกิดขึ้นหรือไม่ ศีล 5 ย่อมมีอยู่แล้วทุกยุคทุกสมัย
เพราะมนุษย์เป็นผู้รู้จักใช้เหตุผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ และสิ่งนี้เองคือศักดิ์ศรีที่แท้จริงแห่งความเป็นมนุษย์
ศีล เป็นมหาทาน
การรักษาศีล
ไม่เพียงเป็นการรักษาความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์ หรือเพื่อรักษากฎเกณฑ์
ในการอยู่ร่วมกันในสังคมเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการให้ทานที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการให้วัตถุใด
ๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาล
นั่นคือได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทันที กล่าวคือ
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่
1 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ย่อมได้ชื่อว่า ให้ชีวิต ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต
ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใด ๆ
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่
2 คือ ไม่ลักทรัพย์ ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่
3 คือ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความสุข ให้ความปลอดภัย
แก่บุตร ธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่
4 คือ ไม่กล่าวคำเท็จ ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความ
สบายใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่
5 คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง เพราะคนที่
ประมาทขาดสตินั้น สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม หรือพูดเท็จก็ทำได้ทั้งสิ้น
การรักษาศีล
5 จึงเป็นทานอันประเสริฐ ที่หล่อเลี้ยงโลกนี้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน
ซึ่งทานอันประเสริฐนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มหาทาน พร้อมทั้งทรงกล่าวว่า
ผู้บำเพ็ญมหาทาน ย่อมได้ รับผลบุญอันมหาศาลเช่นเดียวกัน ดังปรากฏใน
ปุญญาภิสันทสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ห้วงบุญห้วงกุศล 8 ประการนี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข
ห้วงบุญห้วงกุศล
8 ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 1
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการ
ที่ 2
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการ
ที่ 3
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ทาน 5 ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ
เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่
จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด
ทาน 5 ประการเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร
ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร
ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย
ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นทานประการที่ 1 ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน
เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็น ของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 4
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ 2
ที่เป็นมหาทาน ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 5
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ นี้เป็นทาน
ประการที่ 3 ที่เป็นมหาทาน ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 6
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ 4 ที่เป็นมหาทาน
ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 7
อีกประการหนึ่ง
อริยสาวกละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้ว ชื่อว่าให้ความ ไม่มีภัย ความไม่มีเวร
ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร
ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย
ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นทานประการที่ 5 ที่เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน
เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 8 นำสุขมาให้
ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข"
จะเห็นว่าการรักษาศีลนั้น
เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยน้ำใจที่กว้างขวาง เพราะเป็นน้ำใจที่มีต่อชีวิต
ทั้งหลายอันไม่มีประมาณ และไม่มีการเจาะจง
การรักษาศีล
จึงเป็นบุญอันพิเศษอย่างยิ่ง เพราะได้ทั้งบุญจากการบำเพ็ญมหาทาน และบุญจาก
การรักษาศีล และนี่เป็นเพียงศีล 5 อันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น หากรักษาศีลในข้อที่สูงยิ่งขึ้นไป
ย่อมเป็นมหาทานอันยิ่งใหญ่ เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
อย่างสุดที่จะประมาณได้
ขอขอบคุณ
. http://main.dou.us/view_content.php?s_id=388&page=8
ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การสมาทานศีล
ศีล ๕ ความหมายลึกกว่าที่คุณคิด
"ศีล๕"..พื้นฐานความเป็นมนุษย์
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
**************************
|