ศีลกับเป้าหมายชีวิต
เป้าหมายชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น
มีอยู่ด้วยกัน ๓ ระดับ (ดังที่กล่าวมาแล้ว) คือ เป้าหมาย บนดิน (ปัจจุบันชาติ)
เป้าหมายบนฟ้า (ภพชาติเบื้องหน้า) และเป้าหมายเหนือฟ้าหรือเป้าหมายสูงสุด
(พระนิพพาน)
เป้าหมายบนดิน
คือ การดำเนินชีวิตที่มีความสุข มีความสงบ ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์กาย
หรือทุกข์ใจ
เป้าหมายบนฟ้า คือ การได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หรืออย่างน้อยได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง
ไม่ต้องพลัดตก ไปสู่อบาย คือเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์เดรัจฉาน
เป้าหมายเหนือฟ้า คือ การกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
การจะบรรลุถึงเป้าหมายทั้งสามระดับได้นั้น
สิ่งที่ต้องกระทำเป็นอับดับแรก คือ ต้องทำทาน เพราะทาน เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ
ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความสุขสบาย ดังที่ได้ศึกษาในบทที่ผ่านมา
ซึ่งในบทนี้จะกล่าวถึงเรื่อง ศีลกับเป้าหมายชีวิตทั้ง ๓ ระดับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตให้มากขึ้นไปเป็นลำดับ
ศีลกับเป้าหมายบนดิน
เมื่อมีสมบัติไว้หล่อเลี้ยงกาย
สิ่งที่จำเป็นต้องได้ถัดมา คือ การมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากทุกข์โทษ
ภัย หรือการเบียดเบียนกัน ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกันมิให้คนในสังคมเบียดเบียนกัน
ก็คือศีลนั่นเอง เพราะศีลเป็นเครื่องควบคุมกาย วาจา ของคนให้เรียบร้อย
ทำให้ไม่มีการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินซึ่งกันและกัน ดังนั้น เพื่อความสุข
และความปลอดภัย แต่ละคนจะต้องรักษาศีลของตนเองไว้ให้มั่นคง
ศีลกับเป้าหมายบนฟ้า
นอกจากศีลจะเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขแล้ว
ศีลยังเป็นหลักประกันที่จะทำให้ไม่ต้องตกไปสู่อบาย หรืออย่างน้อยก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์
แข็งแรง มีอายุขัยยืนยาว เพราะว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนทำร้ายใคร จึงทำให้ได้ร่างกายที่เหมาะสม
สำหรับทำความดี และยังสามารถใช้ทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
ศีลกับเป้าหมายเหนือฟ้า
การรักษาศีลไม่เพียงเป็นเหตุให้ได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตในภพชาตินี้
คือการมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากทุกข์โทษภัยใดๆ หรือบรรลุเป้าหมายในภพชาติเบื้องหน้า
คือการได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น แต่ศีลยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณธรรมทั้งหลายของมนุษย์
ประดุจแผ่นดินเป็นที่รองรับของการงานทั้งปวง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน
ปฐมพลกรณียสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
การงานที่บุคคลต้องทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินทั้งนั้นจึงจะทำได้
การงานที่ต้องทำเหล่านี้ เขาย่อมทำด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอบรมอริยมรรคอันประกอบด้วย
องค์ ๘ ทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ฉันนั้น"
นอกจากนั้น
ศีลก็ยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูง คือสมาธิและปัญญา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน
ภิกขุสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เธอจงทำเหตุเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน เหตุเบื้องต้นของกุศลธรรม
คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นตรง เมื่อใดศีลของเธอบริสุทธิ์ดีแล้ว
และความเห็นของเธอก็ตรงดีแล้ว เมื่อนั้นเธอ อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล
แล้วจงเจริญสติปัฏฐาน ๔ (วิปัสสนา) ต่อไป
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อใดเธออาศัยศีล และตั้งอยู่ในศีลแล้ว จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
โดย ๓ ส่วนอย่างนี้ เมื่อนั้นเธอพึงหวังความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียวตลอดคืนหรือวันอันจะมาถึง
เธอจะไม่มีความเสื่อมเลย"
เมื่อเห็นความสำคัญของศีลเช่นนี้
จึงควรที่จะศึกษาเรื่องศีลให้ถ่องแท้ จนเกิดความเข้าใจ และสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกต้อง
มีความสุขความยินดี เต็มใจที่จะรักษา ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์อันสูงค่าจากที่เรารักษาศีลได้อย่างบริบูรณ์
ดังธรรมภาษิตของท่านพระสีลวเถระ ใน สีลวเถรถาคา ว่า
"ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้
ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้
นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ
และความบันเทิงในสวรรค์ เมื่อละไปแล้ว พึงรักษาศีล
ด้วยว่าผู้มีศีล
มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร
นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและการเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีล
ย่อมได้รับการสรรเสริญ และชื่อเสียงทุกเมื่อ ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง
เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง
เพราะฉะนั้น
พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง
เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือนิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะฉะนั้น
พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
ศีลเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้
เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์
ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
ศีลเป็นเสบียงอันเลิศ
เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ
คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป
ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล
ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว
ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจ ในที่ทุกสถานในโลกนี้
ศีลเท่านั้นเป็นยอด
และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลก และเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีล
และปัญญา"
คำแปล และความหมาย
คำว่า
ศีล นั้น มีคำแปล และความหมายหลายนัย ดังต่อไปนี้ คือ
๑.
ศีล มาจากคำว่า "สิระ" ซึ่งแปลว่า ศีรษะ หรือ ยอด เพราะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดคนนั้น
แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิน อำนาจ ความรู้ หรือความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น
หากแต่อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของศีล ซึ่งเป็นที่ยอมรับยกย่องของเหล่าบัณฑิตว่า
ผู้มีศีลย่อมประเสริฐที่สุด
๒.
ศีล มาจากคำว่า "สีละ" ซึ่งแปลว่า ปกติ เพราะปกติของคนเรานั้นย่อมรักชีวิตของตน
และเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ จึงยินดีในการรักษาศีล
เพราะไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน การรักษาศีลจึงเป็นการนำไปสู่ความเป็นคนที่ปกติสมบูรณ์
๓.
ศีล มาจากคำว่า "สีตะละ" ซึ่งแปลว่า เย็น เพราะผู้ที่รักษาศีล
จะมีความเย็นกาย เย็นใจ ดุจดัง บุคคลผู้อาบน้ำชำระกายหมดจดดีแล้ว นั่งพักอยู่
ณ ร่มไม้ใหญ่ ความสงบเยือกเย็นนี้ แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ ก็จะรู้สึกปลอดภัย
เย็นใจไปด้วย
๔.
ศีล มาจากคำว่า "สิวะ" ซึ่งแปลว่า ปลอดโปร่ง เพราะผู้ที่รักษาศีลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์
ไม่ว่าจะนึกถึงการกระทำของตนเรื่องใด ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นโทษ ไม่มีสิ่งใดเดือดร้อนกังวลใจ
จึงมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง โล่งใจ และปลอดจากเวรภัยทั้งหลาย
ดังนั้น
ศีล จึงเป็นคุณธรรม ที่ทำให้เข้าถึงความเป็นยอดคน เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์แบบ
มีความเป็นปกติ เป็นผู้ที่เย็นกาย เย็นใจ และมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง ปลอดภัยอยู่เสมอ
สำหรับความหมายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคนั้น
พระสารีบุตรเถระได้กล่าวไว้ว่า
ศีล
คือ "เจตนา" ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต ๓ (ไม่ฆ่าสัตว์,
ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติ ผิดในกาม) และวจีทุจริต ๔ (ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ,
ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจ้อ)
ศีล
คือ "เจตสิก" หมายถึงการงดเว้นจากมโนทุจริต ๓ (ความโลภอยากได้ของผู้อื่น,
มีจิตคิดพยาบาท, มีความเห็นผิด)
ศีล
คือ "ความสำรวมระวัง" ปิดกั้นความชั่ว
ศีล
คือ "การไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม"
แม้ศีลจะมีหลายความหมาย
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เจตนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ศีล คือ ความตั้งใจ
ที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต สิ่งที่ไม่ดีทุกประการ
การรักษาศีล
จึงเป็นบุญกิริยาวัตถุ คือวิธีการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่เราตั้งใจงดเว้นจาก
ความชั่ว ตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร ย่อมจะเกิดกระแสแห่งความดี เกิดความเมตตาขึ้นมาในใจ
ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ อันเป็นเครื่องชำระจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์
การรักษาศีลจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และจิตใจให้บริสุทธิ์ดีงามยิ่งขึ้น
นอกจากนี้
ศีลยังเป็นคุณธรรมอันงามด้วยคุณลักษณะ ๒ ประการ คือ เป็นคุณธรรมที่รักษา
กาย วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นคุณธรรมอันจะนำไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูง
คือ สมาธิ และปัญญา ต่อไป
วัตถุประสงค์ของการรักษาศีล
หากเราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการรักษาศีล
ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษา ก็จะทำให้เราสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกต้อง
รักษาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของศีล
ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรักษาแบบทำตามกันมา หรือว่ารักษาไปอย่างนั้น
ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย
การรักษาศีล
มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๕ ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
๑.
เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติปัจจุบัน ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์
ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสีย อันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
๒.
เพื่อให้เกิดความสุข ความดีงาม ในการดำเนินชีวิต
๓.
เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น และความดีงามแก่ครอบครัว และสังคม
๔.
เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์
ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสีย อันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเอง
และผู้อื่น
๕.
เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ได้แก่ สมาธิ และปัญญา
อันจะทำให้บรรลุ มรรคผลนิพพานได้
วัตถุประสงค์ข้อ
๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ เป็นวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุข
ไม่ต้อง ประสบพบเจอกับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือความเสื่อมเสีย
ในภพชาติปัจจุบัน เพราะผู้ที่ไม่รักษาศีล มักเบียดเบียน หรือทำความเดือดร้อนให้กับตนเอง
หรือผู้อื่น และเมื่อทำแล้ว ความเดือดร้อนที่เป็นผลจาก การกระทำนั้น
ย่อมย้อนกลับมาหาตัวเอง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยสังคามวัตถุสูตร
ว่า
"ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ
ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ
ฉะนั้น เพราะความหมุนกลับแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขาแย่งชิง"
หากแต่ละคนในสังคมรักษาศีล
ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ครอบครัวหรือสังคมนั้นย่อมมีความ สงบสุขเรียบร้อย
ไม่เกิดความวุ่นวาย การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างนี้
วัตถุประสงค์ข้อที่
๔ เป็นวัตถุประสงค์สำหรับป้องกันความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น
ในภพชาติเบื้องหน้า เพราะการไม่รักษาศีล ย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ
และหากเกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็จะมีอายุสั้น เป็นผู้ที่ไม่สมประกอบ
ร่างกายพิกลพิการ เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ล้วน นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น
การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อป้องกันความทุกข์ในภพชาติเบื้องหน้าอย่างนี้
วัตถุประสงค์ข้อที่
๕ การรักษาศีล เป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรม คือสมาธิและปัญญา โดย
สมาธิจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยศีลที่บริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน หากไม่มีศีล
สมาธิก็เกิดไม่ได้ เพราะศีลเป็นเครื่อง ช่วยควบคุมกายกับวาจา ในขณะที่สมาธิเป็นเครื่องช่วยควบคุมใจ
ดังนั้น เมื่อกายกับวาจาไม่สงบ ใจก็ยากที่จะสงบได้ เมื่อใจไม่สงบแล้ว
สมาธิก็ยากที่จะเกิด และเมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญารู้แจ้งในเรื่องความจริงของ
ชีวิตก็ย่อมไม่เกิดขึ้นไปด้วย เมื่อไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถกำจัดกิเลสอาสวะเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานได้
เมื่อไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องประสบกับความทุกข์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
อยู่ร่ำไป แต่เมื่อรักษาศีลได้เป็นอย่างดี สมาธิก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้
และเมื่อสมาธิเกิด ปัญญาก็เกิดตามมา เมื่อปัญญาเกิด ก็สามารถจะกำจัดกิเลสอาสวะ
และบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังนั้น การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์อย่างยิ่ง
คือ พระนิพพานอย่างนี้
ประเภทของศีล
ศีลนั้นมีหลายประเภท
ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของผู้รักษาว่ามุ่งหวังอย่างไร จะรักษาเพื่อคงความเป็นปกติของมนุษย์ไว้
หรือรักษาเพื่อมุ่งยกระดับจิตใจให้บริสุทธิ์พ้นจากความเป็นมนุษย์ธรรมดา
หรือจะรักษาเพื่อความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปแล้ว ศีล
มี ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ
ศีล ๕ (เบญจศีล,
นิจศีล, จุลศีล)
เป็นศีลพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง
เพราะการที่เราจะรักษาความเป็นปกติของมนุษย์เอาไว้ได้นั้น จะต้อง รักษาศีล
๕ ไว้ให้มั่นคงเป็นอย่างน้อย ซึ่งศีลประเภทนี้ ฆราวาสผู้ที่ยังครองเรือนมีครอบครัวจะต้องพยายาม
รักษาให้ได้เป็นประจำ
ศีล ๕ ได้แก่
๑.
เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒.
เว้นจากการลักทรัพย์
๓.
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔.
เว้นจากการพูดเท็จ
๕.
เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ศีล ๘ (อุโบสถศีล,
มัชฌิมศีล)
เป็นศีลที่รักษาในวันอุโบสถ
(วันพระ) หรือในโอกาสพิเศษตามแต่ต้องการ เพื่อเป็นการยกจิตใจให้ ประณีตยิ่งขึ้น
ศีล ๘ ได้แก่
๑.
เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒.
เว้นจากการลักทรัพย์
๓.
เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
๔.
เว้นจากการพูดเท็จ
๕.
เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖.
เว้นบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วจนอรุณขึ้นมาใหม่
๗.
เว้นจากการขับร้องประโคมดนตรี ดูการละเล่นต่างๆ อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
ตลอดจนลูบไล้ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม
เครื่องทา
๘.
เว้นจากการนั่ง และนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี
ปาริสุทธิศีล
(มหาศีล)
เป็นศีลสำหรับผู้ที่มุ่งสู่ความบริสุทธิ์
และความสงบสุขของชีวิต เช่นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการเกื้อกูลต่อการทำภูมิจิตให้สูงยิ่งขึ้นไป
มี ๔ ประการ คือ
ปาฏิโมกขสังวรศีล
คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์
(ศีล ๒๒๗ ข้อ) ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วย
ศรัทธา เพราะด้วยเหตุที่ปาฏิโมกข์สังวรศีลนั้น พระภิกษุได้สมาทานไว้ในวันอุปสมบท
ด้วยความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าศีลหรือสิกขาบทเหล่านั้นเป็นสิ่งดีจริง
ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติ สามารถกำจัดทุกข์ไปสู่พระนิพพานได้โดยง่าย ดังนั้น
พระภิกษุทั้งหลายจึงตั้งใจรักษาไว้ด้วยชีวิต สมดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน
ปหาราทสูตร ว่า
"ดูก่อนปหาราทะ
น้ำในมหาสมุทรย่อมเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ แต่ไม่ล้นฝั่งขึ้นมาฉันใด สาวกทั้งหลาย
ของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว
ด้วยเหตุแห่งชีวิต"
อินทรียสังวรศีล
คือการสำรวมในอินทรีย์
๖ อันประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กล่าวคือ ไม่ให้ยินดียินร้าย
ในการเห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส หรือในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ
ด้วยใจ หมายความว่า สำรวมระวังไม่ให้บาปอกุศลครอบงำ ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยสติ
(ความระลึกได้) เพราะสติจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้บาปอกุศลเข้าครอบงำใจ
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน สติสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะ ชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ
เมื่อ หิริและโอตตัปปะ มีอยู่ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยหิริและโอตตัปปะ"
อาชีวปาริสุทธิศีล
คือการเลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
บริสุทธิ์ ไม่หลอกลวงผู้อื่น พระภิกษุที่มีอาชีพบริสุทธิ์ ย่อมแสวงหาปัจจัย
๔ โดยชอบธรรม อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
และเมื่อได้แล้วก็พอใจในปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ โดยศีลข้อนี้จะสำเร็จได้ด้วยวิริยะ
(ความเพียร)
ปัจจัยสันนิสิตศีล
คือการพิจารณาปัจจัย
๔ อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่แท้จริงก่อนที่จะบริโภค
ซึ่งศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วยปัญญา
ปาริสุทธิศีล
ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นคุณธรรมที่จะช่วยประคับประคองชีวิตของบรรพชิตให้มีความ
หมดจดผ่องใส และร่มเย็นเป็นสุขได้ตลอดเวลา
ขอขอบคุณ
. http://main.dou.us/view_content.php?s_id=388&page=8
ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การสมาทานศีล
ศีล ๕ ความหมายลึกกว่าที่คุณคิด
"ศีล๕"..พื้นฐานความเป็นมนุษย์
ศีล ๕ปกติของความเป็นมนุษย์
**************************
|