พุทธประวัติ หรือ ประวัติของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๑/๔
(ประวัติหรือเรื่องราวที่พรรณนาความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
เรียบเรียง และนำเสนอโดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕, วัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ขอทำความเข้าใจเบื้องต้น

              ที่กำลังนำเสนอนี้ เป็นการสรุปอย่างย่อ ๆ จากหนังสือคู่มือเรียน "วิชาพุทธประวัติ" ของ พระภิกษุสามเณรผู้ศึกษานักธรรมชั้นตรี และของนักศึกษาที่เรียนธรรมศึกษาชั้นตรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๔ รายวิชา ที่ศึกษา โดยผู้รวบรวมมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ เพื่อต้องการให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังเรียนในวิชานี้ โดยได้ย่อเนื้อหาวิชา เพื่อทำความเข้าใจก่อนเข้าสอบ และเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปที่มีเวลาน้อย แต่มีความสนใจใคร่ศึกษาเป็นเบื้องต้น และข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ข้าพเจ้ามิไดสงวนลิขสิทธิ์ ผู้ต้องการนำไปเผยแพร่ต่อ ขอเชิญคัดลอกนำไปใช้ได้ตามอัธยาศัย โดยข้าพเจ้าขอให้อย่าได้ตัด ปรับแต่ง เพิ่มข้อความที่อาจจะทำให้เนื้อหาเสียหาย หรือผิดไปจากสาระที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจะกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลด้วย ก็จะเป็นที่ขอบคุณยิ่ง และหากต้องการศึกษาโดยละเอียด ก็ขอให้ติดตามอ่านในหนังสือคู่มือเรียนวิชาพุทธประวัติ เล่ม ๑ , ๒ และ ๓ ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านหนังสือและร้านสังฆภัณฑ์โดยทั่วไป

                          พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
                          ป.ธ.๕,น.ธ.เอก, ศษ.บ.
                          วัดท่าไทร ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐
                          โทร. ๐๘-๑๕๖๙-๐๓๐๙, ๐๘-๖๖๙๐-๕๘๙๒
                          E-mail : songpak16@yahoo.com, makam216@yahoo.com, fm107.25mhz@gmail.com

             

พุทธประวัติ หรือ ประวัติของพระพุทธเจ้า

*******************************

พุทธประวัติ คือ ประวัติหรือเรื่องราวที่พรรณนาความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความสำคัญของพุทธประวัติ

              พุทธประวัตินี้เป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะแสดงพระพุทธจรรยาให้ปรากฏ อย่างเดียวกับตำนานย่อมเป็นสิ่งสำคัญของชาติ คนที่จะได้รู้ว่าชาติได้เป็นมาแล้วอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการเรียนพุทธประวัติ

              การเรียนพุทธประวัตินั้น ก็เพื่อทราบความเป็นมา(ประวัติ)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาที่พวกเรานับถืออยู่ว่า พระองค์มีประเทศชาติ วงศ์สกุลเป็นอย่างไร ? ได้ทรงทำอะไรเป็นแบบอย่าง ? มีพระพุทธจรรยาอย่างไร ? ตลอดถึงเพื่อทราบขนบธรรมเนียม อุปนิสัย และความประพฤติของคนในยุคนั้น เพื่อเกิดความเลื่อมใสและถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ เปรียบเหมือนตำนานหรือประวัติแห่งวีรบุรุษย่อมเป็นสิ่งสำคัญของชาติฉะนั้น ฯ

คติที่ได้จากวิชาพุทธประวัติ

การเรียนพุทธประวัตินี้ ทำให้เราได้คติ ๓ ทาง คือ

              ๑.ทางตำนาน ทำให้สำเร็จผลคือ ให้ทราบเรื่องราวของพระพุทธเจ้าว่าเป็นมาอย่างไร พร้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ที่เราควรรู้
              ๒.ทางอภินิหาร ทำให้สำเร็จผลคือ ได้เห็นวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงกระทำสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ ผู้ที่หนัก(เชื่อ)ในทางอภินิหารก็จะได้ศรัทธา ปสาทะในพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้น
              ๓.ทางธรรม ทำให้สำเร็จผลคือ ได้หยั่งทราบถึงข้อปฏิบัติและเหตผลที่เป็นจริงโดยละเอียด แล้วปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

การศึกษาเรื่องพุทธประวัติจะชื่อว่าศึกษาประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ ?

              การศึกษาเรื่องพุทธประวัตินั้น ชื่อว่าศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าได้ เพราะเป็นเหตุให้ได้ทราบประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า และการศึกษาเรื่องพุทธประวัตินี้ทำให้เราได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก เพระทำให้ทราบหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นในโลกจริง ๆ ไม่ใช่เป็นการกุเรื่องขึ้นมา อันทำให้เราเกิดความเชื่อ ความเลื่อม ใสอย่างสนิทใจโดยไม่ต้องสงสัย

วิภาคหรือส่วนของพุทธประวัติ

พุทธประวัติ แบ่งออกเป็นวิภาคหรือส่วนได้ ๔ วิภาค คือ

              วิภาคที่ ๑ แสดงปุริมกาล และปฐมโพธิกาล
              วิภาคที่ ๒ แสดงมัชฌิมโพธิกาล
              วิภาคที่ ๓ แสดงปัจฉิมโพธิกาลและอปรกาล
              วิภาคที่ ๔ แสดงสังคีติกถา คือ เรื่องพระสาวกทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยตั้งเป็นแบบฉบับนำพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

กาลเวลาของพุทธประวัติ

พุทธประวัติแบ่งเป็นกาลได้ ๕ กาล คือ

              ๑.ปุริมกาล ตั้งแต่ถิ่นกำเนิด ถึง ตรัสรู้
              ๒.ปฐมโพธิกาล ตั้งแต่เริ่มสั่งสอน ถึง ได้สาวกสำคัญ และส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
              ๓.มัชฌิมโพธิกาล ตั้งแต่เริ่มทำพุทธกิจในมคธชนบท ถึง เสด็จโกศลชนบท เป็นต้น
              ๔.ปัจฉิมโพธิกาล ตั้งแต่ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ถึง ปรินิพพาน
              ๕.อปรกาล ตั้งแต่การถวายพระเพลิง ถึง การทำสังคายนาพระธรรมวินัย

คุณสมบัติของพระพุทธเจ้า

              พระพุทธเจ้าทรงสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทั้งปวง มิได้บกพร่องแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งควรยกขึ้นค่อนขอดติเตียน เช่น พระองค์มีพระชาติสูงคือเป็นพระโอรสแห่งกษัตริย์ มีหน้าที่จะได้ทรงครองราชสมบัติแทนพระบิดา มีพระรูปโฉมงดงามถูกต้องตามตำราพยากรณ์ศาสตร์ ทรงสม บูรณ์ด้วยโภคสมบัติ บริวารสมบัติอย่างล้นเหลือ มีพระปรีชาเฉียบแหลมในศิลปวิทยาต่าง ๆ มียุทธวิธีเป็นต้น เพราะได้ทรงศึกษามาด้วยดีจนได้รับยกย่องจากหมู่พระญาติว่าเป็นผู้มีความสา มารถไม่มีราชกุมารอื่นใดทัดเทียมได้ นี้เป็นส่วนในทางโลก, ในส่วนทางธรรม พระองค์ทรงมีพระปัญญารอบรู้ธรรมทั้งปวง ทั้งอย่างหยาบ และอย่างละเอียดโดยสิ้นเชิง ทรงถึงพร้อมด้วยพระบริสุทธิคุณ มีพระขันธสันดานบริสุทธิ์หมดจด เพราะพระองค์ละกิเลสอาสวะทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด และทรงถึงพร้อมด้วยพระกรุณาคุณ คือมีพระหฤทัยประกอบด้วยพระกรุณาคุณ เสด็จไปแสดงธรรมโปรดหมู่ส่ตว์ในที่ต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากและไม่ทรงคำนึงถึงอามิสสำหรับตอบแทนเลย พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระสมบัติดังแสดงมานี้พวกเราชาวพุทธจึงเคารพนับถือพระองค์โดยสนิทใจ ไม่นึกน้อยหน้าพวกศาสนิกอื่น ฯ

หนังสือพุทธประวัติมุ่งแสดงถึงอะไร ?

              หนังสือพุทธประวัติที่ใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรีอย่างหนึ่งในเวลานี้นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมกระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาเพื่อมุ่งถึงตำนานที่มาของเรื่องนั้น ๆ


แผนที่ของชมพูทวีป สมัยพุทธกาล

ปริจเฉทที่ ๑
ชมพูทวีปและประชาชน

 

ชมพูทวีป คือ แผ่นดินที่เรียกกันว่าประเทศอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)ของประเทศไทยของเรานี้

ประชาชน

ในชมพูทวีปนั้นมีประชาชนอยู่ ๒ ชนชาติ คือ

              ๑.ชนชาติมิลักขะ พวกไม่เจริญ,เป็นเจ้าของถิ่นเดิม อาศัยอยู่ก่อน(คนพื้นเมือง)
              ๒.ชนชาติอริยกะ พวกที่เจริญแล้ว, ฉลาดกว่า, เป็นพวกที่ยกพวกข้ามภูเขาหิมาลัย เข้ามารุกไล่เจ้าของถิ่นเดิม (มิลักขะ) จนถอยร่นไปอยู่ปลายแดน แล้วตนเองก็เข้ายึดครองอยู่แทน

เขตหรือจังหวัดในชมพูทวีป

ในชมพูทวีปนั้นแบ่งออกเป็นจังหวัดใหญ่ ๆ ได้ ๒ จังหวัด คือ

              ๑.ร่วมใน เรียกว่า มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ
              ๒.ร่วมนอก เรียกว่า ปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ

อาณาเขตแห่งมัชฌิมชนบทหรือมัธยมประเทศ

              ในครั้งพุทธกาล(เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่) มีปรากฏในบาลีจัมมขันธกะ ในมหาวรรคแห่งพระวินัย มีดังนี้

              ทิศบูรพา (ตะวันออก) จดมหาศาลนคร (ปัจจุบันคือ เมืองเบงกอล)
              ทิศอาคเนย์(ตะวันออกเฉียงใต้) จดแม่น้ำสัลลวตี
              ทิศทักษิณ(ทิศใต้) จดเสตกัณณิกนิคม (ปัจจุบันคือ แคว้นเดกกัน)
              ทิศปัจจิม (ทิศตะวันตก) จดถูนคาม (ปัจจุบันคือ เมืองบอมเบย์)
              ทิศอุดร (ทิศเหนือ) จดภูเขาอุสีรธชะ (ปัจจุบันคือ ประเทศเนปาล) นอกจาก เขตพื้นที่กำหนดนี้ เป็นอาณาเขตแห่งปัจจันตชนบท

ความเจริญของมัชฌิมชนบท

              มัชฌิมชนบทนั้น เป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของนครใหญ่ ๆ เป็นศูนย์กลางการปกครอง และเป็นที่ประชุมเหล่านักปราชญ์ คณาจารย์เจ้าลัทธิต่าง ๆ

อาณาจักรต่าง ๆ ในชมพูทวีป

ในครั้งพุทธกาลชมพูทวีปแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๑ แคว้น หรืออาณาจักร คือ

              ที่จัดเป็นอาณาจักรใหญ่ ๆ ที่ระบุไว้ในบาลีอุโปสถสูตร ในติกนิบาต อังคุตตร นิกาย จัดเป็น ๑ แคว้น คือ อังคะ, มคธะ, กาสี, โกสละ, วัชชี, มัลละ, เจตี, วังสะ, กุรุ, ปัญจาละ, มัจฉะ, สุรเสนะ, อัสสกะ, อวันตี, คันธาระ, กัมโพชะ,
              และอาณาจักรที่ปรากฏชื่อในพระสูตรอื่น ๆ ที่ไม่ซ้ำชื่อกันอีก ๕ แคว้น คือ สักกะ, โกลิยะ, ภัคคะ, วิเทหะ, อังคุตตราปะ,

ผู้ปกครองอาณาจักรนั้น ๆ

              อาณาจักรเหล่านั้น มีพระเจ้าแผ่นดินดำรงยศเป็นมหาราชาบ้าง เป็นแต่เพียงราชาบ้าง อธิบดีบ้าง เป็นผู้ปกครอง โดยทรงอำนาจสิทธิ์ขาดบ้าง โดยสามัคคีธรรมบ้าง บางคราวก็ตั้งตนเป็นอิสระตามลำพัง บางคราวก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรอื่น ตามยุคตามคราว

วรรณะ ๔ จำพวก

ประชาชนชาวชมพูทวีปนั้น แบ่งออกเป็น ๔ จำพวก เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ

              ๑.กษัตริย์ จำพวกเจ้า จัดเป็นพวกชั้นสูง หรือชนชั้นสูง
              ๒.พราหมณ์ จำพวกเล่าเรียน จัดเป็นพวกชั้นสูง หรือชนชั้นสูง
              ๓.แพศย์ จำพวกพลเรือน จัดเป็นพวกสามัญชน
              ๔.ศูทร จำพวกกรรมกร จัดเป็นพวกชนชั้นต่ำ

              กษัตริย์และพราหมณ์ ถือตนเองว่าเป็นคนมีวรรณะสูง จึงรังเกียจพวกที่มีวรรณะต่ำ ไม่ยอมร่วมกิน ร่วมนอน จะสมสู่เป็นสามีภรรยาเฉพาะในวรรณะของตนเท่านั้น

              ถ้าหากหญิงที่เป็นนางกษัตริย์หรือพราหมณีไปแต่งงานกับชายที่เป็นแพศย์หรือศูทร บุตรที่เกิดมาจะถูกเรียกว่า “จัณฑาล” เขาถือว่าเป็นพวกที่เลวทราม กาลกิณี เป็นที่รังเกียจ ดูหมื่น เหยียมหยาม ของคนที่มีชาติสกุล

หน้าที่และการศึกษา

หน้าที่และการศึกษาของวรรณะเหล่านั้น ย่อมเป็นไปตามหน้าที่ของตน คือ
              ๑.กษัตริย์ มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง จึงต้องศึกษาในขนบธรรมเนียม การปกครองบ้านเมือง มีศึกษายุทธวิธี เป็นต้น
              ๒.พาหมณ์ มีหน้าที่สั่งสอนและทำพิธี จึงต้องศึกษาเกี่ยวกับศาสนา พิธีกรรม และวิทยาการต่าง ๆ
              ๓.แพศย์ มีหน้าที่ในการทำนา ค้าขาย จึงต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกสิกรรม และพาณิชยกรรม เป็นต้น
              ๔.ศูทร มีหน้าที่รับจ้างทำการงาน จึงต้องศึกษาเกี่ยวกับการใช้แรงงาน

ทิฏฐิหรือความเห็นของคนในยุคนั้น

              คนในครั้งนั้นเขาสนใจในเรื่องธรรมะมาก จึงเกิดมีเจ้าทิฏฐิมาก ทำให้เกิดการปรารภการตาย การเกิดไปต่าง ๆ นาน แต่พอสรุปลงได้เป็น ๒ อย่าง คือ

              ๑.ถือว่าตายแล้วเกิด และยังแบ่งออกไปอีกเป็น ๒ อย่าง คือ
                            ๑.๑ ตนเกิดเป็นอะไรก็เกิดเป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง
                            ๑.๒ การเกิดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้

              ๒.ถือว่าตายแล้วสูญ และยังมีความเห็นต่างกันออกไปอีกเป็น ๒ อย่าง คือ
                            ๒.๑ ตายแล้วสูญโดยประการทั้งปวง
                            ๒.๒ สูญเพียงบางสิ่งบางอย่าง

ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องความสุขความทุกข์

              คนในยุคนั้นเขามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องความสุขความทุกข์พอสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ

              ๑.สัตว์จะได้รับความสุขความทุกข์ก็ได้เอง ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
              ๒.สัตว์จะได้รับความสุขความทุกข์ เพราะมีเหตุมีปัจจัย

              สำหรับพวกทีถือว่า “สัตว์จะได้รับความสุขความทุกข์ เพราะมีเหตุมีปัจจัย” นั้น พวกเขายังมีความเห็นต่างกันออกไปเป็น ๒ ประการ คือ
              ๑.เห็นว่าสุขทุกข์มีมาเพราะเหตุภายนอก มีเทวดา เป็นต้น
              ๒.เห็นว่าสุขทุกข์มีมาเพราะเหตุภายในคือตัวกรรม

ศาสนาของคนในยุคนั้น

              คนในสมัยนั้นทั้ง ๔ วรรณะ ก่อนแต่ที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น ก็ได้นับถือศาสนาพราหมณ์ ถือว่าโลกธาตุทั้งปวงมีเทวดาสร้าง จึงพากันเซ่นสรวง บวงสรวงด้วยการบูชายัญและประพฤติตบะต่าง ๆ

 

ปริจเฉทที่ ๒ สักกชนบท และศากยวงศ์ โกลิยวงศ์

              สักกชนบท ตั้งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ ณ ประเทศหิมพานต์ ในดงไม้สักกะหรือสากะ จึงได้ชื่อว่า “สักกชนบท” มีตำนานเล่าว่า “พระเจ้าโอกกากราช มีพระราชบุตร ๔ พระองค์ และพระราชธิดา ๕ พระองค์ ต่อมามเหสีทิวงคต จึงมีมเหสีใหม่ มีพระราชโอรส ๑ พระองค์ พระองค์ทรงโปรดปรานมาก จึงพลั้งพระโอฐให้พรแก่มเหสี พระนางก็ตรัสขอราชสมบัติให้แก่พระโอรส พระองค์จึงตรัสให้พระราชบุตรและพระราชธิดาไปสร้างพระนครอยู่ในที่แห่งใหม่ พระราชบุตรและพระราชธิดาทั้ง ๙ พระองค์จึงยกพลเสนาออกจากพระนครไปสร้างพระนครอยู่ใหม่ในกลางดงไม้สักกะ ประเทศหิมพานต์

              กบิลพัสดุ์ พระนครที่สร้างขึ้นใหม่นั้นมีชื่อว่า “กบัลพัสดุ์” เพราะสาเหตุ ๒ ประการ คือ

              ๑.เพราะนครนี้สร้างในสถานที่อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส
              ๒.เพราะนครนี้สร้างขึ้นตามคำแนะนำของกบิลดาบส

              มีเรื่องเล่าว่า “เมื่อพระราชบุตรและพระราชธิดาทั้ง ๙ ไปพบกบิลดาบส เล่าถึงความประสงค์ของตน กบิลดาบสจึงแนะนำให้วร้างพระนครขึ้นตรงสถานที่อยู่ของตน โดย กล่าวว่า สถานที่นี้เป็นมงคลสถาน (สถานที่อันเป็นมงคล) พระนครนี้จะมีชื่อเสียงต่อไปในภายภาคหน้า”

              ศากยวงศ์ พระราชบุตรและพระราชธิดาเหล่านั้นได้อภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่น้อง เว้นแต่พระเชฏฐภคินี (พี่สาวใหญ่) ซึ่งยกไว้ในฐานะพระราชมารดา แล้วตั้งวงศ์กษัตริย์ขึ้นได้ชื่อว่า “ศากยวงศ์” เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ

              ๑.เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ตั้งอยู่ใน สักกชนบท
              ๒.เพราะกษัตริย์วงศ์นี้สมสู่กันเองระหว่างพี่น้อง ที่เรียกว่า “สกสังวาส”
              ๓.เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ ทรงถือเอาพระราชดำรัสของพระราชบิดาที่ออกพระโอฐชมว่า “สักกา เป็นผู้อาจหาญ มีความสามารถ”
              เนื่องด้วย ต่อมาพระเจ้าโอกกากราช ตรัสถามถึงพระราชบุตรและพระราชธิดาของพระองค์ อำมาตย์จึง ได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ จึงมทรงออกพระโอฐชมเช่นนั้น

              โกลิยวงศ์ ส่วนพระเชษฐภคินี (พี่สาวใหญ่) ต่อมาภายหลังมีจิตปฏิพัทธ์(รักใคร่กัน) กับพระเจ้ากรุงเทวทหะ และได้อภิเษกสมรสกัน แล้วตั้งวงศ์กษัตริย์ “โกลิยวงศ์” สืบต่อมา เหตุที่ได้ชื่อเช่นนั้นก็เพราะสาเหตุ ๒ ประการ คือ

              ๑.เพราะพระนครนั้นตั้งอยู่ใน ป่าไม้โกละ (กระเบา)
              ๒.เพราะผลไม้โกละ เป็นเหตุให้ทั้ง 2 ได้ครองรักกันและอภิเษกสมรสต่อมา.

การปกครอง

การปกครองในกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะนั้น ท่านกล่าวไว้ไม่ชัด แต่สันนิษฐานว่า คงจะปกครองโดยสามัคคีธรรม เหมือนแคว้นวัชชีและแคว้นมัลละ.

พระโคตรของศากยวงศ์

พวกศากยวงค์นั้น มีโคตรเรียกว่า “โคตมะ” แต่ในบรรพชาสูตร แห่งสุตตนิบาตว่าเป็น “อาทิตยโคตร” ซึ่งเพ่ง ความว่า เป็นเชื้อสายแห่งพระอาทิตย์ ทั้ง 2 ชื่อนี้ตามสันนิษฐานว่า คงจะเป็นอันเดียวกัน.

ลำดับวงศ์

ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์สืบเชื้อสายต่อกันมาโดยลำดับเท่าที่ปรากฎอยู่มีดังนี้.-

ศากยวงศ์

โกลิยวงศ์

-พระเจ้าชยเสนะ มีพระราชบุตร - บุตรี รวม 2 พระองศ์ ได้แก่

  1. พระเจ้าสีหหนุ
  2. พระนางยโสธรา

-ไม่ปรากฏพระนาม
--พระเจ้าในโกลิยวงศ์ (ไม่ปราฏพระนาม)มีพระราช-บุตร - บุตรี 2 พระองค์ ได้แก่-
              1.พระเจ้าอัญชนะ
              2.พระนากัญจนา

พระเจ้าสีหหนุ กับ พระนางกัญจนา มีพระราช-บุตร - พระราชบุตรี รวม 7 พระองค์ ได้แก่

              1.พระเจ้าสุทโธทนะ 2.เจ้าชายสุกโกทนะ
              3.เจ้าชายอมิโตทนะ 4.เจ้าชายโธโตทนะ
              5.เจ้าชายฆนิโตทนะ 6.เจ้าหญิงงปมิตา
              7.เจ้าหญิงอมินา

พระเจ้าอัญชนะ กับพระนางยโสธรา มีพระราชบุตร-บุตรี รวม 4 พระองศ์ ได้แก่

              1.พระเจ้าสุปปพุทธนะ
              2.เจ้าชายทัณฑปาณิ
              3.พระนางมายาเทวี สิริมหามายา)
              4.พระนางปชาบดี หรือ โคตมี

1.พระเจ้าสุทโธทนะ มีพระราชบุตร-บุตรีรวม 3 พระองศ์ คือ.-

-ประสูติจากพระนางมายาเทวี 1 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร
-ประสูติจากพระนางปชาบดีอีก 2 พระองค์ ได้แก่
1.เจ้าชายนันทะ 2.พระนางรูปนันทา

2.สุกโกทนะ กับ พระนางกีสาโคตมี มีพระราชโอรส 1 พระองค์ คือ “อานนท์

3.อมิโตทนะมีพระราชบุตร - บุตรี 3 พระองค์ ได้แก่

1.เจ้าชายมหานามะ 2.เจ้าชายอนุรุทธะ 3.พระนางโรหินี

พระเจ้าสุปปพุทธะ กับ พระนางอมิตา มี พระราช-บุตร-บุตรี รวม 2 พระองค์ คือ.-

1.เจ้าชายเทวทัต

2.พระนางยโสธรา หรือ พิมพา

1.เจ้าชายสิทะตถะ กับ พระนางยโสธรา มี พระโอรส 1 พระองค์คือ “ราหุลกุมาร”

2.เจ้าชายมหานามะ กับ นางทาสี มีพระธิดา 1 พระองค์คือ พระนางวาสภขัตติยา

 

พระนางวาสภขัตติยา ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้พระโอรส 1 พระองค์ ชื่อ เจ้าชายวิทูฆภะ

 

 

ปริจเฉทที่ ๓ พระศาสดาประสูติ
ปฏิสนธิ

              สุทโธทนกุมาร ได้อภิเษกสมรสกับ พระนางมายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ กับ พระนางยโสธรา ฝ่ายโกลิยวงศ์ เมื่อพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้ว ได้สืบราชสมบัติแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ต่อมาไม่นานนัก พระโพธิสัตว์ได้จุติจากดุสิตเทวโลกมาถือปฏิสนธิ (เกิด) ในพระครรภ์พระมารดา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง คืนวันเพ็ญ เดือน ๘ (วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปี ระกา) ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี บังเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งคืนนั้นพระนางมายาเทวี ทรงสุบิน(ฝัน) ว่า “ได้มีพญาช้างเผือกชูดอกบัวขาวเข้าสู่พระครรภ์ของพระนาง”


ประตูเข้าโบราณสถาณ "พระราชวังกบิลพัสดุ์" ประเทศเนปาล (ประตูทิศตะวันตก)
ถ่ายเมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๗.๓๒ น.

พระโพธิสัตว์ประสูติ

              ในวันเพ็ญ เดือน ๖ (วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปี จอ) ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี, เวลาเช้าวันนั้น พระนางสิริมหามายา เสด็จประพาสพระราชอุทยาน “ลุมพินีวัน” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน ขณะประพาสอยู่นั้นก็เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ติดตามเสด็จจึงได้จัดแจงที่ประสูติถวายที่ “ใต้ร่มไม้สาละ” เท่าที่จะจัดได้ พระนางได้ประสูติพระราชโอรสในที่นั้นนั่นเอง ในเวลาสายใกล้เที่ยง

              แต่อาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า น่าจะเป็นความประสงค์ของพระนาง ที่จะกลับไปประสูติพระโอรส ที่สกุลเดิมของพระนางเองตามธรรมเนียมของพราหมณ์ มากกว่าที่จะไปประพาสพระราชอุทยาน แต่เกิดประชวรพระครรภ์เสียก่อน จึงได้ประสูติในที่นั้น ขณะประสูตินั้นพระนางเสด็จไปได้ ๗ ก้าวแล้วเปล่งกล่าว “อาสภิวาจา” อันเป็นบุพพนิมิตแห่งโพธิญาณ


กลางภาพ "เสาหินพระเจ้าอโศก (ASOKE PILLAR)" สูง ๑๔ ฟุต วัดรอบได้ ๗ ฟุต ๓ นิ้ว ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้เพื่อแสดงว่า สถานที่ตรงนี้เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์
ด้านข้างเป็นวิหารพระนางสิริมหามายาเทวี
ภายในมีรูปภาพ "ศิลาแกะสลักพระนางสิริมหามายากำลังประสูติ"

(ภายในวิหารสีขาวชื่อ วิหารพระนางสิริมหามายาเทวี ภายในบรรจุ ภาพแกะสลักหินภาพพระนางมายาเทวีกำลังยืนเหนียวกิ่งต้นสาละประสูติพระโอรส( เจ้าชายสิทธัตถะ)

(ภายในวิหารสีขาวชื่อ วิหารพระนางสิริมหามายาเทวี ภายในบรรจุ ศิลา "รอยพระพุทธบาท เมื่อทรงเหยียบแผ่นดินครั้งแรก"


(ภายในวิหารสีขาวชื่อ วิหารพระนางสิริมหามายาเทวี ภายในปรากฏซากก้อนอิฐ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดมาก่อน)
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๘ ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๘


ในภาพ พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) กำลังไหว้พระเจดีย์ ภายในวิหารพระนางมายาเทวี
ภาพในปัจจุบัน ภายในเจดีย์ สถานที่ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ต.มินเด อ.รูปันเดฮิ จ.ลุมพินี ประเทศเนปาล
สถานที่ประสูตินี้ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาลประมาณ ๓๒ กิโลเมตร
ถ่ายเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๘ เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น
ถ่ายเมื่อครั้ง พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)ไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๘


พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล มีนาคม ๒๕๕๕


พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พฤศจิกายน ๒๕๕๓

ทำนายพระลักษณะ

              หลังจากประสูติแล้วได้ ๓ วัน อสิตดาบส กรือ กาฬเทวิลดาบส ผู้คุ้นเคยกับราช สกุลทราบข่าว จึงได้เข้าไปเยี่ยมชมพระบารมี เมื่อเห็นพระโพธิสัตว์มีลักษณะถูกต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ จึงทำนายว่า “พระกุมารจะมีคติเป็น ๒ อย่าง คือ
              ๑.ถ้าอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
              ๒.ถ้าออกบวช จะได้เป็นศาสดาเอกในโลก

แล้วเกิดความนับถือพระกุมาร จึงก้มลงกราบที่พระบาททั้งคู่ แล้วถวายพระพรลากลับ

ขนานพระนาม

              หลังจากประสูติแล้วได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ โปรดให้ประชุมพระญาติวงศ์และเสนาอำมาตย์พร้อมกัน และได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาฉันโภชนาหาร แล้วให้พราหมณ์ ๘ คน ทำนายพระลักษณะ ทำมงคลรับพระลักษณะ และขานพระนามว่า ”สิทธัตถกุมาร” แปลว่า ผู้มีความต้องการอันสำเร็จ, แต่มหาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ตามพระโคตรว่า “โคตมะ”

พระมารดาทิวงคต

              หลังจากประสูติแล้วได้ ๗ วัน พระมารดาคือ พระนางสิริมหามายา ก็ทิวงคต (ตาย) ต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาจึงมอบพระโพธิสัตว์ให้อยู่ในความดูแลของ พระนางปชาบดี (โคตมี) ซึ่งมีศักดิ์เป็น “พระน้านาง” ของพระกุมาร

ศึกษาศิลปวิทยา

              เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาได้ให้คนขุดสระภายในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ, สระที่ ๑ ปลูกอุบล บัวขาบ, สระที่ ๒ ปลูกปทุม บัวหลวง, สระที่ ๓ ปลูกบุณฑริก บัวขาว, และเมื่อเห็นว่าควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้วจึงทรงพาไปมอบไว้ให้ศึกษาในสำนั“ "ครูวิศวามิตร” และพระกุมารเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนได้รวดเร็วจนหมดความรู้ของอาจารย์ในเวลาต่อมา จนมีชื่อเสียงปรากฏทั่วไปในหมู่พระญาติ

อภิเษกสมรส

              เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาพิจารณาเห็นสมควรที่จะให้มีชายาได้แล้ว จึงสั่งให้คนสร้างปราสาทขึ้น ๓ หลังสำหรับให้เป็นที่อยู่ของพระกุมารใน ๓ ฤดู แล้วตรัสสู่ขอพระนางยโสธรา (พิมพา) พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กับ พระนางอมิตา แห่งโกลิยวงศ์มาอภิเษกให้เป็นมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถกุมาร จนกระทั่งพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระมเหสีของเจ้าขายสิทธัตถะจึงประสูติพระโอรส ๑ พระองค์พระนามว่า “ราหุล แปลว่า บ่วง”

 

ปริจเฉทที่ ๔ เสด็จออกบรรพชา

              ในปีที่พระโพธิสัตว์มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษานั่นเอง พระองค์ได้เสด็จออก บรรพชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน อาสาฬหะ) โดยมูลเหตุที่เสด็จออกบรรพชานั้น พระ อาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์มีความเห็นเป็น ๒ นัย คือ

              .พระอาจารย์ผู้รจนาอรรถกถา แสดงความตามมหาปทานสูตรว่า “พระองค์ไปประ พาสอุทยานได้เห็น “เทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ” อันเทวดาเนรมิตไว้ในระ หว่างทาง ทรงสังเวชสลดพระทัยเพราะเห็นเทวทูต ๓ อย่างข้างต้น, และทรงพอพระทัยในการบรรพชาเพราะได้เห็นสมณะ ซึ่งเป็นเทวทูตอย่างที่ ๔, ในวันที่พระราหุล กุมารประสูตินั่นเอง

              ๒.พระอาจารย์ผู้รจนาบาลีมัชฌิมนิกาย แสดงไว้ในปาสราสิสูตร (โอปัมมวัคค์ พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่มที่ ๑๒ ข้อ ๓๑๗ หน้า ๒๒๒) มัชฌิมนิกายแสดงว่า “ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่มีอยู่ทั่วทุกตัวคน ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แม้เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุทีไม่ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านผู้รู้, เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ และตาย ย่อม เบื่อหน่าย เกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค, ทั้งชีวิตมีแต่ขวนขวายหาสิ่ที่ไม่มีสาระ ไม่คิดหาอุบายเครื่องหลุดพ้นกันบ้างเลย ถึงพระองค์เองก็ทรงเป็นอย่างนั้นบ้าง เมื่อรู้และเห็นอย่างนี้แล้ว ควรจะแสวงหาอุบายเครื่องหลุดพ้น” ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการและความเพลิดเพลินในกามสมบัติ เสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า “ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมีของแก้กัน เช่น มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนี้กระมัง ? ก็แต่ว่า การจะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้นเป็นการยากยิ่ง ยังอยู่ในฆราวาสนี้เห็นจะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำให้ใจเศร้าหมอง, ส่วนการบรรพชาเป็นช่องว่างพอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้” เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้วก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ


ประตูด้านทิศตะวันออก ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จ
ออกจากพระราชวังกบิลพัสดุ์
เพื่อบรรพชา
เมื่อวันเพ็ญเดือน ๘ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือเดือน อาสาฬหะ)
ถ่ายเมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๗.๐๓ น.

เวลาเสด็จออกบรรพชา

เวลาในการเสด็จออกบรรพชาของพระมหาบุรุษนั้น ท่านแสดงไว้ ๒ นัย คือ

              ๑.พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า“เสด็จหนีออกในเวลากลางคืน” ทรงม้ากัณฐกะ โดยมีนายฉันนะตามเสด็จ ครั้นถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสสั่งให้นายฉันนะนำม้าและเครื่องทรง กลับ ส่วนพระองค์ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ แล้วอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต (นักบวช) ที่ ฝั่งแม่น้ำอโนมา นั่นเอง

              ๒.พระอาจารย์ผู้รจนาบาลีมัชฌิมนิกาย แสดงว่า “เสด็จออกซึ่งหน้า” ในเวลาที่พระองค์ยังหนุ่มพระเกศา (ผม) ยังดำสนิทดีอยู่ พระมารดาและพระบิดาทรงรักใคร่มาก ไม่อยากจะให้เสด็จออกบรรพชา มีพระพักตร์อันอาบด้วยน้ำพระเนตรทรงเศร้าโศกกรรแสงอยู่ พระองค์ทรงปลง พระเกศาอันดำสนิทและพระมัสสุ(หนวด)นั้นเสีย แล้วทรงครอผ้ากาสายะ อธิษฐานเพศบรรพชิตในที่นั้น

              แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นของอาจารย์ทั้ง ๒ นั้นก็ลงรอยเป็นอันเดียวกันว่า พระมหาบุรุษทรงบรรพชาเพราะปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย และเสด็จออกบรรพชาจากศากยสกุลเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ในวันเพ็ญเดือน ๘ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือเดือน อาสาฬหะ)

บริขารในการบรรพชา

              สำหรับผ้ากาสายะและบาตรนั้น พระอรรถกถาจารย์แสดงว่า “ฆฏิการพรหม เป็นผู้นำมาถวาย, ส่วนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงสันนิษฐานว่า “น่าจะทรงได้ในสำนักของบรรพชิตผู้ได้สมาบัติ เพราะสมาบัติเป็นเหตุแห่งการเกิดเป็นพรหม หรือคงเนื่องด้วยการตระเตรียม”

ปริจเฉทที่ ๕ ทรงตรัสรู้
ให้ปฏิญญา

              หลังจากบรรพชาแล้ว พระองค์ทรงเสด็จไปประทับแรมอยู่ที่ อนุปิยนิคม แขวงมคธชนบท สิ้น ๗ วัน ต่อมาจากนั้นได้เสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ แขวงมคธชนบท เพื่อแสวงหาอาจารย์ผู้ที่มีความรู้ดี ซึ่งมีอยู่มากมายในครั้งนั้น และขณะเมื่อเสด็จผ่านกรุงราชคฤห์ ได้พบ “พระเจ้าพิมพิสาร” พระเจ้าแผ่นดินมคธ (ครั้งยังเป็นพระราชกุมาร) ที่ บัณฑวบรรพต ได้สนทนากันแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ตรัสชวนให้อยู่ด้วยกันจะพระราชทานราชสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง พระองค์ไม่ทรงรับและแสดงพระประสงค์ว่า “มุ่งจะแสวงหาสัมมาสัมโพธิญาณ” พระเจ้าพิมพิสารอนุโมทนาแล้วจึงขอปฏิญญาว่า “ถ้าตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรดบ้าง” พระองค์ทรงรับโดยดุษฎี(นิ่งรับคำ)

ศึกษาลัทธิของ ๒ ดาบส

พระองค์ได้ไปศึกษาความรู้ในลัทธิของ ๒ อาจารย์ ได้ความรู้ดังนี้

              ๑.สำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ สมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔,และ อรูปฌาน ๓
              ๒.สำนักของ อุทกดาบส รามบุตร ได้สมาบัติที่ ๘ คือ อรูปฌานที่ ๔ ซึ่งนับรวมเป็นสมาบัติ ๘ พอดี

              เมื่อพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงเสด็จออกจากสำนักของอาจารย์ (ดาบส)ทั้ง ๒ ทรงเสด็จจาริกไปถึง ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงพิจารณาเห็นว่า “เป็นที่ราบรื่น แนว ป่าเขียวชะอุ่ม มีน้ำใสสะอาด เป็นที่น่ารื่นรมย์เบิกบานใจดี อีกทั้งหมู่บ้านก็ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก พอที่จะเที่ยวบิณฑบาตโดยสะดวก” จึงดำริว่า “ที่นั้นควรเป็นที่ตั้งแห่งความเพียรของกุลบุตรผู้มีความต้อง การจะกระทำความเพียรได้” จึงประทับอยู่ที่นั้น

สภาพสะพานข้ามแม่น้ำเนรัญชราในฤดูแล้ง เพื่อข้ามไปฝั่งที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
ถ่ายเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ถ่ายเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙


พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
สภาพแม่น้ำเนรัญชราในฤดูแล้ง ด้านหลังเป็นฝั่งที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ถ่ายเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙
ถ่ายภาพเมื่อครั้งไปทัศนศึกษา ประเทศอินเดีย-เนปาล พ.ศ. ๒๕๔๙

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

              พระองค์ทรงทดลองบำเพ็ญทุกกรกิริยา คือ การทรมานพระกายให้ลำบากซึ่งยากที่จะกระ ทำได้ ที่หมู่ชนยกย่องกันว่าเป็นการบำเพ็ญเพียรอย่างยอดเยี่ยม โดยทรงบำเพ็ญเพียร ๓ วาระ คือ

              ๑.ทรงกัดฟันกับ กดลิ้นกับเพดานปากไว้จนแน่น จนเหฟงื่อไหลออกจากรักแร้
              ๒.ทรงผ่อนและกบั้นลมหายใจเข้าออก
              ๓.ทรงอดอาหาร ผ่อนเสวยวันละน้อยบ้าง เสวยแต่อาหารที่ละเอียดบ้าง จนพระกายซูบผอมมาก จนกระดูกปรากฏทั่วกาย ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า

              ทั้ง ๓ วาระนี้ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ท้อพระทัย แต่ก็ไม่สามมาถตรัสรู้ธรรมได้เลย เพราะทุกกรกิริยานี้ ไม่ใช่แนวทางแห่งการตรัสรู้

"ภูเขาดงคสิริ" สถานที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา เป็นเวลา ๖ ปี
มองระยะไกลจากซากโบราณสถาณ บ้านนางสุชาดา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ถ่ายเมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๐๑ น.


หน้าถ้ำ ที่ ภูเขาดงคสิริ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา เป็นเวลา ๖ ปี
ถ่ายเมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๔๓ น.

โปรดติดตามอ่านตอนที่ ๒/๔ต่อไป <<อ่าน>>

ตอนที่ ๑ | ตอนที่ ๒ | ตอนที่ ๓ | ตอนที่ ๔


กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร