วันขึ้นปีใหม่
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี

Image               เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไปครบ ๑ ปี เราได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ขอให้ลองมองย้อนหลังกลับไปคิดดูว่า วันเวลาที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือเปล่า และได้กระทำคุณงามความดีอันใดไว้บ้าง ควรหาโอกาสกระทำให้ยิ่งขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันเราได้กระทำความผิดหรือสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องไว้หรือไม่ หากมีต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

ความหมายของ วันขึ้นปีใหม่

               วันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “ปี” ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว ๓๖๕ วัน : เวลา ๑๒ เดือนตามสุริยคติ

               วันขึ้นปีใหม่ คือวันแรกของปี มักจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และนับเป็นวันสำคัญของปี ปัจจุบันกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่สากล ตามปฏิทินเกรกอเรียน และถือเป็นวันหยุดต่อมาจากวันสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ในแต่ละชาติที่ใช้ปฏิทินแบบอื่น ก็จะมีวันขึ้นปีใหม่ที่แตกต่างกันไป เช่น วันตรุษจีน วันสงกรานต์ เป็นต้น

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่
          
    ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว ๔ ครั้งคือ
               ครั้งที่ ๑ ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม
               ครั้งที่ ๒ กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน ๒ ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก

               ต่อมาได้ถือเอาทาง สุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบท ยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๗ ขึ้นใน กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

               ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายน มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม .-
               ๑.ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
               ๒.เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
               ๓.ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
               ๔.เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ถึงวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี

               ๑. เพื่อเป็นการฉลองชีวิตของคนที่อยู่รอดปลอดภัยในระหว่างปีที่ผ่านมาเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ ด้วยการทำความดีและทำบุญทำทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล และความเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิตในปีใหม่นั้น ๆ ต่อไป
               ๒. เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จแห่งกิจการงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยและผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้อย่างปลอดภัย รวมทั้ง การสร้างบุญกุศลอันเป็นทุนสำรองไว้สำหรับการดำเนินชีวิตและกิจการงานในปีใหม่ต่อไป
               ๓. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล อันเป็นส่วนแห่งความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษของตนตามหน้าที่ของคนไทยที่พึงสนองคุณแก่บุพการี
               ๔. เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงาม

วัดท่าไทร จัดให้มีพิธีเค้าท์ดาวน์นับถอยหลัง ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เป็นประจำทุกปี

               วัดท่าไทร ร่วมกับประชาชนพุทธบริษัท จัดให้มีพิธีเค้าท์ดาวน์นับถอยหลัง ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เป็นประจำทุกปี ในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี โดยเริ่มพิธีตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ น. เป็นต้นไป จนกระทั่งเสร็จพิธี(ประมาณ ๐๐.๓๐ น. ของวันที่ ๑ มกราคม) เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามวิถีพุทธของไทย ร่วมเจริญจิตภาวนาฝึกอบรมจิตใจ เสริมสร้างบารมีธรรม เพิ่มสิริมงคล เสริมดวงชะตาให้แก่ชีวิต รับพร รับสิริมงคล และรับน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ โดยมี พระเดชพระคุณ พระเทพพิพัฒนาภรณ์ (พระมหาชูชาติ) เจ้าอาวาสวัดท่าไทร และเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานสงฆ์ ณ ศาลาการเปรียญวัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

               วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น.เป็นต้นไป เริ่มประกอบพิธีทำบุญตักบาตรต้อนรับปีใหม่ (ตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง) ณ บริเวณวัดท่าไทร เพื่อเสริมสร้างบารมีธรรม เพิ่มสิริมงคล และเสริมดวงชะตาให้แก่ชีวิต เนื่องในวันปีใหม่ เริ่มปีใหม่ด้วยบุญกุศลหนุนนำส่งให้ชีวิตมีความสุข สดชื่น สมหวัง ประสบแต่สิ่งอันพึงปรารถนา และเจริญรุ่งเรืองตลอดปี และตลอดไป โดยมีประชาชนพุทธบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมากมายทุกปี

Imageกิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่

               ๑.ทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปรวมทำบุญ
               ๒.ลงนามถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ผู้ไปลงนามจะได้รับปฏิทินหลวงเป็นที่ระลึก
               ๓.กราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ ส่ง ส.ค.ส. หรือการส่งการ์ดอวยพร และแจกจ่ายปฏิทินสำหรับปีใหม่เป็นของกำนัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้วันปีใหม่มักมีการส่งบัตร ส.ค.ส.
               ๔.จัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ

               วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนิน ชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ มีกิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟู และส่งเสริมให้มีการถือปฏิบัติและสืบทอดต่อไป ได้แก่

               ๑. การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย อาคารสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ทำงาน รวมทั้งเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ เพื่อต้อนรับปีใหม่
               ๒. การทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์ ถือศีลและปฏิบัติธรรม
               ๓. การปล่อยนกปล่อยปลา
               ๔. การเยี่ยมเยียน บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่เพื่อขอพร และรับพร
               ๕. การมอบของขวัญและอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อให้มีความสุขความเจริญในการดำเนินชีวิต
               ๖. การจัดกิจกรรมอื่น ๆ ตามประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
               เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญๆ

               ครั้นถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ไปวัดเพื่อประกอบกิจกุศลต่างๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฏิบัติธรรม แต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงเป็นที่ครื้นเครงสนุกสนาน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

               วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขวัญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้าน หรือจัดมหรสพมาฉลอง

แนวทางที่ควรทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงแห่งประเพณีวัฒนธรรมไทย

               ๑. การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่า และความสำคัญของประเพณีวันขึ้นปีใหม่ โดยการดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง ได้แก่
                   - การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน
                   - การใช้สื่อทุกประเภทร่วมรณรงค์ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์
                   - การส่งเสริมการเรียนรู้ประเพณีท้องถิ่น โดนกำหนดไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน
               ๒. จัดให้มีการสาธิตรูปแบบของกิจกรรมการปฏิบัติที่เหมาะสมตามประเพณี เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างอย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง แล้วเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
               ๓. กำหนดเขตบริเวณและเวลาที่อนุญาตให้มีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟหรือประทัดที่ชัดเจน

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

               สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
               ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
               ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
               โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
               ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
               ให้ รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
               ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
               ให้สิ้นทุกข์ สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่ เทอญ

เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่

               เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕

ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติม.-
              มติมหาเถรสมาคม สนับสนุนโครงการสวดมนต์ปีใหม่ สุขใจได้บุญ
       
      สวดมนต์ปีใหม่สุขใจได้บุญ
              ประเพณีทำบุญปีใหม่
              ต้อนรับปีใหม่ด้วยวิถีพุทธ
              สวดมนต์ปีใหม่


ขอขอบคุณ.ภาพประกอบจาก.... ฅนไทยดอทคอม และ http://www.cordialcard.com/Front-News/2009-10-29-06-34-05.html