เหตุการณ์ในอดีตประจำเดือน พฤศจิกายน
รวมเรื่องราวที่เกิดในอดีตทุกเดือนเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษา ค้นคว้า
โดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี

เกร็ดน่ารู้ในเดือน พฤศจิกายน.-

- แม่แบบ:ปฏิทินพฤศจิกายน๒๕๕๒ พฤศจิกายน เป็นเดือนที่ ๑๑ ของปี ตามปฏิทินเกรกอเรียน และเป็นหนึ่งในเดือน ๔ เดือนที่มี ๓๐ วัน

- ตามหลักโหราศาสตร์ เดือนพฤศจิกายนเริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีพิจิก และสิ้นสุดเมื่อยกเข้าสู่ราศีธนู แต่ในทางดาราศาสตร์ ต้นเดือนพฤศจิกายนดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวตาชั่ง ผ่านกลุ่มดาวแมงป่องระหว่างวันที่ ๒๔-๒๙ พฤศจิกายน โดยประมาณ และไปอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงูในปลายเดือน

- เดือนพฤศจิกายนในภาษาอังกฤษ November มาจากภาษาละติน novem เนื่องจากเป็นเดือนที่ ๙ ในปฏิทินโรมันดั้งเดิมที่เริ่มต้นปีในเดือนมีนาคม. ประเทศไทยเริ่มใช้ชื่อเดือนพฤศจิกายนในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้ราศีกำหนดชื่อเดือน

- ในปีเดียวกัน วันในสัปดาห์ ของวันแรกในเดือนพฤศจิกายน ตรงกับเดือนมีนาคมเสมอ และตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ยกเว้นปีอธิกสุรทิน

- ดอกไม้ประจำเดือนพฤศจิกายน คือ ดอกเบญจมาศ

- อัญมณีประจำเดือนเกิดของเดือนพฤศจิกายน คือ บุษราคัม

- วันลอยกระทง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒)

๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริต ขึ้นที่ปากคลองสาน เป็นโรงพยาบาลเพื่อผู้ป่วยทางจิตแห่งแรกของประเทศไทย รับผู้ป่วยไว้รักษาครั้งแรก ๓๐ คน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ วันเริ่มดำเนินการ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๒

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดย นายสุเมธ ตันติเวชกุล

ความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารของชาวไร่ชาวนาหรือธนาคารเกษตร ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของชาวนา ทั้งนี้ก็เพราะว่าเกษตรกรในระยะนั้นมีฐานะยากจนมาก ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับใช้สอยระหว่างฤดูเพาะปลูก จึงต้องกู้ยืมเงินจากเอกชนซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก บางครั้งต้องขายผลิตผลให้แก่ผู้ให้กู้เงินโดยผู้ให้กู้เงินเป็นผู้กำหนดราคา ซื้อตามใจชอบ เกษตรกรจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก และมีหนี้สินพอกพูนตลอดเวลา

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งในการจัดตั้งธนาคารเกษตรขึ้นในสมัยนั้น ก็เพื่อที่จะประคองฐานะของชาวนาไม่ให้ทรุดโทรมลงเมื่อประสบภัยธรรมชาติทั้ง นี้ก็เพราะว่าเกษตรกรมักจะประสบภัยทางธรรมชาติติดต่อกันจนยากที่จะฟื้นตัว ดังเช่นใน พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศแต่ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ เกษตรกรกลับต้องผจญกับภาวะฝนแล้ง เป็นต้นแต่ในที่สุด ธนาคารเกษตรในระยะนั้นก็ไม่อาจตั้งขึ้นได้ เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับหลักประกันเงินกู้และปัญหาในการควบคุมมิ ให้ราษฎรละทิ้งนาและหลบหนีหนี้สิน ซึ่งเป็นการยากที่จะควบคุม และระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายได้ ความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารเกษตร โดยมุ่งหมายให้ชาวนาได้กู้ยืมเงินในครั้งนั้นจึงต้องเลิกล้มไป

ต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙ คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้จังหวัดพิษณุโลก มีการให้กู้เงินแก่สมาชิกโดยทั่วไป เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกก็ได้อาศัยเงินทุนจากสหกรณ์เพื่อนำไปใช้ลงทุนประกอบ อาชีพทางการเกษตรของตน แต่ก็เป็นที่พึ่งได้ไม่มากนัก เพราะตัวสหกรณ์เองก็มีปัญหาในด้านการเงินต้อง ขอกู้จากที่อื่นๆ มาดำเนินงานเช่นกัน โดยในระยะเริ่มแรกขอกู้เงินจากธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มาก รัฐบาลต้องขออนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินประจำปีให้เป็นทุนของสหกรณ์ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลต้องใช้วิธีอนุมัติให้ธนาคารชาติไทยจัดการจำหน่ายพันธบัตรเงินกู้ เพื่อหาทุนให้กับสหกรณ์

ในที่สุดจึงได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้น ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการสหกรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยเริ่มดำเนินงานในพ.ศ. ๒๔๙๐ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางทางการเงินและอำนวยสินเชื่อแก่สหกรณ์ทั้งหลายที่มี อยู่ใน ประเทศไทยในขณะนั้น

หลังจากที่ได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้นแล้ว ธนาคารแห่งนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพต่อการที่จะเอื้ออำนวยสิน เชื่อให้แก่เกษตรกรได้ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการพิจารณาจัดตั้งธนาคารขึ้น ใหม่เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารเพื่อการสหกรณ์ สรุปเหตุผลที่จำเป็นจะต้องกระทำเช่นนั้นได้ดังนี้

๑. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้เงินกู้แก่ สมาชิกสหกรณ์เท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรที่มิใช่ สมาชิกสหกรณ์อีกเป็นจำนวนมากที่มีความต้องการเงินกู้ ซึ่งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะให้กู้ได้
๒. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้เงินกู้ส่วนใหญ่เพื่อระยะยาวและปานกลาง แต่เกษตรกรมีความต้องการเงินกู้เพื่อผลิตผลในระยะสั้นเป็นอันมาก
๓. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์มิได้ทำหน้าที่ในการพิจารณาคำขอกู้เงิน งานส่วนใหญ่ของธนาคารนี้ก็คือ เก็บรักษาเงิน ให้ความสะดวกในการเบิกจ่ายเงิน และเก็บรักษาสมุดบัญชีอันเป็นงานประจำเท่านั้น ธนาคารนี้มิได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ยืมเงินอย่างแท้จริง
๔. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์มิได้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและกำกับดูแลการให้สินเชื่อ (Super-vised credit) และยังไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้ได้
๕. การดำเนินงานและองค์การของธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ยังไม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ จึงเป็นเหตุให้กำลังเงินของธนาคารไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยให้เป็นสถาบันระดับชาติทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรอย่างกว้าง ขวางทั้งในด้านของเกษตรกรโดยตรงและสถาบันเกษตรกร

ขอขอบคุณ...คุณธวัช พิทาคำ <homdoy_aa@hotmail.com> ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๐

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตเลขา ถึงราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ให้แสวงหาเครื่องทำเงินตรา (เหรียญกษาปณ์)

๓ พฤศจิกายน ๒๓๔๖

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา เป็นพระอนุชาธิราชของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สิ้นพระชนม์ด้วยโรคนิ่ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระองค์ได้ทรงทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่อริราชศัตรู สงครามครั้งที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ คือสงครามเก้าทัพ ณ ตำบลลาดหญ้า แขวงกาญจนบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงสามารถยับยั้งข้าศึกไว้ได้ โดยใช้ทหารเพียงสามหมื่นสกัดกั้น กำลังของข้าศึกที่มีถึงเก้าหมื่น

๓ พฤศจิกายน ๒๔๒๘

พ.อ.เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิมแสงชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารม้า เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายเหนือ (ซึ่งต่อมาคือ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการทหารบกคนแรก) ไปปราบพวกฮ่อในแคว้นหัวพันห้าทั้งหก ได้ใช้เมืองซ่อนเป็นฐานปฏิบัติการ ซึ่งในการยกทัพไปครั้งนี้ พระวิภาคภูวดล (เจ้ากรมแผนที่คนแรก) ได้เขียนแผนที่แสดงพระราชอาณาเขตของไทย ทางภาคเหนือจนถึงแคว้นสิบสองจุไทย และได้มอบแผนที่ให้ พันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ เพื่อเป็นหลักฐานกรณีโต้แย้งกับฝรั่งเศส

๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๓

กองทัพเรือได้ทูลเกล้า ถวายเครื่องแบบจอมพลเรือ แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว ณ. พระที่นั่ง จักรีมหาปราสาท

๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

ประเทศไทยได้เสนอไปยังนานาประเทศ ขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี การค้าขาย และการเดินเรือใหม่ โดยถือหลักความมีสัมพันธไมตรีความเสมอภาค การถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ หลักความเป็นธรรม และหลักผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

๖ พฤศจิกายน ๒๓๑๐

ทำลายค่ายโพธิ์สามต้น สุกี้แม่ทัพใหญ่ตาย อยุธยากลับมาเป็นของไทย ภายหลังเสียไป ๗ เดือน

๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓

กองทหารไทยรุ่นแรก เดินทางไปถึงประเทศเกาหลี เพื่อร่วมเป็นกองกำลังของฝ่าย โลกเสรีในสงครามเกาหลี อันเนื่องจากเกาหลีเหนือ ยกกำลังเข้ารุกรานเกาหลีใต้

๘ พฤศจิกายน วันผังเมืองโลก

๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๖

วันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๗๖ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม พร้อมกับดำรงพระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงขึ้นครองราชสมบัติ สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ นับเป็นรัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระองค์ได้พระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นฉบับแรก เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ครั้นต่อมาปรากฎว่า ได้เกิดความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันระหว่างพระองค์ กับรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร จึงทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ และเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ เสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยพิการ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ สิริรวมพระชนมายุ ๔๘ พรรษา ในปี ๒๕๓๖ เป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ของพระองค์

๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๑

เครื่องบินจากสายการบินฮอลันดา ซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เปิดสายการบินจากยุโรปสู่เอเซีย ได้มาลงที่ดอนเมือง เพื่อเดินทางไปปัตตาเวียในชวาต่อไป

๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๔

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้รวมกระทรวงทหารเรือ เข้ากับกระทรวงกลาโหม เพราะมีหน้าที่เตรียมการป้องกันพระราชอาณาจักร และลดฐานะกระทรวงทหารเรือเป็น กรมทหารเรือ

๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๙

ตั้งค่ายพระปกเกล้า ฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๕ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ตั้งค่ายประเสริฐสงคราม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ จังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด และกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๖ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๑

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่กองพันทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ เพื่อจัดส่งไปให้หน่วยทหารไทย ที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑

๑๐ พฤศจิกายน วันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา

๑๑ พฤศจิกายน วันระลึกทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ ๑, วันราชวัลลภ, วันคนพิการแห่งชาติ

วันระลึกทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ ๑

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ วันที่ระลึกทหารอาสา เป็นวันสงบศึกสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ระหว่างกลุ่มมหาอำนาจ ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย และตรุกี ฝ่ายหนึ่งกับกลุ่มประเทศพันธมิตรรวม ๒๕ ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และไทย เป็นต้น อีกฝ่ายหนึ่ง

วันราชวัลลภ

วันคนพิการแห่งชาติ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๐๒

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชสาส์น ถึงพระราชาธิบดีเดนมาร์ค มีใจความว่า ขอเจริญทางพระราชไมตรี มายังสมเด็จพระเจ้าเฝรเดอริก ที่ ๗ และเรื่องการค้าขาย

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๑๖

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเถลิงราชสมบัติ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก แต่เนื่องจากพระองค์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑

วันพระราชพิธี วางศิลาฤกษ์พระที่นั่งอนันตสมาคม

๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๑๐

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เรือพระที่นั่งอรรคเรศรัตนาสน์ ออกไปรับผู้ว่าราชการเมืองมาเก๊า ซึ่งได้เชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการของกษัตริย์โปรตุเกสมาถวาย จากสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายังกรุงเทพ ฯ

๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้มีอำนาจสิทธิขาด บังคับบัญชาแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ และแต่งตั้งข้าราชการได้ตามที่ท่านเห็นสมควร

ประวัติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ ๓

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดิมชื่อ แปลก ขีตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นบุตรนายขีด และนางสำอางค์ ขีตตะสังคะ ภริยาคือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (เดิมนามสกุล “พันธุ์กระวี”)

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เข้าศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนกลาโหมอุทิศ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี จากนั้นได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก กระทั่งสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ขณะอายุ ๑๙ ปี โดยได้รับยศร้อยตรี และเข้าประจำการที่กองพลที่ ๗ จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นไม่นานได้สอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการได้เป็นที่ ๑ และเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และกลับมารับราชการต่อไป กระทั่งได้ยศพันตรี มีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ที่ “หลวงพิบูลสงคราม”

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พันตรี หลวงพิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร ในเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้เป็นกำลังสำคัญในสายทหาร และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก

ครั้นเมื่อ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นจอมพล แปลก พิบูลสงคราม (โดยได้ยกเลิกราชทินนามแบบเก่า)

ชีวิตและบทบาทในทางการเมือง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีชื่อจริงว่า แปลก เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีหูทั้งสองข้างอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงถูกตั้งชื่อว่า แปลก นับตั้งแต่เกิด เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเรียกชื่อตัวเองเช่นนั้น จึงใช้เป็นตัวอักษรย่อเป็น ป. นับตั้งแต่นั้น

จอมพล ป. เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยเป็นนายทหารรุ่นน้อง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ๒ ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก มีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา

นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครอง อุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” รัฐบาลจอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักด์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ และเปลี่ยนวันขึ้น ปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันที่ ๑ มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ทำให้ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีเพียง ๙ เดือน มีการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมใหม่ โดยจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่าง ๆ และสั่งห้ามประชาชนเลิกกินหมากโดยเด็จขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า “มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ” หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า “สวัสดี” ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกันจึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ เป็นต้น

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทยจึงเริ่มขึ้น ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาล จอมพล ป. ส่งทหารไทยเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร แต่ในที่สุดญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนาม อนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว (Tokyu Convention) เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กลับคืนมาด้วย และในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ ๑ ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕

จอมพล ป. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มองค์กรและหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศหลายองค์กร ที่พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่มีความเฉพาะของแต่ละวิชาชีพ เช่น รัฐวิสาหกิจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งเป็นผู้ที่ใช้อำนาจยึดสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และที่อยู่ของบุคคลสำคัญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น วังบางขุนพรหม, บ้านมนังคศิลา, บ้านพิษณุโลก, บ้านนรสิงห์ เป็นต้น

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้หลายประการ โดยเป็นจอมพลคนแรกของประเทศไทยอีกด้วย เมื่อขอพระราชทานยศให้กับตนเอง ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า เพราะท่านต้องการทำสงครามจิตวิทยากับทางกองทัพญี่ปุ่น และเมื่อหลังสงครามโลกแล้ว ท่านต้องติดคุกในฐานะอาชญากรสงคราม และยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด โดยกลับไปอยู่บ้านที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยทำไร่ถั่วฝักยาว แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านก็ได้หวนกลับมาคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ ซึ่งคราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง ๙ ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับฉายาว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก” เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง ๓ ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง แม้กระทั่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ที่ท่านถูกจี้ลงเรือศรีอยุธยา ถูกทิ้งระเบิดผ่านเตียงที่ท่านเคยนอนอยู่อย่างเฉียดฉิว ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับร้อย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน คือ ในเย็นวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อถูกพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง ๒ คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญีปุ่น เพราะเป็นผู้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่กรรม

๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๐

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแวะเยี่ยมเมืองตราด เมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ และเสด็จเมืองจันทบุรีเมื่อ ๑๕๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ เพื่อเป็นการปลอบขวัญชาวเมือง เนื่องจากดินแดนส่วนนี้ได้กลับมาเป็นของไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปจากเมืองตราด เมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๔๕๐

๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๑

พระราชพิธีประดิษฐานและสมโภชพระบรมรูปทรงม้า ๓ วัน (๑๑-๑๓ พ.ย. ๒๔๕๑)

๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

มีการลงนามในสนธิสัญญาเสมอภาค ระหว่างไทย กับสหรัฐ ฯ ในเรื่องการจัดเก็บภาษีอากรและทางศาล

๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งพลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแม่ทัพบก พลเรือตรี หลวงสินธุ์สงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นแม่ทัพเรือ นาวาอากาศเอก หลวงอธึกเทวเดช รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นแม่ทัพอากาศ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน

๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๕

รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติป้องกัน การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มมีบทบาทเด่นชัดขึ้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง

๑๔ พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก, วันพระบิดาแห่งฝนหลวง, วันคุณภาพโลก

วันเบาหวานโลก สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) และองค์การอนามัยโลก ( World Health Organization หรือ WHO ) ได้ร่วมกันประกาศวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ครั้งแรก ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๔ เพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจของประชากรในทุกส่วนของโลก เป็นความพยายามที่รวมพลังกันทั่วโลก เพื่อต่อต้านโรคเบาหวาน เป้าหมายของกิจกรรมในวันนี้ก็เพื่อส่งเสริมการวิจัยและการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานทั่วโลก โดยให้เพิ่มความระวังอันเนื่องมาจากความร้ายแรงของโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้น วันเบาหวานโลกไม่ใช่เป็นวันที่มีกิจกรรมในการรณรงค์เรื่องเบาหวานเพียงวันเดียว บทบาทของกิจกรรมนี้จะต้องขยายไปหลายๆ เดือนหลายๆประเทศในทุกภูมิภาคของโลก เพื่อให้ทั่วโลกได้ตื่นตัวระวังอยู่ตลอดไป

โดยต่อมาองค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติได้กำหนดให้วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน เป็นวันเบาหวานโลก เพื่อเป็นเกียรติแก่นายแพทย์ เฟรดเดอริค แบยติ้ง ผู้ค้นพบอินสุลินสำหรับรักษาโรคเบาหวาน นายแพทย์ท่านนี้เกิดเมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๓๔

กิจกรรม รณรงค์เรื่องเบาหวาน โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีบทความ เรื่องที่พิมพ์เผยแพร่ความรู้ เพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ละเป้าหมายของวันเบาหวานโลก

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

-ตั้งค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ ๑๑ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

-ค่ายอภัยบริรักษ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันที่ ๕ กรมทหารราบที่ ๑๕ กองพันทหารช่างที่ ๔๐๒ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเปิด “การประปากรุงเทพฯ” อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนั้นสังกัดกรมช่างสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ เริ่มมีน้ำประปาใช้กันเป็นครั้งแรก ต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการประปานครหลวง ให้โอนกิจการประปากรุงเทพ กรมโยธาเทศบาล การประปานนทบุรี การประปาเทศบาลนครธนบุรี และประปาเทศบาลสมุทรปราการ รวมเป็นกิจการเดียวกันเรียกว่า “การประปานครหลวง” เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๐ ปัจจุบันการประปานครหลวงนำน้ำดิบมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลองมาผ่านกรรมวิธี ผ่านขั้นตอนการตกตะกอน การกรอง การฆ่าเชื้อโรค และการตรวจสอบคุณภาพ ได้มาตรฐานที่กำหนดตามมาตรฐาน องค์การอนามัยโลก ก่อนจะส่งไปตามเส้นท่อให้ใช้ตามบ้าน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้การรับรองว่าน้ำประปาในพื้นที่บริการของการประปานครหลวงทุกเขตสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ และประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๒

๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๑๖

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง เมื่อพระองค์ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว และทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เป็นเวลา ๒ สัปดาห์ นับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาด ในการบริหารราชการแผ่นดิน

๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๗

การประปาเริ่มบริการน้ำใช้ในกรุงเทพ ฯ เป็นวันแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๑๖ พฤศจิกายน วันสากลแห่งขันติธรรม, วันพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติโลก

๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๖

กองทัพบกได้จัดทำ คทาจอมพลขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธี ทวีธาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นับเป็นครั้งแรกที่มีคทาจอมพลขึ้นในประเทศไทย

พระราชพิธีทวีธาภิเษก เป็นพระพิธีการสมโภช ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชสมบัติยืนนาน มาเป็น ๒ เท่า ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

ตั้งค่ายศรีสองรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันที่ ๑ และกองพันที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๘ จังหวัดทหารบกอุดร ( ส่วนแยกที่ ๓ จังหวัดเลย ) อยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

๑๗ พฤศจิกายน วันสันติภาพโลก

๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๔

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีถวายบังคมและสัการะพระบรมรูปทรงม้า เป็นปีแรก

๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๙

ฝรั่งเศสกับไทย ได้ลงนามในความตกลงระงับกรณีพิพาทต่อกัน มีสาระที่สำคัญ คือ ไทยต้องคืนดินแดน ๔ จังหวัดให้แก่ฝรั่งเศส คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จำปาศักดิ์ และลานช้าง

๑๙ พฤศจิกายน วันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก

วันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก(วันพุธที่ ๓ ของเดือนพฤศจิกายน) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

(Chronic Obstructive Pulmonary Disease, COPD) เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย มีผลต่อคุณภาพชีวิต และเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของโลกปัญหาหนึ่ง มีผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ ๖๐๐ ล้านคน ระยะแรกมักจะไม่ทราบจากการสังเกต แต่บอกได้ว่าใครเสี่ยงต่อโรคนี้บ้าง การรักษาโดยเร็วจะป้องกันการเสื่อมสภาพของปอด

กลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคปอดอุดกันเรื้อรังได้กำหนดวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ และมีการรณรงค์ทุกปีในวันพุธที่ ๓ ของเดือน

พฤศจิกายนเพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยและผู้ให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคระบบหายใจ เพื่อสร้างความตระหนักของคนทั่วไปในความสำคัญเกี่ยวกับโรคนี้

วันสำคัญนี้จะทำให้คนทั่วไปทราบอาการของโรค หากมีอาการให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม รณรงค์การปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ลดการป่วยและการตายจากโรคนี้

๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๓๐

พลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกกองทัพออกจากกรุงเทพ ฯ ไปปราบพวกฮ่อเป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย

๒๐ พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ, วันสิทธิเด็กสากล, วันเด็กสากล

๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๙

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ ที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี กองทัพเรือได้ถือวันนี้ เป็นวันกองทัพเรือ (navy day) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖

๒๑ พฤศจิกายน วันโทรทัศน์โลก

๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๗

รถรางเปลี่ยนจากใช้ม้าลากมาเป็นใช้ไฟฟ้า และโอนกิจการให้แก่รัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๓ เลิก ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑

๒๓ พฤศจิกายน ๒๓๕๓

วันที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพยกไปปราบเขมร-ญวน ให้สิ้นเสี้ยนหนาม ศึกครั้งนี้ใช้เวลา ๑๕ ปี

๒๓ พฤศจิกายน ๒๓๗๐

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ทรงสถาปนาคุณหญิงโม เป็นท้าวสุรนารี

๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส เครื่องบินฝรั่งเศสจำนวน ๘ เครื่อง บินล้ำเขตแดนไทยทางด้านนครพนม ฝ่ายไทยส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสะกัดกั้น

๒๕ พฤศจิกายน –

วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า, วันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, วันประถมศึกษาแห่งชาติ, วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง /วันต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี (International Day for the Elimination of Violence Against Women)

วันประถมศึกษาแห่งชาติ

การศึกษาเป็นหนทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า มีคุณประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติ ดังนั้นทุกประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการศึกษาและพยายามส่งเสริมสนับสนุนเสมอมา

ประวัติความเป็นมาของวันประถมศึกษาแห่งชาติ

แต่เดิมการประถมศึกษาของไทยอาศัยบ้าน วัด วัง เป็นสถานศึกษา มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มวางรากฐานการประถมศึกษาของไทยขึ้น โดยได้จัดตั้งโรงเรียนแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2414 และขยายการศึกษาต่อไปตามหัวเมืองต่างๆ

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงรับภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสืบเนื่องจากพระราชบิดา ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างในปี พ.ศ. 2453 ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงให้จัดสร้างโรงเรียนเพาะช่างขึ้นในปี พ.ศ. 2456 ทรงจัดตั้งโรงเรียนเบญจมราชาลัยเพื่อฝึกหัดครูในปี พ.ศ. 2456 ทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นประถมในปี พ.ศ.2460 ทรงตั้งโรงเรียนพาณิชยการเมื่อ พ.ศ. 2465

ในปี พ.ศ.2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อบังคับให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือ จึงทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาออกบังคับเป็นเขตๆ ไปเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับขึ้นครั้งแรก โดยบังคับโดยบังคับให้เด็กที่มีอายุ 7 - 14 ปีบริบูรณ์ เล่าเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ยังทรงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นตามท้องที่ในอำเภอ ตำบลต่างๆ กัน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล

การประถมศึกษาของไทยได้เจริญรุดหน้าไปตามลำดับ ในปี พ.ศ.2509 ได้มีการโอนโรงเรียนประชาบาลนอกเขตเทศบาลทั้งหมดให้แก่องค์การ บริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจในท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการศึกษา และในปี พ.ศ.2523 มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษากระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาของไทยจึงเจริญรุดหน้าทัดเทียมกับบรรดา นานาอารยประเทศโดยเฉพาะในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นพระองค์ โปรดให้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นแทนการสร้างวัด จึงมีโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์หลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ, โรงเรียนราชวิทยาลัย, โรงเรียนพระนครหลวง, โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ เป็นต้น

เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พิจารณาจัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี โดยถือเอาวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ (ปัจจุบันมีหลักฐานว่า สวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ยังถือวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ)

การศึกษาในระบบโรงเรียนของไทย

การศึกษาในระบบโรงเรียนมีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2427 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดมหรรณพาราม

ต่อมาในปี พ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น ซึ่งมีผลให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2464

ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้ วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันประถมศึกษาแห่งชาติ" และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2491-2509

การจัดงาน "วันประถมศึกษาแห่งชาติ"

การจัดงาน"วันประถมศึกษาแห่งชาติ" ได้เริ่มมีขึ้นใหม่ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งเป็นวันคล้าย[วันสวรรคต]ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่ได้มีการจัดงานในวันนี้ เนื่องจาก

1. พระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาอย่างดียิ่งและทรงเป็นผู้พระราชทานพระราชบัญญัติประถมศึกษา ฉบับพ.ศ.2464 เป็นฉบับแรก

2. วันดังกล่าวเป็นวันที่มีงานเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ 2 งาน คือ งานวันมหาวชิรานุสรณ์ และงานวันถวายราชดุดีลูกเสือ

ดังนั้น วันประถมศึกษาแห่งชาติ จึงได้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ตั้งแต่ 25 พฤศจิกายน 2523 เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์ในการจัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ

1. เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานการศึกษาของไทย

2. เพื่อเผยแพร่งานการประถมศึกษาทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ

3. เพื่อแนะนำและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจในด้านการบริหารและการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา

4. เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษา

5. เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

6. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประถมศึกษา

7. เพื่อปลูกฝังและกระตุ้นความร่วมมือ ร่วมใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมใน

การจัดการประถมศึกษา

ในวันงานได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านต่างๆ เช่นกิจกรรมเสริมความรู้ความสามารถของนักเรียน การจัดนิทรรศการทางวิชาการ การให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการประถมศึกษา ตลอดจนประวัติและวิวัฒนาการของการประถมศึกษา เป็นต้น เพื่อระลึกถึงวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมาหากรุณาธิคุณอย่างมากมายต่อประชาชนชาวไทย ทรงมุ่งมั่นพัฒนาชาติให้มีความเจริญทัดเทียมกับนานา อารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม นอกจากนี้ทรงก่อตั้งกองการลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ รวมถึงสร้างเมือง "ดุสิตธานี" เพื่อวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนชาวไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาธีรราชเจ้า"

ในปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประ ชาชาติ (UNESCO) ว่าทรงเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันประถมศึกษาแห่งชาติ

1. จัดนิทรรศการต่างๆ เผยแพร่พระเกียรติประวัติขององค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อวงการศึกษาไทย

2. เผยแพร่กิจการ แสดงประวัติความก้าวหน้าของการประถมศึกษาแห่งชาติ และการศึกษาไทย

3. จัดนิทรรศการ การประชุม สัมมนาต่างๆ ที่ส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับการเรียนการสอน

๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๓

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระราชชนนี คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง

๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ ๔๕ พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ออกพระราชบัญญัติประถมศึกษา พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักประพันธ์ และนักปราชญ์อีกด้วย จึงทรงได้รับถวายสมญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในวันนี้ของทุกปี ส่วนราชการและประชาชนจะนำพวงมาลาไปถวายบังคม พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่หน้าสวนลุมพินี

๒๕ พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

รวมพลังสังคม รณรงค์หนึ่งเสียง หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง

ผู้หญิง ถือเป็นเพศที่อ่อนแอ ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า??? ที่ทำให้ “ผู้หญิง” อย่างเราๆ มักถูกล่อลวงหรือล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำรุนแรงอย่างหนึ่ง รวมทั้งการปล่อยคลิปฉาวที่ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นเรื่องฮิตของดารา นักร้อง ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเพิกเฉยจากผู้พบเห็น เพราะเข้าใจว่า นั่นเป็นปัญหาภายในครอบครัว ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว!!

แต่ที่น่าตกใจ!! คือเหยื่อที่ถูกกระทำส่วนใหญ่ ไม่ได้ดำเนินการเอาเรื่องกับผู้กระทำผิด ซึ่งเหตุผลอาจมีมากมายไม่ว่าจะหวาดกลัวการถูกทำร้ายซ้ำ เกรงสังคมจะตราหน้าให้อับอาย กลัวพ่อแม่ดุด่า เป็นต้น

เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทุกวันที่ ๒๕ พ.ย.ของทุกปี องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” ขึ้น ด้วยเหตุนี้ หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเฟม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มูลนิธิเพื่อนหญิง ตลอดจนเครือข่ายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงได้รวมพลัง สร้างค่านิยม “ไม่เพิกเฉย” ต่อความรุนแรง พร้อมดำเนินโครงการรณรงค์ “หนึ่งเสียง หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง” โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง (UNIFEM) ในโครงการ Say NO to Violence Against Women

ซึ่งหากจะพูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงจริงๆ แล้วนั้น หมายถึง “การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว”

โดยรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในสังคมบ้านเรานั้นมีหลากหลายรูปแบบ ล้วนแต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิง ซึ่งความหลากหลายความรุนแรงต่อผู้หญิง...ที่สังคมไม่ควรควรมองข้าม แบ่งเป็น

ความรุนแรงทางเพศ หลายคนนึกถึงแต่การถูกข่มขืน ซึ่งจริงๆแล้ว มีตั้งแต่การแทะโลมด้วยสายตา และวาจา การอนาจาร ลวนลาม คุกคามทางเพศ การข่มขืน (รวมถึงการข่มขืนภรรยา) รุมโทรม การข่มขืนฆ่า ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ

ความรุนแรงในครอบครัว ล่วงละเมิด บังคับ ขู่เข็ญ ทำร้าย โดยบุคคลในครอบครัว อาจจะใช้กำลังทุบตีภรรยา ไม่รับผิดชอบครอบครัว นอกใจภรรยา ขายลูกสาว ด่าทอ ดูถูกเหยีดหยาม การปิดกั้นทางสังคมไม่ให้ติดต่อเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือสังคมภายนอก เป็นต้น

การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชายหรือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครองได้

การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อเอดส์จากสามี หรือจากการถูกละเมิดทางเพศ

การนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นวัตถุที่สามารถ ดึงดูดได้ในสื่อลามกต่างๆ การโฆษณาสินค้า รวมทั้งการแอบถ่ายคลิปฉาวต่างๆ

และการล่อลวงมาบังคับค้าประเวณี หรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส

โดยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ให้ข้อมูลว่า จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ๒๙๗ แห่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มีเด็ก สตรีและผู้สูงอายุที่ถูกกระทำทารุณเข้ารับบริการถึง ๑๙,๐๖๘ ราย เป็นผู้หญิงอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๘,๑๗๒ ราย และสถิติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยพบความรุนแรงที่เกิดต่อผู้หญิง เป็นการกระทำของใกล้ชิด แฟน และสามี มากกว่าคนไม่รู้จักกันหรือคนแปลกหน้าซึ่งมีจำนวนน้อยมาก

ในส่วนของมูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงเฉลี่ยปีละ ๑,๕๐๐ รายและพบว่าปี ๒๕๕๑ น่าจะเพิ่มถึง ๑,๖๐๐ ราย โดย ๘๐% เป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวและ ๒๐% เป็นคดีข่มขืนและภัยทางเพศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรเป็นปัญที่ต้องรีบเร่งดำเนิการแก้ไขโดยด่วน

นอกจากนี้ยังพบว่า จากสถิติของกองวิจัยและวางแผนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายน– กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ พบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มีการแจ้งความดำเนินคดีการทำร้ายร่างกาย และข่มขืนกระทำชำเราสูงถึง ๑๘,๑๙๑ ราย และ ๔,๓๕๙ ราย ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจ และรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่าหลายกรณีของความรุนแรงต่อผู้หญิงมีปัจจัยกระตุ้นก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และการพนัน

ด้านการสำรวจขององค์การอนามัยโลก พบว่าผู้หญิงร้อยละ ๑๐-๕๐ มีประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่ถูกสามีหรือคู่รักของตนทำร้ายร่างกาย และผู้หญิงประมาณร้อยละ ๑๒-๒๕ เคยถูกสามีหรือคู่รักพยายามขืนใจหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ที่สำคัญ คือ ความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับจากคู่หรือสามีหรือผู้ชายอื่น เป็นสาเหตุสำคัญ ๑ ใน ๑๐ ของสาเหตุการตายของผู้หญิงอายุระหว่าง ๑๕-๔๔ ปี”

จากข้อมูลเบื้องต้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบจากคู่ของตนนั้นเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและเป็นประเด็นที่แสดงถึงการผู้หญิงถูกคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัย

นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ และนี่!! คงจะถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการหยุดเพิกเฉย หากพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งวิธีการช่วยเหลือนั้นอาจมีหลายรูปแบบ เช่น หากพบเห็นการกระทำที่รุนแรงต่อผู้หญิงควรรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ หรืออาจเข้าไปช่วยเหลือหากทำได้

ในส่วนของครอบครัว ควรปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมว่าชายหญิงนั้นเท่าเทียมกัน ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน หยุดการทำร้ายคนในครอบครัว รวมถึงการช่วยกันสอดส่องดูแลเฝ้าระวังการป้องกันความรุนรแงที่จะเกิดขึ้นได้ภายในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญช่วยกันสร้างชุมชมที่ปลอดจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาความรุนแรงต่างๆ

และที่สำคัญทุกคนสามารถร่วมลงชื่อเพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุน ให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และร่วมรณรงค์ให้วาระนี้ เป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมโลกได้ที่ www.novaw.or.th โดยกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเฟม (UNIFEM) จะมอบรายชื่อของทุกคน ที่ร่วมลงนาม ให้กับ นาย บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของคนไทย ในการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีต่อไป

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข โดยเริ่มจากจุดเล็กๆของสังคม อย่างเราๆ แล้ววันนี้คุณพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเสียง เพื่อหยุดความรุนแรง ต่อผู้หญิง...แล้วหรือยัง!!!

เรื่องโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th

หนึ่งเสียงของท่านช่วยยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

ปัจจุบัน ๑ ใน ๓ ของเด็กและสตรี ถูกทำทารุณกรรม โดยการทุบตี ล่อลวงหรือล่วงละเมิด ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

ยิ่งไปกว่านี้ เหยื่อผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ มักไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ทั้งนี้เนื่องจากหวาดกลัวการถูกซ้ำเติม และเกรงสังคมจะตราหน้าให้อับอาย

จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมลงชื่อเพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุน ให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และร่วมรณรงค์ให้วาระนี้ เป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมโลก

ซึ่งในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสากลแห่งการยุติความรุนแรงต่อสตรี กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเฟม (UNIFEM) จะมอบรายชื่อของทุกท่าน ที่ร่วมลงนาม ให้กับ นาย บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันเป็นการแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของคนไทย ในการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี

” หนึ่งเสียงของท่าน ช่วยยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง “

“สิ่งเล็ก ๆ ที่เราช่วยกันทำในวันนี้ จะช่วยชีวิตเด็กผู้หญิงและผู้หญิงได้อีกเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ที่เราทำได้ที่หน้าจอ เดี๋ยวนี้…”

นี่เป็นข้อความส่วนหนึ่งจากการรณรงค์ตามโครงการ “Say NO to Violence against Women” โดยกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเฟม) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการ “ต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิง-ต่อผู้หญิง”

และที่สำคัญ เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงรับเป็นองค์ “ทูตสันถวไมตรี” ให้กับ กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง

๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต

(พ.ศ. 2453 - 2468)

พระราชประวัติสังเขป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี เมื่อ พ.ศ. 2431 ต่อมาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าชายวชิรุณหิศ ซึ่งได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาท เสด็จสวรรคตพระองค์จึงได้รับสถาปนาตำแหน่งรัชทายาทแทนในปี พ.ศ. 2453 และได้เสด็จเสวยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2453 ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 31 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 16 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2468 พระชนมายุได้ 46 พรรษา

พระองค์เสด็จไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2436 ซี่งขณะนั้นพระชันษาได้ 14 พรรษา ได้เข้าศึกษาวิชาพลเรือนในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ในประเทศอังกฤษ และวิชาทหารที่โรงเรียนแซนด์เฮอร์สต์รวม 9 ปี เมื่อเสด็จกลับมาสู่ประเทศไทย ได้รับราชการฝ่ายทหารเป็นนายพลเอก ตำแหน่งจเรทหารบก และทรงบัญชาการทหารมหาดเล็ก และในคราวที่สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง พระองค์ได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เชี่ยวชาญในวิชาอักษรศาสตร์ทั้งฝ่ายอักษรไทยและอักษรต่างประเทศทรงเป็นจินตกวีเอก ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้เป็นจำนวนกว่า 200 เรื่อง เป็นบทประพันธ์ทุกชนิด มีทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน บทละครพูด บทละครร้อง บทละครรำ ฯลฯ นับว่าไม่เคยมีพระมหากษัตริย์องค์ใดในประเทศใดได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากถึงเพียงนี้ พระองค์จึงมีสมญานามอีกอย่างหนึ่งว่า “ พระมหาธีรราชเจ้า”

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

พ.ศ. 2453 - ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย)

- ยกฐานะโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

- ตั้งกองเสือป่า

พ.ศ. 2454 - ตั้งกองลูกเสือ

พ.ศ. 2455

- จัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมใหม่ แยกฝ่ายธุรการและฝ่ายตุลาการออกจากกัน

- ตั้งสถานเสาวภา

- ตั้งวชิรพยาบาล

- จัดให้มีงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งแรก

พ.ศ. 2456

- ตราพระราชบัญญัติ คลังออมสิน

- จัดตั้งกรมสหกรณ์

- เปิดกิจการวิทยุโทรเลข

- เปิดการไฟฟ้าหลวง

- ประกาศใช้พ.ศ.( พ.ศ. ) เป็นศักราชในราชการ

- ตราพระราชบัญญัตินามสกุล

พ.ศ. 2457

- ตั้งกองบินขึ้นในกองทัพบก เริ่มสร้างสนามบินดอนเมือง

- เปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

- ตั้งโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาดไทย

- ตั้งเนติบัณฑิตยสถาน

พ.ศ. 2459

- เลิกหวย ก.ข.

- ทดลองจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรก

- ตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2460

- ประกาศสงครามกับเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ 1

- เปลี่ยนธงชาติ จากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์

- ตั้งกรมมหาวิทยาลัย

- เลิกกาพนันบ่อนเบี้ย

- เปิดสถานีหัวลำโพง

- เปลี่ยนแปลงการนับเวลาให้สอดคล้องกับสากล

- แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร

- กำหนดคำนำนามสตรี

พ.ศ. 2461

- ตั้งดุสิตธานี ทดลองการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย

- ตราธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล

- ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับแรก

- ตั้งกรมสาธารณสุข

- ส่งทหารไปร่วมรบในยุโรป

- รถไฟหลวงสายใต้เปิดเดินได้ถึงปาดังเบซาร์

พ.ศ. 2462 - วางระเบียบการเรียกเก็บเงินรัชชูปการ

พ.ศ. 2463

- แก้ไขสนธิสัญญาใหม่กับสหรัฐอเมริกาสำเร็จเป็นประเทศแรก

- เปิดการขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศระหว่าง กรุงเทพ - นครราชสีมา

- สตรีในพระราชสำนัก เริ่มนุ่งซิ่นไว้ผมยาว

พ.ศ. 2464

- ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรก

- กำหนดคำนำนามเด็กเป็นเด็กชาย เด็กหญิง

- รถไฟหลวงสายเหนือ เปิดเดินได้ถึงเชียงใหม่

- สภากาชาดไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตสภากาชาด

พ.ศ. 2465

- ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมืองชั่วคราว

- เปิดสถานเสาวภา

- เริ่มสร้างสะพานพระรามหก

พ.ศ. 2466

- ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง พาณิชย์ ครั้งแรก

- ตั้งสถานีอนามัย

- เปิดสายการบิน นครราชสีมา - ร้อยเอ็ด - อุดร - หนองคาย

- แก้สนธิสัญญาใหม่กับญี่ปุ่นสำเร็จเป็นประเทศที่สอง

พ.ศ. 2467

- ส่งคณะทูตพิเศษไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติ

- ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

พ.ศ. 2468 - เสด็จสวรรคตเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2468

จากหนังสือ “วันจักรี” ๖ เมษายน ๒๕๒๖ จัดทำโดย กองทัพบก ผมขออนุญาต นำมาเผยแพร่ให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย เพื่อเทิดพระเกียรติ “ราชวงศ์จักรี” ขอขอบพระคุณ

๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ขึ้นเสวยราชสมบัติ

๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย ทิ้งระเบิดบริเวณ จังหวัดนครพนม เนื่องจากฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล พลตรี หลวงพิบูลสงคราม (ที่จะไม่รุกรานประเทศไทย) ขอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทย กับ อินโดจีนฝรั่งเศส โดยให้ถือแนวร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง เป็นเส้นเขตแดนไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสตามแนวสากล ตลอดจนให้ฝรั่งเศส คืนดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบางปากเซ รวมถึงดินแดนแหลมอินโดจีน ที่พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศสแล้วให้กับไทย กรณีพิพาทจึงได้เริ่มขึ้นตามบริเวณชายแดนไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส

๒๗ พฤศจิกายน วันสถาปนาการสาธารณสุข, วันสร้างสุขภาพแห่งชาติ

๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๑

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้รวมกองบัญชาการกองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล เข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงสาธารณสุข และทางราชการได้กำหนดให้วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสาธารณสุข

วันสร้างสุขภาพแห่งชาติ มีหลักฐานแสดงว่าการสุขาภิบาลเป็นรากฐานสำคัญของการสาธารณสุขของประเทศไทย สมัยพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัยคือ พ.ศ. ๑๘๐๐ มีหลักฐานแสดงว่าได้มีการดำเนินการด้านสุขาภิบาล เช่น พบแผ่นส้วม มีการขุดคู สระน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้อุปโภคและบริโภค สมันนั้นไม่ปรากฏว่ามีโรคระบาด สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยามีการวางท่อทางเดินของน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่เมืองลพบุรีนับได้ว่าเป็นการประปายุคแรกของประเทศ สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการระบาดของอหิวาตกโรค รัฐบาลได้ดำเนินการควบคุมโรคโดยขอความร่วมมือจากประชาชน ในปี ๒๔๒๔ จากกรระบาดของโรคติดต่ออันตรายทั้ง ๒ โรคหลายครั้ง รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลศิริราช และตั้งกรมพยาบาลสังกัดกระทรวงธรรมการ เพื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ทำหน้าที่บริหารงานสาธารณสุขของ

ประเทศ กรมนี้ถูกยุบในปี ๒๔๔๘ ต่อมาในปี ๒๔๕๔ กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งกรมแพทย์ขึ้น

และเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาภิบาลในปี ๒๔๕๘

๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

ตั้งหน่วยตำรวจสนามในกองทัพบกสนาม โดยมี พลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส เป็นผู้บังคับตำรวจสนาม และพันตำรวจตรี หลวงวิทิตกลชัย เป็นรองผู้บังคับตำรวจสนาม ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด ประกอบด้วย กองตำรวจสนาม ๑๓ จังหวัด

๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓๒

อินโดจีนฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบิน ๕ เครื่องมาโจมตี และทิ้งระเบิดเหนือจังหวัดนครพนม พร้อมกับใช้ปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่เมืองท่าแขก ยิงข้ามแม่น้ำมาตกหลังตลาด เครื่องบินฝ่ายไทยได้ขึ้นสกัดกั้น ขณะเดียวกัน ปตอ. บนพื้นดินยิงต่อต้านอย่างรุนแรง เครื่องบินฝรั่งเศสถูกยิงตก ๓ เครื่อง

๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

อินโดจีนฝรั่งเศสส่งทหารมาทางเรือ จะเข้ายึดจังหวัดตราด ตำรวจสนามที่คลองใหญ่ได้ต้านทานไว้ ส่วนทางด้านท่าแขก สุวรรณเขต มีการสู้รบทางอากาศ

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓

วันสถาปนากรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด (ยศ.ทหาร บก.ทหารสูงสุด) เดิมใช้ชื่อหน่วยว่า กรมการศึกษาวิจัย และกรมการศึกษา ตามลำดับ

๒๙ พฤศจิกายน เป็นวันที่ ๓๓๓ ของปี (วันที่ ๓๓๔ ในปีอธิกสุรทิน) ตามปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียน เมื่อถึงวันนี้จะยังเหลือวันอีก ๓๒ วันในปีนั้น

มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนี้

พ.ศ. ๒๓๒๐ (ค.ศ. ๑๗๗๗)–วันสถาปนาเมืองซานโฮเซ ซึ่งเป็นเมืองอาณานิคมของสเปนแห่งแรกในอัลตาแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. ๒๓๗๓ (ค.ศ. ๑๘๓๐)–การปฏิวัติพฤศจิกายน: การก่อกบฎต่อต้านการปกครองของรัสเซียในโปแลนด์เริ่มต้นขึ้น

พ.ศ. ๒๔๓๓ (ค.ศ. ๑๘๙๐) – สภานิติบัญญัติ (สภาไดเอท) ของญี่ปุ่นประชุมกันครั้งแรก หลังจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (รัฐธรรมนูญเมจิ) มีผลบังคับใช้

พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) – ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ชาวอิตาลี อายุ ๘๗ ปี เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับอิสริยาภรณ์เชิดชูคุณความดีของอังกฤษ เธอเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้บุกเบิกวิชาการพยาบาลสมัยใหม่และนักปฏิรูประบบสุขอนามัยในโรงพยาบาล ได้รับฉายาว่า สตรีผู้ถือตะเกียง

พ.ศ. ๒๔๗๒ (ค.ศ. ๑๙๒๙) – ริชาร์ด อีเวลิน ไบรด์ (Richard Evelyn Byrd) สามารถนำเครื่องบิน บินถึงขั้วโลกใต้ได้เป็นครั้งแรก โดยบินจาก Ross Ice Shelf ไปถึงขั้วโลก แล้วบินกลับ โดยใช้เวลา ๑๘ ชั่วโมง ๔๑ นาที

พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) – สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติในแผนกำหนดเขตแดนปาเลสไตน์ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับและอิสราเอล

พ.ศ. ๒๕๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๐) – สงครามเกาหลี: ทหารเกาหลีเหนือและจีนใช้กำลังกดดันกองกำลังสหประชาชาติต้องถอนตัวออกจากเกาหลีเหนือ

พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน ๙ ต้น อันเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ที่หน้าหอประชุมของมหาวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) – พิชิต ศิษย์บางพระจันทร์ ชนะน็อกยก ๓ โรดอลโฟ บลังโก นักมวยชาวโคลัมเบีย ที่ห้างอิมพีเรียล สำโรง ได้แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ทำให้ประเทศไทยได้มีแชมป์โลกอีกครั้ง หลังจากอยู่ในสภาพไม่มีแชมป์โลกราว ๒ เดือน

เป็นวันเกิดของบุคคลในประวัติศาสตร์ ดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๓๗๘ (ค.ศ. ๑๘๓๕) - พระนางซูสีไทเฮา (สิ้นพระชนม์ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑)

พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) - ฌากส์ ชีรัก อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส

พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. ๑๙๔๒) - หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย

พ.ศ. ๒๕๑๖ (ค.ศ. ๑๙๗๓) - ไรอัน กิกส์ นักฟุตบอลชาวเวลส์

พ.ศ. ๒๕๒๘ (ค.ศ. ๑๙๘๕) - จุนโนะสุเกะ ทะงุจิ ไอดอลชาวญี่ปุ่น (สมาชิกวง KAT-TUN)

๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อ กรมทหารเรือ เป็น กองทัพเรือ เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม

๓๐ พฤศจิกายน คศ.๑๘๗๔ วันเกิด เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Leonard Spencer-Churchill) นักการเมืองผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี

 

โปรดเลือก "คลิ๊ก" เพื่ออ่านเหตุการณ์ใน ๑๒ เดือน

มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน
พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม
กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม

 

นำเสนอโดย
วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่
อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 84290